ก.ต่างประเทศ 11 ส.ค. - โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันรัฐบาลไม่สามารถขอลี้ภัยให้กับคนในชาติได้ ระบุหากร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องให้ศาลประสานมายังกระทรวงจึงจะดำเนินการตามช่องทางการทูต เผยยังไม่รู้เรื่องยึดพาสปอร์ตแดงคืน นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการขอลี้ภัย ว่า ตามหลักแล้วการขอลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม จะต้องมีเหตุผลว่าอยู่ประเทศนั้นๆ ไม่ได้เนื่องจากระบบการปกครอง หรือมีความเสี่ยงภัย ซึ่งเป็นธรรมชาติว่า รัฐบาลไทยหรือรัฐบาลใดก็ตามจะไม่เป็นผู้ขอลี้ภัยให้กับคนในชาติตัวเอง เพราะเท่ากับยอมรับว่า ประเทศนั้นให้ความดูแลปกครองโดยสมบูรณ์ไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ที่รัฐบาลไทยจะขอลี้ภัยให้กับคนในชาติตัวเอง ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอลี้ภัยที่ประเทศอังกฤษกระทรวงการต่างประเทศจะทราบหรือไม่ นายธฤต กล่าวว่า ต้องไปตรวจสอบกับสถานทูตอังกฤษในประเทศไทย เพราะตามกฎหมายเข้าเมืองที่ดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยอังกฤษ จะไม่สามารถเปิดเผยว่าบุคคลคนหนึ่งที่ขออยู่ในประเทศมีสถานะใด “ผมตอบไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในประเทศอังกฤษขณะนี้ในสถานะอะไร อย่างที่ผมเรียนแล้วว่า ไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งคนๆ หนึ่งอยู่ในประเทศใดอยู่ได้หลายสถานะ เช่น นักธุรกิจ นักลงทุน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถอยู่ได้ในหลายสถานะ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานะการลี้ภัย” นายธฤต กล่าว หากมีการขอลี้ภัย กระทรวงการต่างประเทศจะไม่ใช่ผู้ประสานในเรื่องการขอลี้ภัยใช่หรือไม่ นายธฤต กล่าวว่า ไม่ใช่แน่นอน ส่วนจะมีช่องทางใดที่จะขอลี้ภัยได้ เห็นว่าแต่ละประเทศ จะมีกฎหมายแตกต่างกันไป ต่อข้อถามว่า กระทรวงการต่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการลี้ภัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างไร นายธฤต กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร ต้องการให้กระทรวงดำเนินการอย่างไรต่อไป เรื่องทั้งหมดต้องรอการประสานงานจากศาลและอัยการอีกครั้ง ว่าต้องการให้กระทรวงดำเนินการอย่างไร ส่วนมีความจำเป็นหรือไม่ที่กระทรวงการต่างประเทศต้องดำเนินการเจรจาการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายธฤต กล่าวว่า ในหลักการไทยกับอังกฤษมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนอยู่แล้ว และถ้ามีการร้องขอมาจากศาลและอัยการ กระทรวงการต่างประเทศจะมีหน้าที่ติดต่อกับทางการอังกฤษ คือผ่านสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย หรือ ติดต่อทางสถานทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ เพื่อผ่านไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ โดยจะนำเอกสารที่ได้รับมาผ่านช่องทางการทูตเพื่อพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามหลักการทั่วไปไม่ใช่เฉพาะกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีที่มีข่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะยึดหนังสือเดินทางทางการทูตของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา คืนนั้น นายธฤต กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่มีระเบียบปฏิบัติอยู่ โดยนำข้อพิจารณาของศาลมาประกอบการพิจารณาของกระทรวงด้วย สำหรับหลักการยึดคืนนั้น นายธฤต กล่าวว่า โดยหลักแล้ว ศาลมีสิทธิเพิกถอนหนังสือเดินทางหรือระงับ เช่น ผู้ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด แล้วศาลพิพากษาให้ยึดคืนก็จะต้องคืน เพื่อไม่ให้หลบหนีไปต่างประเทศ แต่กรณีทั่วไปแล้วเมื่อบุคคลใดอยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว การถือหนังสือเดินทางจะมีสถานะเป็นเอกสารทางการเพื่อระบุว่า บุคคลนั้นเป็นคนสัญชาติใด เหมือนกับบัตรประชาชน ที่เป็นที่ยอมรับในสากล ดังนั้น คนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนหรือมีปัญหาใดๆ รัฐบาลต้องยอมรับเสมอว่า บุคคลผู้นั้นเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย หนังสือเดินทางเป็นหนังสือแสดงตน ซึ่งเป็นสถานะที่แตกต่างกับคนที่ถือหนังสือเดินทางแต่อยู่ในประเทศ จึงเป็นประเด็นที่จะนำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคืนพาสปอร์ตด้วย. - สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-08-11 18:28:36