ที่มา ไทยรัฐ
นักการเมืองชุดแรกที่ถูกเว้นวรรคการเมือง 5 ปี จำนวน 111 คนนั้น คือ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จากนั้นก็มีชุดที่ 2 อีก 109 คน คือ กรรมการบริหารพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย ทำให้นักการเมืองที่ถูกเว้นวรรคทั้งหมด 220 คน
ต้องยอมรับความจริงว่า นักการเมืองจำนวนนี้คือทรัพยากรทางการเมืองสำคัญของประเทศนี้ เมื่อต้องตกอยู่ในภาวะอย่างนี้ จึงต้องดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกจองจำ
จริงๆแล้วหลังจากที่พรรคพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาลก็มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาทางการเมืองที่มีการคัดค้านต่อต้าน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนั้นไม่ได้มุ่งหวังจะให้ นักการเมืองหลุดพ้นจากการเว้นวรรค แต่เป็นผลพวงทางอ้อมมากกว่า
เพราะเป้าจริงๆไปอยู่ที่ “นายใหญ่” มากกว่า
ดังนั้น การต่อต้านจึงเข้มข้นและทำให้รัฐบาลต้องหยุดเรื่องนี้โดยทันทีและไม่กล้าเสนอแม้กระทั่งการจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม
อย่างไรก็ดี มาถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีการเตรียมการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สอดรับกับแนวของสังคมที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองซึ่งก็มีหลายแนวคิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเสนอให้นายกฯเลือกบุคคลที่ได้รับการยอมรับขึ้นมาคนหนึ่งเพื่อดำเนินการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองชุดหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่
แต่นายกฯไม่เอาด้วย
พูดง่ายๆ รัฐบาลตอนนั้นแรกๆ คงคิดจะดำเนินการเองเพียงแต่ โอนให้เป็นเรื่องของสภา แต่ดูท่าจะไปไม่รอดจึงเลือกที่จะให้มีการตั้ง ส.ส.ร. 3 ขึ้นมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยความจำยอม เพราะเชื่อว่าไม่ทำอย่างนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้แน่
ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ “หมอเหวง” อยู่ในวาระการประชุม และยังมีการเตรียมการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย
เรียกว่าเล่นกันเป็นแผงเลยทีเดียว และหมายมั่นปั้นมือว่าจะสำเร็จในทางใดทางหนึ่ง เพราะเชื่อและมั่นใจว่าเสียงข้างมากจะชี้ขาดได้
แต่สุดท้ายก็เรียบร้อย ไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อไปได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ทุกอย่างจึงต้องจบไปโดยปริยาย
เมื่อมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ย้ายขั้วไปอยู่กับประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลเดิมและกลุ่มเพื่อนเนวินจึงได้เป็นรัฐบาล และมีการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนเนวินและพรรคมัชฌิมาธิปไตยเดิมภายใต้ชื่อพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคอันดับ 2 รองจากประชาธิปัตย์ในรัฐบาล
เรียกว่ามีพลังกล้าแข็งพอสมควร พูดง่ายๆหากไม่เอากับประชาธิปัตย์ ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ อำนาจต่อรองจึงมากพอสมควร
และทันทีที่เดินหน้า พรรคภูมิใจไทยก็มีการจุดพลุเสนอแนวคิดนิรโทษกรรมออกมาทันที แม้จะยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมแต่ก็ทำให้ประชาธิปัตย์คิดหนักเหมือนกัน
นายกฯบอกว่าจะให้คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งยังไม่ได้เห็นหน้าตาว่ามีใครกันบ้าง
คณะกรรมการฯชุดนี้จะทำหน้าที่ศึกษา ตรวจสอบ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงอย่างไรบ้าง ยึดแนวทางมาจากผลการศึกษาของ กมธ.ที่ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น แนวคิดนิรโทษกรรม รัฐบาลคงไม่ดำเนินการแน่
แต่จะให้คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองศึกษาว่าควรจะแก้ไขอย่างไรเพื่อทำให้การเมืองดีขึ้น และเห็นว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวพันกับการ “ยุบพรรค” ก็จะมีผลต่อนักการเมืองที่ถูกเว้นวรรค ดังนั้น กว่าจะเรียบร้อยก็คงอีกนาน เพราะประชาธิปัตย์ไม่มีความจำเป็นอะไรและยังมีความได้เปรียบในเรื่องนี้อยู่
และเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในรัฐบาลแน่.
“สายล่อฟ้า”