ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
สำนวนโบราณ คนไทยเข้าใจเขียนเปรียบเทียบกันมาแต่ช้านาน ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่น่าชื่นชม วันนี้คงจะหนีไม่พ้นต้องเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ถ้าเป็น วัยโจ๋ ปัจจุบันเขาบอกตามไปด้วยว่า “ดูให้แน่ ดูที่แม่ยาย”
เขียนขึ้นต้นแบบนี้คงจะไม่มีใครไม่รู้ว่าจะกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหาการแต่งตั้งคนใน “กระทรวงยุติธรรม” ไม่ใช่ “กระทรวงยุติความเป็นธรรม” ที่เป็นข่าวครึกโครมเวลานี้นั่นเอง แต่งตั้งใครไม่แต่งตั้ง ดันไปแต่งตั้งคนที่เป็น “ขี้ข้า” ระบอบเผด็จการ อำมาตยาธิปไตย...ขึ้นมาเป็นใหญ่ในกระทรวงอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่พึ่ง ความหวังของคนไทยทั้งชาติ 63 ล้านคน แห่งนี้ และที่สำคัญคือ ความเชื่อถือเชื่อมั่นของนานาชาติ
ใช้กฎหมายอันไม่ได้มีที่มาจากประชาชน เข้ามาจัดการนักการเมือง บางเรื่องบางราว เราพบว่ามีการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัดเจน
กรณีรถและเรือดับเพลิง 6.3 พันล้านบาท
การที่ไม่ยอมตัดสินให้ดำเนินคดีกับ ผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยนั้น อย่างรวดเร็วเหมือนกรณีอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ตัดสินด้วยความรวดเร็วฉับไว รู้ทั้งรู้ว่าคดีนี้หากไม่รับตัดสินจะเกิดความเสียหาย มีการชะลอเรื่อง ดึงเรื่อง จากคนในคณะกรรมการหลายครั้งหลายหน สาธารณชนเห็นเป็นที่ประจักษ์ ดึงเรื่องจนกระทั่งมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่ง
ต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ได้ตัดสินให้มีความผิด ส่งผลให้มีการเลือกตั้งซ่อม ที่จะถึงในวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2552 เสียเงินงบประมาณในการเลือกตั้งหลายร้อยล้านบาท สิ้นเปลืองทรัพยากร บุคคล และสิ่งของ ในการเลือกตั้งอีกหลายพันล้านบาท
กรณีนี้ คณะกรรมการไม่ชอบธรรม ชุดนี้ ยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ ไล่ตั้งแต่หัวจรดหาง เนื่องจาก ข้อเท็จจริง สาธารณชน รู้ร่วมกันว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดคณะกรรมการชุดดังว่าขึ้นมาหลังจากการปฏิวัติรัฐประหาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เคยได้มีการสรุปคดี ไปสู่ชั้นอัยการไปแล้ว มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง 7 ราย 1 ในนั้นคือ ผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยนั้น!!!
ดังนั้นการกระทำที่มีการดึงเรื่อง โยกโย้ แกล้งสอบสวนอย่างไม่ตรงไปตรงมา จนทำให้ชาติเกิดความเสียหาย ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่นั้น จึงน่าจะเข้าข่ายการเว้นหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เนื่องจากมีการเขียนนิรโทษกรรมเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 309 จึงพ้นผิด
วันนี้สาธารณชน จึงต้องตั้งคำถามกับรัฐบาล ไล่ตั้งแต่หัวจรดหาง เหมือนกันว่า การแต่งตั้ง หัวหน้าคณะกรรมการไม่ชอบธรรม ไปดำรงตำแหน่งใหญ่โตในกระทรวงยุติธรรม นี้ เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ หรือ ต้องการตอกย้ำและป่าวประกาศในสาธารณชนรับรู้ว่าเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มก๊วนเดียวกัน
ครม.มาร์ค 1 มี ต้นทุนต่ำ ภาพลักษณ์ต่ำ กว่าทุกๆ รัฐบาล ยิ่งกระทำการเย้ยอำนาจปวงประชามหาชน ยอมรับคนนอกกระบวนการประชาธิปไตย ตอกย้ำความคิด อยุติธรรม เล่นพรรคเล่นพวก เอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือทำร้ายทำลายคนต่างพวกและช่วยเหลือพวกเดียวกัน เช่นนี้... อยู่ยาก !!!
นี่หรือคือ คุณธรรม จริยธรรม และ ธรรมาภิบาล ตามนโยบายรัฐบาล?