ที่มา ไทยรัฐ
เล่นเอามึนตึบไปตามๆกัน สำหรับงานหลักชิ้นแรกของรัฐบาลผสม ภายใต้แกนนำของท่านนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกี่ยวกับงบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ไหนว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยม และคัดค้านนโยบายแนวนี้ มาตลอด...แต่พอมาเป็นรัฐบาลเอง ตูมแรกมีมติจ่ายเงินรายหัวให้มนุษย์ เงินเดือนที่มีรายได้ตํ่ากว่า 15,000 ต่อเดือน คนละ 2,000 บาททันที
ภายในวงเงินทั้งสิ้น 19,000 ล้านบาท โดยจะมีผู้คนได้รับผลานิสงส์ทั้งสิ้น 9 ล้านคน
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงดังกระหึ่มขึ้นทั้งจากคนรักและไม่รักอภิสิทธิ์ ด้วยประการฉะนี้
ที่มีความรักความเอื้ออาทรกันอยู่ก็แค่บ่นเบาๆ พอสังเขป
ส่วนกลุ่มที่ไม่รักและบางครั้งยังตามขว้างไข่ด้วยไม่ต้องพูดถึงละ ทั้งตำหนิติติง ทั้งเยาะเย้ยไยไพว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
สำหรับผมเองนั้น แม้จะเข้าใจในเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ที่นายกฯ อภิสิทธิ์อธิบายเสริมและที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณ กรณ์ จาติกวณิช อธิบายภายหลัง
ว่า สหรัฐฯเองก็ทำ และในตำราเศรษฐศาสตร์บางเล่มก็บอกว่าในสถานการณ์ตกตํ่าสุดขีด แม้แต่การโปรยเงินให้ประชาชน ที่เรียกว่า “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” (เปรียบเหมือนขึ้น ฮ.โปรย) ก็ยังต้องทำ
จริงๆ แล้วทฤษฎีที่เก่ากว่านั้น สอนไว้ว่าวิธีปลุกเศรษฐกิจที่ง่ายที่สุดก็คือ...เอาเงินมาก้อนหนึ่งไปจ้างบุคคลกลุ่มหนึ่งขุดบ่อ...พอขุดเสร็จก็จ้างอีกกลุ่มมาถมบ่อ
ถ้าเงินยังไม่หมุนก็ให้ขุดแล้วกลบต่อไปอีกสักหลายๆบ่อ มันก็จะหมุนเอง และในที่สุดเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ยุคสมัยขุดบ่อ ถมบ่อ หรือยุคขึ้นเฮลิคอปเตอร์โปรย...ล้วนได้รับการคัดค้านเสมอ
เพราะอย่างที่ผมเคยเขียนยํ้าแล้วยํ้าอีกในคอลัมน์นี้ว่า ลงท้ายแล้วเงินทุกดอลลาร์ ทุกเซนต์ หรือทุกบาททุกสตางค์ ที่รัฐบาลนำมาโปรยปราย นั้น...ล้วนเป็นเงินภาษีอากรของราษฎร
รัฐบาลอาจจะใช้วิธียืมมาก่อน เช่น ออกพันธบัตรต่างๆ อย่างตรงไป ตรงมา หรือแอบพิมพ์เงินเพิ่มผ่านธนาคารกลางอย่างลับๆ
แต่ในที่สุดก็จะต้องใช้คืน...ซึ่งในการชดใช้คืนก็จะต้องมาถอนขนห่าน เอาจากประชาชนตาดำๆ ทั้งประเทศนี่แหละ
ดังนั้น ทุกครั้งที่จะนำเงินของประชาชนไปใช้ ไม่ว่าเงินปัจจุบันหรือเงินอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
เมื่อ 2-3 เดือนก่อนเราคงได้ยินรัฐสภาสหรัฐฯ เถียงกันหน้าดำหน้าแดงเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 700,000 ล้าน หรือ 800,000 ล้านเหรียญ ที่จะไปช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ซวดเซเพราะสถาบันการเงินต่างๆ
เพราะท่าน ส.ส. และ ส.ว.สหรัฐฯ หลายท่านไม่เห็นด้วยที่จะไปอุ้มสถาบันการเงินที่บริหารอย่างชุ่ยๆ ปันเงินกันสนุกมือจนประเทศชาติเสียหาย
ขนาดคุณบุชบอกว่าถ้าไม่ช่วยประเทศพังทั้งประเทศนะ...ท่าน ส.ส. และ ส.ว.เหล่านี้ยังบอก พังก็พังซี คุณจะให้ผมทำในสิ่งที่ผิดหลักการได้อย่างไร
กว่าจะผ่านสภาทั้ง 2 ได้ ดูเหมือนจะถูกตีตกจนต้องเสนอเข้ามาใหม่ ว่ากันหลายยก
ผมจึงได้นำเสนอผ่านคอลัมน์นี้ไปว่าแม้จะถูกต้องแล้วที่รัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทในการเป็นแกนนำเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
แต่ในการลงทุนหรือในการกระตุ้นก็จะต้องดูด้วยว่าจะเอาเงินไปใช้ทำอะไรและใช้อย่างไร? จะมาทำมั่วๆ มิได้เด็ดขาด
ของเราก็เช่นเดียวกัน ก่อนจะทุ่มเทเงินทองจะต้องคิดให้รอบคอบและคิดหลายๆด้าน เพราะถึงอย่างไรเงินก้อนนี้ก็ยังเป็นหยาดเหงื่อของประชาชน ที่นายกรัฐมนตรีในฐานะนักเศรษฐศาสตร์จะต้องดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จ่ายเร็วนั้นถูกต้อง..แต่ก็จะต้องถูกระเบียบและถูกทำนองคลองธรรมด้วย คือไม่เป็นการทำให้เสียทั้งวินัยการคลังและวินัยทางเศรษฐศาสตร์ของชาติ
โครงการลดแลกแจกแถม หรือโครงการประชานิยมมีส่วนมากในการทำลายวินัยทางเศรษฐศาสตร์ของประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนรอแจก จนไม่อยากทำงานทำการ
ไม่ใช้นโยบายนี้เลยดีที่สุด แต่ถ้าจะใช้บ้าง ก็ขอให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง และอย่าใช้บ่อยๆ หรือนานๆอย่างที่หลายๆ ฝ่ายเตือนไว้
เอาเป็นว่าเริ่มยกที่ 1 อภิสิทธิ์ ศิษย์ชวน ออกหมัดกว้างไปนิดหนึ่ง ยังไม่เข้าเป้าเท่าไรนัก...ถือซะว่าเป็นมวยใหม่อาจตื่นเวที...หวังว่ายก 2 ยก 3 คงจะชกเข้าฟอร์มมากขึ้นนะครับ.
“ซูม”