กทม. 6 มิ.ย. - “อาทิตย์ อุไรรัตน์” ชี้สถานการณ์ปัจจุบันคล้ายพฤษภาทมิฬ ไม่มีความหวังให้ประเทศ ด้าน “วิทยากร เชียงกูล” แนะทางออกขยายการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วน “นพ.พลเดช” แนะปฏิรูปการเมืองใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (6มิ.ย.) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับกลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ทางเลือก ทางรอด ก่อนชาติล่มสลาย” โดยมีนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา นายวิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม นพ.พลเดช ปิ่นประทีป กลุ่มประชาธิปไตยยาตรา พล.ต.ณพล คชแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายณรงค์ โชควัฒนา ตัวแทนกลุ่มนักธุรกิจเพื่อสังคม นายชิงชัย มงคลธรรม ตัวแทนกลุ่มการเมือง ร่วมเวทีอภิปราย นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมสัมนนา พร้อมระบุว่าวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ยากที่จะหาทางออก แต่เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังเช่นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ตนเคยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และส่วนตัวเห็นว่ามีความเชื่อมโยงและมีส่วนคล้ายสถานการณ์ปัจจุบันที่กลับสู่วังวนเดิม ที่แม้จะมีการยุบพรรคเลือกตั้งใหม่ ก็ได้คนของพรรคการเมืองเก่ากลับเข้ามา ไม่มีความหวังให้ประเทศชาติ จึงต้องการให้เวทีนี้สะท้อนทางเลือก และอยากเห็นสังคมเป็นแบบธรรมาธิปไตย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ ด้านนายวิทยากร กล่าวว่า สังคมไทยเอื้อให้คนกลุ่มน้อยมีอำนาจมากเกินไป ไม่มีการกระจายอำนาจ อีกทั้งไม่มีการปฏิรูปที่แท้จริง ประชาธิปไตยไม่ใช่การทำอะไรก็ได้เพื่อเสียงส่วนใหญ่ ส่วนทางออกของประเทศไทยเห็นว่า ควรมีการขยายความรู้สู่ประชาชน จัดตั้งเวทีระดมความเห็น ตั้งสภาชุมชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม สร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพราะรูปแบบการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียวไม่พอ เนื่องจากคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย จึงต้องหาบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสังคมมาช่วยสะท้อนว่าประเทศมีปัญหาอย่างไรบ้าง นพ.พลเดช กล่าวว่า ควรมีการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ หรือรอบ 2 โดยต้องมี 3 แนวทาง ที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ คือ 1.ควรมีการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างเป็นกระบวนการ ที่ต้องทำประชาพิจารณ์และต้องดำเนินการให้เสร็จใน 2-3 ปี 2.ส่งเสริมประชาธิปไตยของประชาชนอย่างจริงจัง 3.สร้างการเรียนรู้ความเข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องความเห็นขัดแย้งทางการเมืองอย่างเดียว แต่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องเร่งหาทางแก้ไขควบคู่ไปด้วย ขณะที่นายชิงชัย มงคลธรรม กล่าวว่า ปมปัญหาของชาติไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องการเมืองที่ไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ทุกฝ่ายต้องร่วมกันนำประชาชนออกจากความขัดแย้งไปสู่ความถูกต้อง สำหรับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ส่วนตัวเห็นว่ามีอำนาจ แต่ไม่สามารถปกครองได้ ประชาชนไม่ยอมรับผู้ปกครอง ด้าน พล.ต.ณพล คชแก้ว กล่าวว่า กองทัพต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อมีวิกฤติทหารจะร่วมมือแก้ปัญหาให้ผ่านพ้น อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสังคมวันนี้เกิดความระส่ำระสาย มีการบริโภคเกินควร หาทางออกให้กับปัญหาของประเทศไม่ได้ เป็นสังคมฆ่ากันเพื่อเงิน หรือมองเงินเป็นใหญ่ ดังนั้น ถึงเวลาที่ทหารต้องถามประชาชนว่าต้องการอย่างไร และพร้อมจะปกป้องประชาชน แต่ทหารไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรัฐประหาร ทั้งนี้ หากชาติมีภัยคุกคามในรูปแบบใด กองทัพก็สามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนได้ นายณรงค์ โชควัฒนา กล่าวว่า การเมืองเป็นตัวแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่วันนี้การเมืองไทยกลับเป็นตัวปัญหา กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีคนมาลงทุนด้วยการซื้อเสียง และถอนทุนด้วยการคอร์รัปชัน ซึ่งต้นเหตุมาจากการเมืองไม่มีคุณภาพและไม่มีคุณธรรม เมื่อใดที่อำนาจตกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นเผด็จการทั้งสิ้น หากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ต้องนำประชาธิปไตยอย่างแท้จริงกลับคืนมาให้ได้ นอกจากนี้ เห็นว่าการเมืองเป็นต้นเหตุของปัญหา รัฐธรรมนูญถูกอุปโลกน์เป็นกฎหมายสูงสุด ทั้งที่ไม่เคยมีความหมาย และไม่สามารถควบคุมพรรคการเมืองที่ทำผิดได้ ดังนั้น สิ่งที่จะควบคุมนักการเมืองได้คือ ประชาชนที่มีจิตสำนึก ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังการอภิปรายได้มีการแถลงรังสิตโพลล์ “ทางเลือกของประชาชนต่อวิกฤติประเทศไทย” ที่สำรวจความเห็นของประชาชน 1,457 ตัวอย่าง ระหว่าง 3-4 มิถุนายน พบว่า ประชาชนร้อยละ 67.30 เห็นว่าประเทศไทยเกิดวิกฤติทางโครงสร้างทั้งจากวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ พลังงาน ส่วนทางออกของวิกฤติประชาชน ร้อยละ 36.50 เห็นว่าผู้ชุมนุมควรสลายการชุมนุมด้วยตัวเอง ขณะที่ร้อยละ 21.58 เห็นว่าให้รัฐบาลยุบสภา และร้อยละ 20.50 ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ส่วนกรณีที่จะให้ทหารออกมาทำปฏิวัติรัฐประหาร มีเพียง ร้อยละ 7.67 ขณะที่การให้แก้รัฐธรรมนูญโดยเร็วมีเพียง 4.83 และให้รัฐบาลสลายการชุมนุมมีเพียงร้อยละ 2.75 พร้อมกันนี้ ผลการสำรวจยังไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะสลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรง และไม่เห็นด้วยที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหาร หากรัฐบาลไม่สามารถแก้วิกฤติได้ ก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว นอกจากนี้ ผู้ร่วมสัมมนาที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ ยังได้ประกาศหลักการภายใต้กรอบปฏิญญาว่าด้วยการปฏิวัติสังคมไทย ไปสู่สังคมธรรมาธิปไตย ที่ถือเป็นแนวทางร่วมกันสำหรับประชาชน เพื่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่มีธรรมเป็นเครื่องชี้นำ โดยเน้นในส่วนของสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคของประชาชน บนพื้นฐานประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ต้องได้รับอย่างเท่าเทียม. -สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-06-06 17:12:58