ที่มา ประชาทรรศน์
ครม.เศรษฐกิจไฟเขียวผ่านงบกลางปีแสนล้าน กระตุ้นทั้งองคาพยพ กระจายเม็ดเงินช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่รากหญ้ายันภาคเอกชน เทงบพยุงภาคเอกชนสกัดปัญหาคนตกงาน ชงเร่งเบิกจ่ายยอดคงค้าง อปท. ต่ออายุ "6 มาตรการ 6 เดือน" แต่ยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน พร้อมเน้นบูมท่องเที่ยว ผลักดันเอสเอ็มอี คาดดีเดย์เบิกจ่าย 1 เม.ย.นี้
วันนี้ (7 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อหามาตรการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยภายหลังการประชุม นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเวลา 6 เดือน โดยการเสนองบประมาณเพิ่มกลางปีงบประมาณ 2552 วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.สัปดาห์หน้าเพื่อจัดทำรายละเอียดของงบประมาณและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ภายในวันที่ 28 ม.ค.นี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้กำหนดกลุ่มเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดไว้ 7 กลุ่มและนายกรัฐมนตรีได้ขอให้เพิ่มอีก 2 รายการ รวมทั้งหมดเป็น 9 กลุ่ม
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจประกอบด้วย 1.ภาคการเกษตร 2.กลุ่มแรงแรงงานที่อยู่นอกภาคการเกษตร 3. กลุ่มผู้ปกครอง เกี่ยวกับมาตรการเรียนฟรี 4.กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกี่ยวกับ 6 มาตรการในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายเดิมจากรัฐบาลที่ผ่านมา 5.กลุ่มผู้สูงอายุในเรื่องของเบี้ยยังชีพผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 6.กลุ่มธุรกิจภาคเอกชน เพื่อชะลอการเลิกจ้างงาน 7.กลุ่มภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินคงค้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มียอดคงค้างกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งการเบิกจ่าย และจะมีการนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 9 ม.ค.นี้ โดยงบประมาณกว่า 60 % เกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย และอีก 40 % เป็นงบลงทุน
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอเข้ามาอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพในการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยให้ทั้งหมดไปพิจารณาในเรื่องของงบประมาณในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยให้ทั้งหมดทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะให้เน้นในเรื่องของการทำประชาสัมพันธ์ประเทศไทยด้วย และให้หามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้ประจำแต่มีรายได้น้อย ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางว่าจะมีมาตรการอย่างไร นอกจากนี้ ในงบประมาณ 1 แสนล้านรัฐบาล ยังมีโครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น ซึ่งจะลงทุนประมาณ 100-1,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและได้โครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนด้วย โดยยืนยันว่างบก่อสร้างถนนก้อนนี้จะไม่ก่อให้เกิดงบผูกพันข้ามปี
"คาดว่ากลุ่มเป้าหมายทั้งหมดจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับงบประมาณที่จะจัดสรรลงไปภายในการประชุมครม.สัปดาห์หน้าเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาปลายเดือนนี้ โดยในวันที่ 27 ม.ค.จะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาในกรอบความร่วมมืออาเซียน และวันที่ 28 ม.ค.จะเป็นการพิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม โดยหลังจากที่สภาอนุมัติแล้ว งบประมาณทั้งหมดจะต้องเข้าระบบภายใน 3-4 เดือน" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับ 6 มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่จะครบกำหนดในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ส่วนใหญ่ยังคงเดิมและที่จะยกเลิกคือ การยกเลิกเก็บภาษีสรรพสามิต เช่น ราคาน้ำมัน เพราะถือว่าเป็นรายได้ที่นำเข้ารัฐ ส่วนที่เหลือนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ครม.เศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมไปคำนวณตัวเลขทั้งหมดเกี่ยวกับการโดยสารฟรี ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าและน้ำประปาฟรี จะมีการปรับโดยการขอความร่วมมือให้ประชาชนได้ประหยัดพลังงานช่วยกันเพื่อให้เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อยจริงๆ โดยค่าไฟฟ้าจากเดิม ใช้ไม่เกิน 100 หน่วย จะไม่ต้องจ่ายค่าไฟ แต่ที่ประชุมได้พิจารณาหามาตรการช่วยผู้ใช้ไฟน้อยจริงๆ โดยจะมีการปรับลดซึ่งจะอยู่ในช่วง 80-100 หน่วย ส่วนค่าน้ำประปาจากเดิมกำหนดไว้ที่ 50 ยูนิตไม่ต้องจ่าย แต่จะมีการพิจารณาให้อยู่ในช่วง 30-50 ยูนิต ซึ่งจะเป็นมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนได้ประหยัดพลังงาน ทั้งหมดนี้จะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า
"งบประมาณที่จะถึงมือประชาชนอย่างแท้จริงที่จะเริ่มในวันที่ 17 พ.ค.นี้ คือ งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทเกี่ยวกับโครงการเรียนฟรี ที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองกว่า 12 ล้านคน และอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาทเกี่ยวกับโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานกว่า 5 แสนคน โดยจะมีการฝึกอบรม 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง และอาจจะมีการจ้างงานต่ออีก 3 เดือน เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งการแทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตร ที่มีเงินเหลือกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ธกส.ได้รายงานให้ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังได้รับทราบว่างบประมาณก้อนนี้เพียงพอกับโครงการแทรกแซงราคา โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ไปดูในเรื่องของราคาพลไม้ ปาล์มน้ำมันและยางพาราเพิ่มเติม ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 วัน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ นายกอร์ปศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจะเน้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ ไปคำนวณตัวเลขทั้งหมดให้ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการการลดภาษี นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้ดูแลเรื่องอสังหาริมหทรัพย์ โดยมอบหมายให้ รมว.คลังเข้าไปดูแลโครงการก่อสร้างบ้านและคอนโดมีเนียมที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและสร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ออกเพื่อแก้ปัญหาการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)
ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้กำชับให้ดูแลเรื่องอสังหาริมทรัพย์และกีฬา กระทรวงพาณิชย์ ไปคำนวณตัวเลขทั้งหมดให้ชัดเจน ในส่วนของการหามาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนนั้น ได้มีการพูดถึงการให้สินเชื่อโดยหามาตราการลดดอกเบื้อเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีสภาพคล่อง ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เตรียมหามาตรการเข้าไปดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งอาจจะเข้าไปดูแลในอัตรา 2-3 % อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน ส่วนผู้ประกอบการด้านส่งออกรัฐบาลได้เตรียมหาแนวทางค้ำประกันการส่งออก สำหรับธุรกิจเอสเอมอี เตรียมออกมาตรการค้ำประกันเงินกู้
"สำหรับมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้กำหนดให้มารวมศูนย์ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาแยกรายละเอียดความเหมาะสมกับการฝึกอบรมและการจ้างงานจำนวน 5 แสนคนเฉลี่ยในกระทรวงต่างๆ และจะได้ข้อสรุปในการประชุมครม.สัปดาห์หน้า โดยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดของรัฐบาลจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใน 6 เดือน โดยงบประมาณทั้งหมดจะต้องเบิกจ่ายก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2552" นายพุทธิพงษ์ กล่าว