ที่มา ประชาทรรศน์
‘ศรีสุข’ ประกาศกร้าว!รื้อแผนสนามบินนานาชาติ 2 แห่ง จ่อยกเลิกดอนเมือง เล็งย้ายฐานการบินรวมศูนย์ที่สุวรรณภูมิแห่งเดียว ‘นกแอร์’ ค้านนโยบายบอร์ดฟื้นฟูฯปัดภาระ ‘เที่ยวบินโลว์คอสต์’ ย้ำปัญหาบานสะพรั่ง-เม็ดเงินลงทุนเฟส 2 ไร้ความชัดเจน
นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางอากาศฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ (8 ม.ค.) ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายหลักในการบริหารท่าอากาศยานเดียวโดยใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลัก ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองจะใช้สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน หรือใช้สำหรับเครื่องบินเช่าเหมาลำแต่ไม่ใช่เที่ยวบินประจำปกติ
ส่วนสายการบินประจำที่ทำการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในขณะนี้ ก็จะต้องย้ายมาให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาชัดเจนว่าจะต้องย้ายเมื่อใด เพราะต้องตรวจดูความพร้อมของสายการบิน ขณะเดียวกันยังต้องรอการติดต่อประสานงานกับบริษัทผู้ผลิตและซ่อมเครื่องบินก่อนว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้เมื่อใด หากแผนงานด้านอุตสาหกรรมการบินมีความชัดเจน ก็จะได้ประสานกับสายการบินเพื่อย้ายท่าอากาศยานต่อไป
เช่นเดียวกับ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพร้อมให้บริการที่จะให้ 3 สายการบินที่บินอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง กลับมาบินที่สุวรรณภูมิได้ทันที ซึ่งขึ้นอยู่กับสายการบินว่าจะมาเมื่อไหร่ โดยมั่นใจว่าจะสามารถจัดการบริหารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ ซึ่งคงมีเพียง 1 - 2 ชั่วโมงเท่านั้น ที่เป็นช่วงผู้โดยสารหนาแน่น ส่วนการดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 จะมีการเสนอเข้า ครม.อีกครั้งในเร็วๆ นี้
ขณะที่ นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และยืนยันจะไม่มีการย้ายฐานปฏิบัติการบินกลับไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแน่นอน และพร้อมจะเข้าชี้แจงทำความเข้าใจกับนายศรีสุข โดยให้เหตุผลว่าการที่จะให้สายการบินย้ายกลับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในขณะนี้จะมีผลเสียถึง 3 ข้อ
“หลักๆ ก็คือ ต้นทุนในการย้ายฐานปฏิบัติการบินที่สายการบินแต่ละแห่งต้องแบกรับในแต่ละครั้งเป็นวงเงินสูง 10-20 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเองขณะนี้ก็ยังไม่มีความพร้อมหากจะมีเที่ยวบินไปทำการบินขึ้น-ลงเพิ่มขึ้น และ ในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินประสบวิกฤติในการให้บริการนั้น ภาครัฐควรหาแนวทางให้ภาคเอกชน และสายการบินต่างๆ สามารถลดต้นทุนในการบริหารงานมากกว่าที่จะเปลี่ยนนโยบายไป-มา และทำให้เอกชนต้องมีต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น” ซีอีโอนกแอร์ ระบุ