ตั้งแต่ปลายเดือน กรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา ขณะนั้น คมช.ยังยึดกุมอำนาจประเทศไทย โดยมีนายกฯเขายายเที่ยง มะงุมมะงาหราบริหารประเทศ ไปอย่างงกๆเงิ่นๆนั้น
ฝ่ายปฏิปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกร้องให้มีการส่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาดำเนินคดีในประเทศ ทั้งทางรัฐบาลได้จัดส่งทีมงานอัยการ ไปดำเนินการกระบวนการขอให้ส่งตัว ถึงประเทศอังกฤษ
“วาทตะวัน สุพรรณเภษัช” มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ด้วยอารมณ์ครื้นเครง จึงได้นำเหตุการณ์ที่ตัวเองได้เห็น มาเป็นเค้าโครง แล้วผูกเป็นเรื่องสั้นขึ้น ชื่อเรื่องคือ...
“จดหมายจากสถานทูตอังกฤษ กรณีขอตัวอดีตผู้นำ มาดำเนินคดีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน!?”
เจ้าของฉายา “นักเขียน-มิลเลี่ยนคลิก” ได้นำจดหมายดังกล่าว ลงในเว็บไซด์ของหนังสือพิมพ์ดังฉบับหนึ่ง เมื่อ 7 สิงหาคม 2550 ซึ่งได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังมีการถ่ายทอด ไปลงในเว็บไซด์อื่นๆอีกมากมาย ผู้คนที่ได้อ่านก็พา
หัวร่องอหาย
ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่จะเรียกร้องให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง จึงได้ถือโอกาสนำจดหมายฉบับสำคัญ มาลงใน “ประชาทรรศน์” ซึ่งเป็นการพิมพ์ครั้งแรก บนหน้าหนังสือพิมพ์ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่าน ได้รับความรู้เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสนุกสนานไปกับรูปแบบการเขียน ที่ผสมผสาน คลุกเคล้ากันระหว่างเรื่องแต่ง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง...
หวังว่า การเขียนเรื่องสั้นแบบนี้ คงเป็นที่ถูกใจแฟนๆนักเขียนท่านนี้ โดยทั่วกัน
///////////////////////////////////////
“จดหมายจากสถานทูตอังกฤษ กรณีขอตัวอดีตผู้นำ มาดำเนินคดีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน!?” (1)
เช้าวันนี้...‘คำฝาย’ หนุ่มน้อยผู้จบปริญญาตรี สาขาภาษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งประเทศ ที่ชื่อสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า Sanjakun (อ่านเป็นภาษาไทยว่า “แสนจะขัน”) กำลังกวาดถนนสายที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จากหน่วยงานเทศบาลนครหลวงของตน ในฐานะลูกจ้างชั่วคราว
“แสนจะขัน” บ้านเกิดเมืองนอนของคำฝาย เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น ยังล้าหลังเพื่อนในแถบภูมิภาคเดียวกัน แต่พลเมืองของเขาขยันทำมาหากิน ข้าราชการซื่อสัตย์ไม่คอรัปชั่น ผู้นำดีมีวิสัยทัศน์กว้างไกล บ้านเมืองของคำฝายจึงสงบร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่มีทุกข์
ยิ่งกว่านั้น ประเทศของคำฝายเจริญก้าวหน้า มากกว่าเวียตนาม ที่เร่งพัฒนารุดหน้าไปรวดเร็ว จนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงละแวกนั้นพากันอิจฉา แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อพลเมืองประเทศขี้อิจฉานั้น เอาแต่ไล่ตีกัน พวกทหารก็มุ่งแต่แสวงและยื้อแย่งอำนาจ หาเงินและทรัพย์สินใส่กระเป๋าตัวเอง ไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของราษฎร จนทำให้ประเทศขี้อิจฉา
ต้องตกอยู่ในสภาพ ที่ถดถอย ต้อยต่ำลงทุกที!
ใครที่คิดว่า คนจบปริญญาแล้วอย่างคำฝาย จึงมาทำงานกวาดถนน ต้องขอตอบว่า บ้านเมืองของคำฝายนั้น ผู้คนต่างสมัครใจทำงานทั้งนั้น ไม่มีใครเกี่ยงการทำงาน แม้ว่างานนั้นจะหนัก และดูต่ำต้อยสักเพียงไร
บ้านเมืองเขาจึงไม่มีใคร ที่เรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว แต่หางานไม่ได้ จนถึงต้องฆ่าตัวตายดังที่เกิดขึ้นมาในประเทศอื่น หรือเด็กมหาวิทยาลัย ต้องปลิดชีวิตตัวเอง เพียงเพราะรัฐบาลบกพร่องในเรื่องการจัดบริการ เงินช่วยเหลือทางการศึกษา
ชาวบ้านถึงกับตกตลึงพรึงเพริด พากันสลดใจพร้อมกับก่นด่าว่า
...รัฐบาลอัปรีย์!
แผ่นดินบ้านเกิดของคำฝายนั้น พลเมืองของเขามีค่านิยมว่า งานในประเทศมีเกียรติทุกงาน คนที่ทำงานหากินโดยสุจริต ได้รับการยกย่องเสมอกัน
ดูอย่างผู้บัญชาการทหารบก เมืองแสนจะขันแห่งนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีเลยทีเดียว เขากำลังจะเกษียณอายุจากการรับใช้ชาติ มีคนมาติดต่อให้นายทหารใกล้เกษียณผู้นี้ ไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง แต่เจ้าตัวก็ไม่ขอรับ กลับให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทุกแขนง ว่า
วันไหนที่พ้นจากหน้าที่รั้วของชาติแล้ว เขาจะขนลูกๆ กับเมียๆอีก ๔-๕ คน กลับไปบ้านเดิมในต่างจังหวัด เพื่อไปสมัครเป็นพนักงานเก็บขยะ ให้กับเทศบาลหัวเมืองบ้านเกิดของตนเอง เพราะทหารที่กำลังจะเก่าคนนี้ ยังมีเรี่ยวแรงเตะฟุตบอล และมุ่งมั่นจะทดแทนคุณแผ่นดินถิ่นกำเนิด ด้วยการทำให้บ้านเมืองสะอาด ดีกว่าไปเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กับพรรคการเมืองเป็นไหนๆ แถมยังยืนยันว่า จะเก็บขยะไปจนกว่าจะหมดแรงทำไม่ไหว
ผู้คนได้แต่สรรเสริญกันทั่ว!
ขณะกวาดถนนไปนั้น คำฝายเหลือบเห็นซองกระดาษสีน้ำตาลคุณภาพสูง ตกอยู่บนบาทวิถีเขาจึงเดินไปเก็บ ซองไม่ได้จ่าหน้า ข้างในมีเอกสารบรรจุอยู่และซองยังไม่ได้ปิด เขาจึงดึงกระดาษพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษเรียบร้อยออกจากซอง แล้วคลี่ออกอ่าน
ชายหนุ่มคนกวาดถนน ผู้จบปริญญาตรีของเมืองแสนจะขัน สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้อย่างแตกฉาน เพราะบ้านเมืองเขา มีระบบการศึกษายอดเยี่ยม พลเมืองทุกคนที่จบแค่ปริญญาตรี สามารถใช้ภาษาอังกฤษ ได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษาเลยทีเดียว
คำฝายวาดสายตาไปตามตัวอักษร ซึ่งมีข้อความที่แปลเป็นภาษาไทย ได้ความดังต่อไปนี้
ลับที่สุด
สถานทูตอังกฤษ
สิงหาคม 2007
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่รัก
ข้าพเจ้าส่งจดหมายส่วนตัวฉบับนี้มา เพื่อตอบข้อหารือของท่าน ซึ่งสอบถามเป็นการส่วนตัว ที่งานแกรนด์ดินเนอร์ ในค่ำคืนของงานฉลองบั้งไฟที่ผ่านมา และข้าพเจ้าได้รับปากจะตอบข้อหารือของท่านเป็นลายลักษณ์อักษร จึงมีจดหมายมาถึงท่านในวันนี้
ขอเรียนว่า
นี่เป็นการตอบข้อหารือส่วนตัว ไม่มีผลผูกพันกับข้าพเจ้าหรือสหราชอาณาจักรแต่อย่างใด และเป็นเพียงการตอบในฐานะ เพื่อนร่วมอาชีพนักการทูตด้วยกัน เท่านั้น
ตามที่ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้หารือเรื่องรัฐบาลฮุนตา หรือรัฐบาลเผด็จการทหารหนุนหลังของท่าน จะขอให้รัฐบาลในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ แห่งบริเตนใหญ่ ส่งตัวอดีตผู้นำทางการเมืองประเทศของท่าน ซึ่งบัดนี้กำลังพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการเตะฟุตบอลกับทีมชั้นนำในกรุงลันดั้น กลับไปประเทศของท่าน ในฐานะเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
ข้าพเจ้ารู้สึกได้ ถึงความอึดอัดคัดข้องทั้งปวง ที่เกิดขึ้นกับท่านเพราะได้รับแรงบีบคั้นจากฝ่ายเผด็จการ ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลหุ่น ซึ่งท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ อยู่ในขณะนี้
ขอเรียนให้ทราบ ถึงความรู้สึกส่วนตัวว่า
ข้าพเจ้าเห็นใจนักการทูตอาชีพ ผู้รุ่งโรจน์อย่างท่าน แต่กลับต้องไปปฏิบัติงานในฐานะเป็นผู้บริหารสูงสุด ของกระทรวงการต่างประเทศ ในคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ทำให้ท่านดูจะกลายเป็นผู้รับใช้เผด็จการ มากกว่าจะอยู่ให้ฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของชาติที่เคยโดดเด่นในวงการทูตมายาวนาน จนทำให้ความเป็นที่นิยมของท่าน ในฐานะนักการทูตนามกระเดื่อง ต้องมีอันต้อยต่ำลง อย่างน่าเสียดายยิ่ง
ในฐานะที่เป็นบุคลากรแห่งวงการทูต และมีความคุ้นเคยกับท่านมายาวนาน ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายที่ท่านรัฐมนตรีฯ ได้รับการศึกษาจากประเทศที่เจริญแล้ว อีกทั้งยังคุ้นเคยสมาคมกับนักการทูตในโลกอารยะ ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันรุ่งเรือง กลับต้องมาฝืนใจ ทำหน้าที่ให้รัฐบาลในระบอบการปกครอง อันไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมนานาชาติเช่นนี้
ข้าพเจ้าเชื่อว่า
ท่านรัฐมนตรีฯ จะสามารถใช้ความฉลาดเฉลียว และบุคลิกที่ละมุนละม่อมอัน
ร่ำลือ ประคับประคองสถานการณ์ ให้ประเทศของอันเป็นที่รักของท่านและประชาชน ตกต่ำลงไปน้อยที่สุด หลังจากการเข้ายึดอำนาจของเหล่าเผด็จการ ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การที่ท่านได้หารือกับข้าพเจ้าด้วยวาจา ว่า
รัฐบาลประเทศของข้าพเจ้า จะมีความเห็นเป็นประการใด หากรัฐบาลฮุนตาของท่าน ต้องการเรียกร้อง ให้ส่งตัวตัวอดีตผู้นำของท่าน กลับมาดำเนินคดี ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน นั้น
ข้าพเจ้าจะขอลำดับถึงเหตุผล ที่รัฐบาลในสมเด็จพระบรมราชินีนาถของข้าพเจ้า จะต้องใช้เป็นเงื่อนไข ในการปฏิเสธคำขอรัฐบาลเผด็จการของท่าน ดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลฮุนตาของท่าน ไม่ได้มาจากประชาชน เยี่ยงรัฐบาลชาติประชาธิปไตย
ทั้งหลาย หากมาจากการรัฐประหาร อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะชาติในกลุ่มสหภาพยุโรปนั้น ได้ร่วมกันแสดงออกถึงการปฏิเสธ ของการดำรงอยู่ ซึ่งรัฐบาลเผด็จการประเทศของท่านอย่างแข็งขัน
ในฐานะที่ชาติของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นภาคีสมาชิกสหภาพยุโรปอยู่ด้วย นั้น ก็ไม่อาจยอมรับการร้องขอ ให้ส่งตัวอดีตผู้นำ อันนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซ้ำซากได้อีกอย่างแน่นอน
2. ปรากฏหลักฐานชัดเจน ที่รวบรวมจากทางราชการของท่าน และข่าวกรองของบรรดาชาติตะวันตก ต่างยืนยันพร้อมเพรียงกัน ว่า
ได้มีความพยายาม ‘ลอบสังหาร’ อดีตหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งบัดนี้ได้อาศัยใน
สหราชอาณาจักร และสมาชิกกลุ่มผู้พยายามลอบสังหาร ได้ถูกจับกุมและได้รับการพิสูจน์ชัดเจนในชั้นพนักงานสอบสวน และอัยการศาลทหารแล้ว
ที่น่าทึ่งกว่านั้น คือ
- ผู้กระทำความผิดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมดำเนินคดี กลายเป็นทหารทั้งหมด
- การจับกุมเกิดก่อนการรัฐประหาร
- เมื่อมีการยึดอำนาจรัฐประหารแล้ว แต่พนักงานอัยการซึ่งเป็นทหารเหมือนกันกับผู้ยึดอำนาจ และผู้ต้องหาซึ่งเป็นทหาร แต่พนักงานอัยการศาลทหาร กลับสั่งฟ้องผู้ต้องหาเกือบทั้งชุด (ขาดหัวโจกไปเพียงคนเดียว)
- แม้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร ยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า คดีลอบสังหารนั้นมีมูล เป็นคาร์บอมจริงๆไม่ใช่คาร์บ๊อง อย่างที่มีความพยายามกล่าวหากัน มิฉะนั้นพนักงานอัยการทหาร คงไม่ส่งตัวผู้ต้องหาทหารทั้งหมด
ฟ้องคดีต่อศาลทหาร แต่อย่างใด!
3. จากเหตุการณ์ลอบสังหาร ติดตามมาด้วยการเข้ายึดอำนาจของฝ่ายทหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายร้ายแรงนั้น มีผลทำให้นานาประเทศ ไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่น นอกจากวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน ว่า
เมื่อล้มเหลวจากการลอบสังหารแล้ว ฝ่ายทหารเกรงความผิดจะถูกสาวมาถึงตน และอาจทำให้ถูกโยกย้าย จากตำแหน่งที่มีผลประโยชน์ได้
จึงชิงเข้าทำรัฐประหาร ก่อนพวกตนต้องสูญสิ้นอำนาจไปนั่นเอง!
4. การยึดอำนาจ อย่างไม่ชอบธรรมของคณะทหาร และได้มีการแต่งตั้งสภา
ฮุนตาขึ้นภายในประเทศ สถาปนาระบบศาลของตัวเอง ขึ้นมาใช้พิจารณาความผิดทางการเมือง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยมิชอบ โดยนำเอาผู้ที่มีความขัดแย้ง กับอดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ของการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ตามแบบธรรมเนียมของชาติอารยะ และเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง
มีแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้น ที่กระทำเช่นนี้ได้!
ด้วยเหตุนี้เอง กระบวนการสอบสวน รวมถึงการพิจารณาคดีอดีตนายกรัฐมนตรี โดยองค์กรที่จัดตั้งโดยคณะฮุนตา ในประเทศของท่าน จึงไม่เป็นที่ยอมรับ ในเวทีนานาชาติอารยะ
ดังนั้น ผลพวงจากการสอบสวน และการดำเนินการโดยมิชอบอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกันนั้น ต้องได้รับการแจ้งอย่างตรงไปตรงมา จากรัฐบาลประเทศข้าพเจ้า ว่า
ไม่มีผลบังคับให้ประเทศ ที่มีสัมพันธไมตรีด้วย ให้ต้องดำเนินการไปตามคำขอของรัฐบาลเผด็จการเยี่ยงนี้!!