ข่าวการไม่กลับและเดินทางไปอังกฤษของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว นอกจากทำให้ผู้คนทั้งหลายรู้สึก แสดงความคิดเห็นและวิเคราะห์กันต่างๆ นานาแล้ว ยังทำให้มีการพูดถึงการขอลี้ภัยทางการเมืองกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยสนใจปัญหาการขอลี้ภัยทางการเมือง ผมขอร่วมส่วนพูดถึงเรื่องนี้ด้วยคน
คงต้องเริ่มจากประวัติศาสตร์ การลี้ภัยทางการเมืองเกิดขึ้นมานานและตลอดเวลา เกือบทุกประเทศเคยมีผู้นำประเทศ นักการเมืองและนักต่อสู้ทางการเมืองไปขอพำนัก หรือลี้ภัย หรือหลบหนีเข้าไปอยู่ ประเทศไทยเราตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เคยมีเจ้านายประเทศเพื่อนบ้านหลายองค์ เช่น นักองค์ด้วง นักองค์เอง องค์ด้วง จากเขมร องค์เซียงสือ จากเวียดนาม มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมัยประชาธิปไตย ก็มีมาตลอด ตั้งแต่นายอุนุ นายกรัฐมนตรีพม่า นายซอนซาน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถึงนักการเมืองและนักศึกษาพม่ามาขอลี้ภัยทางการเมือง ในทางกลับกัน เจ้านายไทยหลายพระองค์และผู้นำทางการเมืองเคยเดินทางไปประทับที่ประเทศอื่นด้วยเหตุผลทางการเมือง เช่น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไปประทับที่อินโดนีเซีย กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ไปพำนักที่ปีนัง สิงคโปร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประทับที่อังกฤษ ท่านปรีดี พนมยงค์ และนักปฏิวัติไทย หรือคอมมิวนิสต์ไทยหลายคนเคยไปลี้ภัยทางการเมืองที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
พูดไปทำไมมี หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร เดินทางไปอยู่สหรัฐอเมริกา และไทเป หลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 มีนักศึกษาหลายคนไปลี้ภัยขาวไปอยู่อังกฤษ สวีเดน และสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และครอบครัวไปอยู่อังกฤษ ถ้าอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยไปลี้ภัยทางการเมืองในประเทศอังกฤษหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลับไปประเทศนี้หรือประเทศไหนๆ เพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง ย่อมมีเหตุผล และเป็นสิทธิขอบุคคลที่กำลังถูกดำเนินคดีและอยู่ในภาวะอันตรายต่อชีวิตจากสถานการณ์ทางการเมืองที่จะขอเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง
อังกฤษ เหมือนกับประเทศยุโรปอื่นๆ เป็นประเทศที่มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองมาตลอด ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก คือ คาร์ล มาร์กซ นักทฤษฎีคอมมิวนิสต์ ก็เคยไปอยู่และต่อมาไปตายที่นั่น
สถานการณ์ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งมายาวนานดังกล่าว ได้กลายเป็นประเพณีทางการเมืองของประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก และต่อมา ยอมรับเป็นสิทธิประการหนึ่ง หลายประเทศมีนโยบายและออกกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง สหประชาชาติออกอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย (UN Convention relating to the Status of Refugee ค.ศ. 1951 ) กำหนดความหมาย หลักการ และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เรียกว่า political asylum และผู้อพยพหลบภัยที่เรียกว่า refugee กลุ่มหลังนี้ เป็นผู้ลี้ภัยเป็นกลุ่มใหญ่ๆอันเนื่องมาจากสถานการณ์ร้ายแรงทางการเมือง เช่น สงครามภายในและสงคราวระหว่างประเทศ การปราบปราม การสังหารหมู่ ฯลฯ ซึ่งมีร้อยกว่าล้านคนกระจายทั่วโลก เช่น ผู้อพยพจากอาฟกานิสถาน อิรัก หลายประเทศของแอฟริกา ขณะนี้ กำลังเกิดขึ้นในที่เซาท์ ออสซีเซีย ของจอร์เจีย ประเทศไทยเราเคยให้ที่พักพิงผู้อพยพอินโดจีน ปัจจุบัน มีค่ายพึ่งพิงของผู้หนีภัยสู้รบจากพม่าเกือบ 2 แสนคน
กล่าวเฉพาะการขอลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน เพราะมนุษย์ทุกคนหากอยู่ในภาวะที่จะถูกจับ ถูกดำเนินคดี และมีอันตรายต่อชีวิตด้วยเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อทางการเมือง ย่อมมีสิทธิขอลี้ภัยในประเทศอื่น สหประชาชาตินอกจากมีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย แล้ว ยังตั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัย (นิยมเรียกชื่อจากคำย่อภาษาอังกฤษ UNHCR) เพื่อดูแลผู้ลี้ภัยทั้ง 2 ประเภท สำนักงานข้าหลวงใหญ่นี้ มีสำนักงานในประเทศไทยด้วย ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้อ้างว่าจะถูกจับกุมหรือมีอันตรายต่อชีวิตจากประเทศต่างๆทั้งเพื่อนบ้านและแดนไกลเช่น ตะวันออกกลาง มาขอลี้ภัยนับพันคน ผมเคยช่วยเหลือผู้มาขอลี้ภัยกับสำนักงานนี้หลายคน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้นำประเทศ การขอลี้ภัย ไม่จำเป็นต้องผ่าน UNHCR ขึ้นอยู่กับรัฐบาลประเทศเป้าหมาย จะรับเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหรือให้พำนักอยู่ในประเทศหรือไม่ ถ้าหากรับให้พำนักในประเทศ ผู้นำหรือผู้ลี้ภัยทางการเมืองจะชีวิตและสิทธิอย่างไรขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น โดยทั่วไปจะมีสิทธิมนุษย์และสิทธิทางการเมืองเกือบทุกประการ กรณีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เข้าข่ายประเพณีและหลักการนี้
ไม่ต้องเป็นห่วง