ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : คิดในมุมกลับ
โดย พญาเย็น
แน่นอนว่าเหตุเพลิงไหม้ผับดังย่านเอกมัยที่กำลังเป็นข่าวใหญ่อยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดครั้งแรกและยิ่งไม่ใช่ครั้งแรกในรอบ 2-3 ปี เพราะเมื่อกลางปี 2549 ก็เกิดโศกนาฏกรรมในสถานบันเทิงยามราตรีแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา ซึ่งกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 50 ราย สร้างความสะเทือนใจและตื่นตระหนกไปทั่วทั้งวงการ ทั้งวงการสถานบันเทิงและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
สิ่งที่ตามมาในครั้งนั้น ย่อมไม่พ้นการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ระดับสูง สั่งการให้เข้มงวดด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานบริการที่เหลือ เพื่อที่ว่าเหตุการณ์โศกสลดซ้ำซากจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก...
แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังเกิดเหตุการณ์ทำนองคล้ายกัน ผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตไปเหมือนกัน เพื่อที่จะตรวจพบว่ามีความหละหลวมไม่ปลอดภัยอันเป็นสาเหตุของการสูญเสียเหมือน ๆ กัน ไม่เพียงต้องตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองซึ่งมีหน้าที่ดูแลกวดขันโดยตรง ยิ่งต้องถามผู้ประกอบการว่าให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน หรือคิดว่าโชคร้ายจะไม่เกิดขึ้นกับสถานที่ของตัวเอง
นายนิยม กรรณสูต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ปัจจุบันสถานบริการหรือแม้แต่อาคารพาณิชย์ทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ เกือบร้อยละ 90 ยังมีความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน บันไดหนีไฟหรือทางหนีไฟไม่มีการติดตั้งสัญลักษณ์บ่งบอกให้ผู้ใช้บริการทราบ บางแห่งล็อกกุญแจประตูหนีไฟ เพราะกลัวลูกค้าหนี ไม่ยอมจ่ายเงิน อีกทั้งสถานประกอบการในปัจจุบันมีวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย ทั้งพรม ฝ้า เพดาน กำแพงบุผนังกันเสียง และเฟอร์นิเจอร์ภายในร้าน ซึ่งวัสดุเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
และที่สำคัญสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตั้ง “ถังดับเพลิง” ส่วนสปริงเกิลหรือหัวฉีดดับเพลิงในอาคารที่ติดตั้งบนฝ้าเพดาน บางแห่งก็มี บางแห่งไม่มี แม้แต่สถานที่ที่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ก็ไม่แน่ว่ามีการตรวจสอบว่าสามารถใช้งานได้จริงอย่างสม่ำเสมอหรือไม่
ระยะนี้คงจะได้ยินเรื่องการเข้มงวดกับการออกใบอนุญาตแก่สถานประกอบการ ซึ่งหวังว่าจะ “เอาจริง” ไปนานๆ อย่างน้อยคำว่า “วัวหายล้อมคอก” ก็ดีกว่า “คอกหาย” จนต้องล้อมใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าก็แล้วกัน