ฟุตบอลยูโร 2008 ในคืนวันเสาร์และอาทิตย์ ทำให้ข้าพเจ้าเกือบลุกขึ้นมาสวัสดีวันจันทร์ กับท่านผู้อ่านไม่ไหว
นึกอิจฉาประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตย แม้จะต้องปากกัดตีนถีบสู้กับภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ก็ยังมีเวลาให้กับการสนุกสนาน อย่างเป็นมหกรรมเช่น ฟุตบอลยูโร 2008 นี้เป็นต้น
ประเทศไทยของเรา จะเอาดีทางการปกครองก็ไม่ได้ จะเอาดีทางเศรษฐกิจยิ่งแล้วใหญ่ เพราะคนไทยยังมีความสับสนกับวิถีชีวิต ไม่รู้จะเอาอย่างไรกันแน่ ในที่สุดก็เลือกการยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจพอประทังชีวิตไปก่อนวันๆหนึ่ง
อันที่จริง เดือนนี้เป็นเดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่คนไทยน่าจะให้ความสำคัญเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
แต่เหลียวซ้าย แลขวา แล้วยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวใดๆจากสถาบันการศึกษา หรือสถาบันอะไรต่างๆที่มีอยู่มากมาย ว่าจะได้มีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมส่งเสริมความรู้ สร้างสติปัญญาให้กับประชากรของชาติกันอย่างไรบ้าง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นได้สูญเสียจิตวิญญาณไปแล้ว ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จึงไม่ต้องพูดถึงกันอีก
รัฐสภา และรัฐบาลนั้นเองก็ดูเหมือนจะตกอยู่ในสภาพของนกที่บินอยู่บนฟ้า แต่ย่อมมองไม่เห็นฟ้า หรือปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ ย่อมมองไม่เห็นน้ำ
จะพึ่งพาอะไรกันได้เล่า!
ถ้าจะต้องขอบอกขอบใจใครสักกลุ่มสองกลุ่ม ในวันนี้ข้าพเจ้าต้องขอขอบใจ กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปักหลักชุมนุมกันอยู่อย่างเหนียวแน่น ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์บนถนนราชดำเนิน
แกนนำของคนกลุ่มนี้ ประกอบด้วยใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีแรงจูงใจลึกๆ ให้ต้องมาชุมนุมกันเพื่ออะไรเห็นจะไม่สำคัญ เพราะชื่อกลุ่มก็ตั้งหลอกลวงลูกค้าไว้อย่างที่รู้กันแล้วเป็นอย่างดี
ความสำคัญอยู่ที่ว่า เขามาชุมนุมทางการเมืองกันตรงกับเดือนมิถุนายน อันเป็นเดือนสำคัญ และดูเหมือนเขาจะชุมนุมกันตลอดเดือนเป็นมหกรรมเลยทีเดียว
เฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างเกรียวกราวจากหน้าข่าวและบทความของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รวมตลอดทั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ นับว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นอาหารอันโอชะของสื่อกระแสหลัก และกระแสรอง ในการที่จะได้ร่วมกันทึ้ง ร่วมกันแทะ ร่วมกันฉีกกระชากอย่างเมามัน ประหนึ่งฝูงอีแร้งลงกินซากสุนัขเน่านั่นเชียว
ข้าพเจ้าถือโอกาสยึดเอา มหกรรมการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบนสะพานมัฆวานฯ ครั้งนี้ เป็นมหกรรมรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เสียเลย เพราะถ้าหากไม่มีพวกเขา ไหนเลยจะมีมหกรรม และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นแล้ว ไหนเลยจะมีการชุมนุมแบบนี้บนถนนราชดำเนินได้
เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เราคงจะละเลยไม่พูดถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา กับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญสูงสุดของฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน ควบคู่กันมิได้
พระยาพหลฯ นั้นเป็นเชษฐบุรุษผู้สัตย์ซื่อควรแก่การเคารพนับถือได้อย่างแท้จริง แม้จะได้รับการยอมรับและยกย่องจากคณะราษฎรให้เป็นหัวหน้า ครั้นทำการยึดอำนาจสำเร็จแล้ว มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวและมีผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนั้น 70 คน ท่านก็ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง โดยบอกว่า
“ไม่มีความปรารถนาในข้อนี้มาแต่ไรๆ เลย หวังเพียงจะถางทางเพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้ง 12 ล้านเท่านั้น”
สำหรับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้นเล่า ตามประวัติบอกว่ามีความขัดแย้งกับ อำมาตยา ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยที่เอกอัครราชทูตไทยในขณะนั้นคือ พระองค์เจ้าประยูรศักดิ์ฯ ได้โทรเลขรายงานเข้ามายังกรุงเทพฯ กราบทูลพระปกเกล้าฯ ให้เรียกตัวนายปรีดี กลับประเทศไทย ในข้อหาว่า “---ปรีดีเป็นหัวหน้าชักชวนนักเรียนก่อการขัดคำสั่งทูตเป็นหัวหน้าสหบาล (Syndicate) นักเรียนไทย เป็นคนฝักใฝ่ในประชาธิปไตย เห็นจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์---”
แต่ ดร.ปรีดี ที่ราชทูตประเมินว่ามีทัศนคติอันตราย นี้เอง กลับได้ข้อสรุปตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาว่า หากเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ ทางเลือกของเขาคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเราท่านต่างก็ได้เห็นในภายหลังว่า เขาทำตามนั้นจริงๆ และคงจะไม่มีใครในปัจจุบันนี้หากว่ามีสติดี จะตำหนิการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ได้
เท่าที่ยกมานี้ เป็นเพียงเศษเล็กเศษน้อยของหน้าประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เมืองไทยเดินทางมาในทิศทางที่เรียกได้ว่า ไม่ผิด โดยมีเอกสารเปิดเผยสนับสนุนมากมายก่ายกอง
เพียงแต่ว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์เลยไม่สามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ให้ตรงกับความเป็นจริง แล้วก็เลยสะเปะสะปะหลงทิศหลงทางไปตามการปลุกระดมของคนที่ล้วนมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง
นับตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา คือนับตั้งแต่ประเทศเราได้สถาปนาระบอบการปกครองแบบใหม่ขึ้นมาแล้วคนไทยไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับสถาบันกษัตริย์ และสถาบันกษัตริย์ที่เคยง่อนแง่นอยู่ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ก็กลับมีเสถียรภาพมั่นคงแข็งแรงขึ้นในระบอบประชาธิปไตย(มีเกร็ดประวัติศาสตร์ เล่าว่าคณะเจ้ากลุ่มหนึ่งคบคิดกันที่จะโค่นราชบัลลังก์ของพระมงกุฎเกล้าฯอยู่แล้ว แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน)
ความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดจากส่วนประกอบที่แวดล้อมสถาบันอยู่ ดังที่เคยเกิดในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งก็ได้แก่เหล่า อมาตยา ที่ปรารถนาอำนาจโดยปราศจากฐานประชาชนรองรับนั่นเอง
วันนี้เหตุการณ์บ้านเมืองก็คล้ายๆวันเก่าๆที่เราเดินผ่านมาแล้ว 76 ปี ข้าพเจ้าหวังว่า ประเทศไทยจะไม่โชคร้ายถึงขนาดที่จะต้องกลับไปนับหนึ่งกันใหม่ไกลถึงเพียงนั้น เพราะวิทยาศาสตร์สังคมบอกเราว่า พระราชาธิบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้จะทรงทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร เพียงใดก็ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาอันสลับซับซ้อนของราษฎรให้สำเร็จลุล่วงได้
ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยก็คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งคณะราษฎรได้ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯสถาปนาไว้นั่นเอง
ว่าแต่ว่า พรุ่งนี้เป็นวันอังคาร สเปนเตะกับรัสเซีย คุณถือหางข้างไหนล่ะ?
วีระ มุสิกพงศ์