ทางการพม่าจับเยาวชนเดินขบวนที่ต่วนคับ รัฐยะไข่ ชาวเมืองย่างกุ้ง ‘แต่งดำ’ รำลึก 20 ปี ‘8.8.88’ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลหลายเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัยไล่นักศึกษาแต่งดำ-แดงกลับบ้านไปเปลี่ยนชุด ส่วนนักศึกษารุ่น 88 ออกแถลงการณ์เรียกร้องทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง-เจรจาออง ซาน ซูจี และรายงานการรณรงค์ทั่วโลก และในประเทศไทย
นักกิจกรรมชาวพม่า และผู้สนับสนุนนานาประเทศ จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การปราบปรามประชาชนชาวพม่าที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,000 คน โดยการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกเกิดขึ้นทั้งในพม่าและหล่ายประเทศทั่วโลก
รำลึก 20 ปี 8.8.88 ที่พม่า
แต่งดำทำบุญรำลึก 8.8.88 ตรึงมหาวิทยาลัยเข้ม
เว็บไซต์นิตยสารอิระวดี ซึ่งเป็นสำนักข่าวของฝ่ายประชาธิปไตยพม่า ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย รายงานว่า ชาวเมืองย่างกุ้งสวมชุดดำเพื่อรำลึกถึง 20 ปี เหตุการณ์ต่อสู้ในปี 1988 นอกจากนี้ยังพบเห็นตำรวจและตำรวจนอกเครื่องแบบตามท้องถนนอีกด้วย
สมาชิกของพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้จัดการเดินขบวนเพื่อเป็นการรำลึกที่เมืองเยนันฉ่อง (Yenanchaung) ภูมิภาคมะเกว (Magwe Division) มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด 8 แห่งเพื่อรำลึกถึงโอกาสดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลในลักษณะนี้ที่ย่างกุ้งด้วย
“เราถวายภัตตาหารยังวัด 8 แห่ง และเพื่อระถึงเหตุการณ์ต่อสู้ครั้งสำคัญเมื่อ 20 ปีก่อน เราได้ถวายดอกกุหลาบ 8 ดอกและอุทิศส่วนกุศล มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกระบองและโล่ติดตามพวกเรามาตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม” สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีที่เป็นสตรีรายหนึ่งกล่าว
จับนักศึกษาพม่า 3 คนก่อนครบรอบ 20 ปี 8.8.88
แม้ว่าจะมีการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่นในย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ แต่ไม่มีรายงานการจับกุมใดๆ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา อยากไรก็ตามไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ได้จับกุม นายเมียว เทซา ผู้นำสหภาพแห่งสหพันธ์นักศึกษาพม่าทั้งมวล (the All Burma Federation of Students’ Unions) และเพื่อนของเขาอีก 2 คน
มีรายงานจากสำนักข่าวมิซซิมาว่า ในวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยอยู่เป็นจำนวนมากที่ย่านเจดีย์สุเหล่ ศูนย์กลางของย่างกุ้ง และที่วัดพระมหาเจดีย์ชเวดากอง
นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งรายงานว่า มีมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัย ประตูเข้าออกถูกจำกัดเหลือเพียง 2 แห่ง มีรายงานว่าพนักงานมหาวิทยาลัยได้รับการเตือนมิให้ปล่อยให้นักศึกษาจัดกิจกรรมทางเมืองใดๆ
รุ่น’88 ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมือง เจรจาซูจี
กลุ่มนักศึกษารุ่น’88 ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 8.8.88 เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้ง นางออง ซาน ซูจี ตลอดจนปล่อยตัวผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเจรจากับ นางออง ซาน ซูจี แถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าวยังปฏิเสธการเลือกตั้งในปี 2010 ที่จะจัดขึ้นภายใต้ระบอบทหารอีกด้วย
จับเยาวชนเดินขบวนที่ต่วนคับ รัฐยะไข่
ขณะที่เมืองต่วนคับ รัฐระไคน์ ห่างจากย่างกุ้งไปทางทิศเหนือ 250 ไมล์ มีรายงานว่าเยาวชนจำนวน 25 คน ถูกจับหลังจากรวมกันที่ถนนและเริ่มเดินขบวนรำลึกครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 8.8.88 โดย นายเทน แหน่ง (Thein Naing) รองเลขาธิการสาขาพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ประจำเมืองต่วนคับ รายงานว่าผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มาจากหมู่บ้านนัตหม่าว (Nat Maw) ประมาณ 25 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมทันทีที่พวกเขาเดินผ่านสถานีตำรวจในเมืองต่วนคับ
“พวกเขาเริ่มเดินจากเขตจองกอก (Chaung Kauk ward) มาตามถนนโอตตะมะ (Ottama street) เมื่อเขาผ่านหน้าสถานีตำรวจในเมืองต่วนคับ ถนนตรงนั้นมีการตั้งด่านสกัด และพวกเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลจับกุม” นายเทน แหน่ง กล่าว
ขณะที่เมื่อคืนวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านในหมู่บ้านนัตหม่าว (Nat Maw) ราว 200 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เยาวชน และสมาชิกระดับเยาวชนของพรรคเอ็นแอลดี ได้จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกเหตุการณ์ 8.8.88 ในวัด 2 แห่ง และจัดเดินขบวนเป็นระยะทางสั้นๆ หน้าวัดแห่งนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานแน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลมีการจับกุมพวกเขาหรือไม่
ทั้งนี้ มีรายงานการวางกำลังอย่างหนาแน่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลโดยรอบเมืองต่วนขับ โดย นายเทน แหน่ง กล่าวว่า กองกำลังทหารพม่าหน่วย LIB 544 ที่เมืองต่วนคับ ได้วางกำลังรักษาความปลอดภัยในเมือง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำการปิดถนนราวกับปิดทางน้ำ
“ทหารในเครื่องแบบเต็มยศพบเห็นได้ทุกที่ในเมือง ฉันเห็นพวกเขาอย่างน้อย 60 ราย” นายเทน แหน่ง กล่าว
ซิต-ตแหว่วางกำลังเข้ม หวั่นประท้วงลามจากต่วนคับ
ที่เมืองซิต-ตแหว่ (Sittwe) เมืองเอกของรัฐยะไข่ หรือระไคน์ (Rakhine State) เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัฐบาลพม่าได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในเมืองนี้ เนื่องจากกำลังเกิดการประท้วงขึ้นที่นี่ โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้วางกำลังรักษาความสงบในเมืองซิต-ตแหว่เพื่อป้องกันการเดินขบวนที่ทวีขึ้นในเมืองตั้นตแหว่ (Sandoway) และต่วนคับ (Tungup) จะลามเข้ามาในเมืองเอกของรัฐระไคน์
“ที่นี่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัฐบาลวางกำลังอย่างหนาแน่นสองฟากถนน อาจารย์ในโรงเรียนได้เข้าร่วมในการรักษาความปลอดภัยนี้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตือนภัยอยู่ในระดับสูง” ชาวบ้านในเมืองซิต-ตแหว่ กล่าว
ไล่นักศึกษาแต่ง ‘แดง-ดำ’ กลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อ
“อาจารย์มหาวิทยาลัยตั้งแถวอยู่ตรงทางเข้าของสถาบัน และนักศึกษาที่สวมชุดสีแดงและสีดำจะได้ต้องกลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อ โดยทั้งเมืองมีคำสั่งห้ามสวมเสื้อสีแดงและสีดำ น้องสาวของฉันซึ่งแต่งชุดสีดำถูกสั่งให้กลับบ้านมาเปลี่ยนเสื้อผ้า” ชาวบ้านอีกรายกล่าว
รถบรรทุก 2 คันลำเลียงตำรวจปราบจลาจลขับลาดตระเวนอยู่ในเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังอยู่ในวัดทุกแห่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 4 คันรถบรรทุกต่อวัดแต่ละแห่ง และมีตำรวจปราบจลาจลประมาณ 100 นายตั้งแถวอยู่หัวมุมวัดโลกอนันดา (Lawkananda monastery) และสวนอูโอตะมะ (U Ottama Park)
เยาวชนตั้นตแหว่ทำบุญเพื่ออุทิศการต่อสู้ปี 1988
ทั้งนี้ที่เมืองตั้นตแหว่ รัฐระไคน์ ในเช้าวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา นักศึกษารุ่น’88 จำนวนหนึ่งรวมทั้งเยาวชนจำนวน 20 คน ได้ทำบุญถวายอาหารและอุทิศส่วนกุศล
“เยาวชนประมาณ 20 คน ทำบุญถวายอาหารในเวลาประมาณ 10.30 น. ที่วัดอ่องธรรมมะเย้ทะ (Aungdhamayeiktha monastery) ในเขตทวายาวาตี เมี้ยวติ๊ด (Dwaryarwadi Myothit Ward) เมืองตั้นตแหว่ พระสงฆ์ได้สวดเมตตาสูตรและอุทิศส่วนกุศล และเยาวชนได้ถวายภัตตาหาร” นายเทน แหน่ง (Thein Naing) รองเลขาธิการสาขาพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ประจำเมืองต่วนคับกล่าว
///////////////////////////////
รำลึก 20 ปี 8.8.88 รอบโลก
นักกิจกรรมทั่วโลกได้ร่วมกันจัดงานรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 8.8.88 ขึ้นหน้าสถานทูตพม่าและจีนในหลายประเทศในเอเชียทั้งมาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย โดยที่ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา ชาวพม่าราว 200 คนเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ต่อสู้ในปี 1988
“เราสนับสนุนจิตวิญญาณ ‘8888’ เราเรียกร้องประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศของเรา” ยัน แปง ซอ (Yan Paing Soe) สมาชิกระดับเยาวชนของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยในเขตปลดปล่อย (the National League for Democracy – Liberated Area) กล่าวระหว่างการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 8.8.88 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ทั้งนี้นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวพม่าและชาวอินเดียได้จัดการประชุมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ศูนย์ยุติธรรมนานาชาติ (Global Justice Center) ที่มีสำนักงานอยู่ที่นิวยอร์กร่วมกับนักศึกษาพม่ารุ่น ’88 องค์กรพระสงฆ์พม่านานาชาติ (IMBO) องค์กรรณรงค์สหรัฐอเมริกาเพื่อพม่า (US Campaign for Burma) และผู้สนับสนุนก็ได้จัดกิจกรรมเสวนาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 8.8.88 ที่กรุงนิวเดลีด้วย ที่ญี่ปุ่นชาวพม่ามากกว่า 1,000 คน ในจำนวนนี้มีนักการเมืองลี้ภัยด้วย ได้เดินขบวนในเมืองใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงเพื่อไปยังหน้าสถานทูตพม่าประจำ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เมียต ตู่ นักกิจกรรมชาวพม่า กล่าวระหว่างการชุมนุมที่กรุงโตเกียว ว่า “เราจัดการชุมนุมเป็นเวลาสั้นๆ ที่หน้าสถานทูตพม่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมทั้ง นางออง ซาน ซูจี และเรียกร้องให้เริ่มต้นกระบวนการเจรจา รวมทั้งเรียกประชุมสภาที่มาจากประชาชนทันที”
ผู้ชุมนุมยังตะโกนเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการเข่นฆ่ารังแกประชาชนชาวพม่า และเรียกร้องให้ประชาคมนาชาติแทรกแซงและกดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศนี้
ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ชาวพม่ามากกว่า 100 คน เดินขบวนหน้าสถานทูตพม่าเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ต่อสู้ 8888
“เราเดินขบวนไปยังสถานทูตพม่า และใช้เวลาราว 30 นาทีจัดการประท้วงที่นั่น” นายเย มิน ทุน นักกิจกรมซึ่งจัดการชุมนุมครั้งนี้กล่าว เขาระบุว่าได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุมเพียง 30 นาที เนื่องจากสถานการณ์ความปลอดภัยในกัวลาลัมเปอร์ไม่น่าไว้วางใจ อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมชาวพม่าสามารถจัดนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ได้
ที่ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีพลัดถิ่น สามารถจัดการชุมนุมที่หน้าสถานทูตพม่า และสามารถจัดแถลงข่าวให้กับผู้สื่อข่าวท้องถิ่นได้
“เราสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในการประท้วงวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 และบอกกับประชาชนว่า 20 ปีมานี้เกิดอะไรขึ้นในพม่า และเราเรียกร้องต่อผู้คนให้ช่วยเหลือชาวพม่าสร้างประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในพม่าให้ได้” นายซอ มอ อ่อง โฆษกเอ็นแอลดีพลัดถิ่นกล่าว
ที่ สิงคโปร์ เนื่องจากมาตรการเข้มงวดของรัฐบาล ทำให้ชาวพม่าที่นั่นไม่ได้รับอนุญาตจัดการชุมนุม ทำได้เพียงการสวดมนต์ให้กับผู้ที่เสียชีวิตในปี 1988 และ การต่อสู้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว “กิจกรรมจัดขึ้นที่ศาลาว่าการของเมือง มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกับเรา” นักกิจกรรมรายหนึ่งกล่าว
สำหรับกิจกรรมที่ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา นักกิจกรรมชาวพม่าและชาวต่างประเทศกว่า 100 คน จัดชุมนุมหน้าสถานทูตจีน และสถานทูตพม่าใน กรุงเทพมหานคร และมีการปล่อยลูกโป่งเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 8.8.88 ด้วย
ส่วนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นางลอร่า บุช ภริยาประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางมาเยี่ยม พญ.ซินเทีย หม่อง ที่แม่สอดนี้ นักกิจกรรมฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยได้จัดกิจกรรมรำลึกการต่อสู้ในวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 เช่นกัน
“เราต้องการก้าวรุดไปข้างหน้า ด้วยการยึดมั่นในจิตวิญญาณปี 1988 ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพให้พ้นไปจากระบอบเผด็จการทหารที่โหดร้าย” มิน หน่าย (Min Naing) ผู้แทนด้านต่างประเทศของสหภาพสหพันธ์นักศึกษาพม่าทั้งมวล (ABSFU) กล่าว
นักกิจกรรมเหล่านี้ยังจัดนิทรรศการศิลปะและภาพถ่ายของเหตุการณ์ ‘8888’ และการประท้วงเดือนกันยายนปีก่อน โดยมีนักกิจกรรมและแรงงานชาวพม่ากว่า 300 คนเข้าร่วม ขณะเดียวกันที่แม่ตาวคลินิก ก็มีการจัดสวดมนต์ให้กับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปี 1988
“เราต้องการสร้างความตระหนักในหมู่เจ้าหน้าที่ของคลินิก และคนไข้ ถึงสถานการณ์ในประเทศของเราทั้งในอดีตและปัจจุบัน” เอ ลวิน (Aye Lwin) เจ้าหน้าที่ของคลินิกกล่าว
“เมื่อเราเริ่มต้นเปิดคลินิกมีคนไข้มารักษา 2,000 รายต่อปี ขณะนี้เราต้องรักษาผู้ป่วย 80,000 รายต่อปี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราเห็นว่าสถานการณ์การเมืองในพม่าเลวร้ายแค่ไหนในรอบ 20 ปีมานี้” พญ.ซินเธีย หม่อง กล่าวระหว่างการรำลึกเหตุการณ์ 8.8.88
ด้าน นายเส่ง หาน (Sein Han) ผู้ร่วมก่อตั้งแม่ตาวคลินิก กล่าวระหว่างการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 8.8.88 ว่า เหตุการณ์ 8.8.88 เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของประวัติศาสตร์พม่า ซึ่งมีความสำคัญอยากมากที่คนรุ่นหนุ่มสาวต้องทำความเข้าใจอดีต เพื่อที่จะได้ต่อรองกับปัจจุบันและอนาคตได้อย่างดียิ่งขึ้น
“เราไม่แน่ใจว่าเราจะไปถึงเป้าหมายในเวลานี้ แต่เราก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยให้คนรุ่นหนุ่มสาวทราบและเข้าใจความสำคัญของการต่อสู้ทั่วประเทศในครั้งนั้น ถ้าพวกเขาเข้าใจ เขาจะเริ่มต่อสู้และพวกเขาก็จะบรรลุเป้าหมาย”
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 8.8.88 ที่ จ.เชียงใหม่ มีการกิจกรรมรำลึกมีผู้เข้าร่วมงานหลายร้อยคน โดยมีการกล่าวรำลึกเหตุการณ์โดยอดีตนักกิจกรรมรุ่น’88 อาทิ นายจ่อวิน (Kyaw Win) ศิลปินชาวพม่า นางทิน ทิน อ่อง (Thin Thin Aung) จาก สันนิบาตสตรีพม่า (WLB) นางมิซูพวินท์ (Mi Su Pwint) จาก ABSDF และนายอ่อง โม ซอ (Aung Moe Saw) ประธานพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (Democratic Party of New Society) ด้วย
/////////////////////////////////////
ที่มาของข่าว:
Prachatai Burma แปลและเรียบเรียงจาก www.mizzima.com, www.irrawaddy.org, และwww.prachatai.com