เมื่อคืนวันที่ 13 ส.ค. รายการความจริงวันนี้ ดำเนินรายการโดยนายวีระ มุสิกพงษ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย รวมด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 6 พรรคพลังประชาชน เป็นแขกรับเชิญ
โดยนายวีระ กล่าวถึงกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีขายทอดตลาดสินทรัพย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการลงขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้อง ปรส.เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ต้องหาดังที่กล่าวมานั้นเป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีโทษจำคุก 1- 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 - 20,000 บาท ซึ่งทางอัยการจะพิจารณาสั่งฟ้องคดีภายใน 60 วัน
นายวีระ กล่าวว่าตนขออธิบายเพิ่มเติมในประเด็นที่ส่งเรื่องไปให้อัยการเมื่อวันที่ 11 ส.ค. แล้วปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ข้อหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อให้เกิดความสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือทำการทุจริต
นายวีระ กล่าวต่อไปอีกว่ ลำดับถัดมาเป็นบริษัท ถูกฟ้องว่าสนับสนุนการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยไม่ชอบเพื่อผู้หนึ่งผู้ใด มีอัตราโทษ 2 ใน 3 ของตัวการ ส่วนคดีที่เหลือนั้นนี้เป็นหนึ่งของดีเอสไอที่ทำการสำเร็จมาก่อนแล้ว แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าเรื่องนี้เกิดมานานเป็นระยะเวลา 10 ปีคนก็ลืม เพราะคนให้ความสนใจแก่เรื่องใหม่ๆ ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะมีมูลค่าความเสียหายมาก
“พูดตามตรงว่าไม่ได้นำเอามารายละเอียดของทั้งเรื่อง เพื่ออธิบายให้เห็นว่าการกระทำความผิดที่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เราทั้ง3 คน เราได้เดินไปที่ดีเอสไอไปร้องทุกข์กล่าวโทษ กลัวว่าเรื่องนี้จะหมดอายุความ ถ้าเราไม่ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ว่าเรื่องนี้มันล่าช้าจนเกินไปอาจเกิดความเสียหายได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอไม่ได้เอาใจใส่ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องคดีที่เกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล จะดำเนินการปุ๊บปั๊บไม่ได้ จึงมาเตือนความทรงจำของท่านผู้ชมเสียหน่อย เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2540 ปีที่ไทยเราประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างฉับพลัน รัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้สั่งระงับกิจการบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ เป็นการให้หยุดกิจการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบว่าใครผิด-ใครถูก บังเอิญว่าท่านไม่สามารถอยู่ต่อได้เพราะว่าลาออกเสียก่อน”
นายวีระ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาคือรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำนายธารินทร์ นิมาเหมมินทร์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรงนี้ถือว่าได้มีการเปลี่ยนนโยบายจากการปิดชั่วคราวกลายเป็นการสั่งปิดถาวรไปเลย แต่ปรากฏว่าทั้ง 56 แห่งได้มีการกู้ยืมจากกองทุน ฉะนั้นปัญหานี้รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแล เดิมที่พลเอกชวลิตและคุณโฆษิต วางแผนไว้ว่าทั้ง 56 สถาบันต้องแยกสินทรัพย์ทั้งพวกดีและไม่ดี โดยใช้วิธีการบริหารที่แตกต่างกัน กลายเป็นว่าเมื่อประชาธิปัตย์เข้าไปบริหารนำมารวมกัน พอรวมสินทรัพย์ก็เป็นเงิน 600, 000 กว่าล้าน แล้วทางพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยคุณธานินทร์ ก็ได้ไปจ้างบริษัท เลแมน บราเดรอ์มาเป็นที่ปรึกษาว่าจะจัดการกับทรัพย์สินพวกนี้อย่างไร
“เลแมน บราเดอร์ก็ให้คำแนะนำว่าให้แบ่งสินทรัพย์เป็นกองๆ แล้วบอกให้ขายไปโดยทำการประมูลโดยวงหลักเกณฑ์ไว้สูงจนคนไทยทำการประมูลไม่ได้ แต่ก็มีบริษัทเลแมน บราเดอร์ ที่เป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเข้ามาประมูลสินทรัพย์ที่ว่า 600,000 ล้านบาทก็ประมูลไปได้ในราคา 150,000 ล้านบาท แปลว่ามูลค่าสินทรัพย์หายไป 450,000 ล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขเสียหายของรัฐโดยประมาณ ต้องถือว่าเป็นยอดความเสียหายที่สูงมาก มันมีการทุจริตอยู่ในนี้ ฉะนั้นจึงถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะปล่อยให้ผ่านเลยไปจนขาดอายุความก็ไม่ได้ ในที่สุดก็เอาความผิดกับใครไม่ได้”
นายวีระ กล่าวด้วยว่า คนที่จะเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้มีใครบ้าง ผู้รับผิดชอบทางการเมือง ยังไม่พูดในเรื่องของแง่กฏหมาย คุณชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี คุณธานินทร์ นิมมาเหมมินทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์คงจะต้องรับผิดชอบในทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะท่านได้รับทราบเรื่องนี้มาโดยตลอด
“ปัญหาอยู่ที่ว่าท่านไม่ใส่ใจป้องกันความเสียหายในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในที่สุดเกิดความเสียหาย มีคนไปร้องที่ดีเอสไอ เพราะฉะนั้นคนเหล่านั้นที่ไปร้องก็ชี้ไปถึงตัวบุคคลทั้งตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมาธิการของ ปรส.ทั้งหมด ว่าในคดีที่ได้อ่านให้ฟัง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าวิตกตรงที่ว่าเมื่อดีเอสไอทำเสร็จ แต่เมื่อคดีนี้มีคนใหญ่คนโตเข้ามาพัวพันเรื่องก็กลายว่าเงียบ”