ที่มา ไทยรัฐ
จากผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ครั้งใหญ่
22 จังหวัด 26 เขตเลือกตั้ง 29 คน
ปรากฏว่าพรรคชาติไทยพัฒนาได้ไป 10 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 7 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย 5 ที่นั่ง พรรคประชาราช 4 ที่นั่ง พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 ที่นั่ง
สรุปแล้ว ซีกรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้แต้มบวก 20 เสียง
ในขณะที่ซีกฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาราช ได้ ส.ส.เพิ่ม 9 เสียง
ส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มจากเดิม 235 เสียง เป็น 255 เสียง
ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย มีเสียงเพิ่มขึ้นจาก 198 เสียง เป็น 207 เสียง
ทำให้รัฐบาลมีเสียง ส.ส.สนับสนุนมากกว่าฝ่ายค้าน 48 เสียง
แน่นอน จากสมการตัวเลขทางคณิตศาสตร์ จำนวน ส.ส.ที่ทิ้งห่างกัน 48 เสียง ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในสภาผู้แทนราษฎรมั่นคงมากขึ้น
ไม่ต้องกังวลในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายต่างๆที่สำคัญจำเป็นต่อการบริหารแก้ไขปัญหาของประเทศ
รวมไปถึงกรณีคอขาดบาดตาย ในการโหวตลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านประกาศจองกฐินล่วงหน้าเอาไว้
พูดง่ายๆ ด้วยแต้มต่อที่ได้จากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าทำงาน หายใจหายคอได้คล่องขึ้น
สำหรับทางด้านพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคการเมืองเสียงอันดับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่โดนพลิกขั้วต้องกลายมาเป็นแกนนำฝ่ายค้าน
ผลการเลือกตั้งซ่อม ไม่เข้าเป้า ขาดทุนไปหลายเก้าอี้
สาเหตุหลักก็เพราะพรรคตกอยู่ในสภาพขาดหัว ขาดผู้นำพรรคที่มีศักยภาพ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ก็เป็นเพียงเข้ามานั่งขัดตาทัพ ไม่ได้เป็น ส.ส.
รอการปรับโครงสร้าง หาหัวใหม่มาเสียบ
เพราะแม้แต่ในขณะนี้จะหาตัวบุคคลมาทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านก็ยังหาลำบาก แต่โดยสภาพก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ครั้งใหญ่ 22 จังหวัด 26 เขตเลือกตั้ง 29 คน ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ
ต้องยอมรับว่า มาตรการล้อมคอกหลายชั้น เพื่อป้องกันพฤติกรรมทุจริต ซื้อสิทธิ ขายเสียง โกงเลือกตั้ง
โดยเฉพาะการใช้ยาแรง สั่งลงโทษยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคที่พัวพันกับการทุจริตเลือกตั้ง ที่มีให้เห็นกันมาแล้วถึง 2 รุ่น
ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ในครั้งนี้ พอสมควร
เพราะเห็นได้ชัดว่า มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.เข้ามาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) น้อยลง
โดยล่าสุด กกต.ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการแล้ว 20 คน
เหลืออีก 9 คน ต้องรอลุ้นผลการตรวจสอบหลักฐานจาก กกต. เนื่องจากมีปัญหาถูกร้องคัดค้านผลการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ จากภาพรวมในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ผ่านมา ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่สังคมยังพอมีความหวังที่จะได้ เห็นการปฏิรูปการเมือง
เพราะทุกคนต้องการเห็นการเมืองไทย เป็นไปด้วยบริสุทธิ์โปร่งใส
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทุกฝ่ายพยายามเดินไปให้ถึงความฝันตรงนั้น อยากเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
อยากเห็นนักการเมืองที่เป็นคนดี มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของสังคม
แต่ในสภาพความเป็นจริง ทางการเมืองที่ปรากฏ โดยเฉพาะล่าสุดกับการเปิดตัว-อย่างยิ่งใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ที่โรงแรมสยามซิตี้
ภาพที่ออกมาสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการรวมตัวของบรรดากลุ่มก๊วนการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์
ซึ่งเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ ส.ส.ที่ไม่โดนเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต้องหาพรรคใหม่ สังกัดภายใน 60 วัน
สำหรับส่วนผสมที่เข้าร่วมในพรรคภูมิใจไทย ที่เปิดหน้าเปิดตัวเผยโฉมออกมาในเบื้องต้นประกอบด้วย
ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ในสังกัดของนายเนวิน ชิดชอบ จำนวน 22 คน ส.ส.พรรคมัชฌิมาธิปไตยเดิม ในสังกัดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน จำนวน 8 คน และ ส.ส.ในสังกัดของนายสรอรรถ กลิ่นประทุม จำนวน 2 คน
รวมแล้ว 32 คน ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.เป็นอันดับสองในซีกรัฐบาลรองจากพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่มีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นที่รู้กันว่าเขาคือแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม 16 ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต
เมื่อเข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทย เขาก็ ผงาดขึ้นมาอยู่แถวหน้าในฐานะหัวหน้ากลุ่มบุรีรัมย์ ถือเป็นขุนพลเลือกตั้งคนสำคัญในภาคอีสาน
ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
ต่อมาเมื่อพรรคไทยรักไทย ถูกยุบ ต้องแปลงสภาพมาเป็นพรรคพลังประชาชน แม้นายเนวินต้องติดล็อกบ้านเลขที่ 111 โดนเว้นวรรคการเมือง 5 ปี
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เขายังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพรรคพลังประชาชน ผ่านเครือข่าย ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน
และเมื่อพรรคพลังประชาชนโดนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดสั่งยุบพรรค ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินก็กลายเป็นตัวหลักสำคัญที่ทำให้เกิดการพลิกขั้วการเมือง
โหวตเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐ-มนตรี สลับขั้วหนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
และล่าสุด นายเนวินได้นำ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน 20 กว่าคน มาเข้าร่วมกับพรรคภูมิใจไทย
ขณะเดียวกันก็ใช้สายสัมพันธ์กับเพื่อนกลุ่ม 16 เดิม ดึง ส.ส.ในสังกัดของนายสรอรรถ ย้ายมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย
ยังไม่รวมถึงการต่อสายเตรียมดึงกลุ่มบ้านริมน้ำของนายสุชาติ ตันเจริญ และกลุ่มโคราชของว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เกลอเก่ากลุ่ม 16 มาผนึกในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น นายเนวินยังสามารถดึงกลุ่มทุน “ชิโนไทย” นายอนุทิน ชาญวีรกูล อดีต รมช.สาธารณสุข มาอยู่ข้างกาย
โดยวางตัวนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย พ่อของนายอนุทิน เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ถือว่าฤทธิ์เดชของ “เนวิน” ไม่ธรรมดา
สำหรับกลุ่มมัชฌิมาธิปไตยเดิม ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นหัวเรือใหญ่ ต้องยอมรับว่า เขาเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคไทยรักไทยในยุคเรืองอำนาจ
ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหาร เขาก็เบนเข็มออกมาจัดตั้งกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย ชูนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นทางเลือกใหม่ ได้เสียงขานรับมากพอสมควร
แต่สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
ทั้ง “สมศักดิ์-สมคิด” ติดล็อกบ้านเลขที่ 111 แต่นายสมศักดิ์ก็ยังมีบทบาทอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนพรรคมัชฌิมาธิปไตย
จนกระทั่งมีการยุบพรรครอบ 2 พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่มีนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นหัวหน้าพรรค โดนยุบทิ้งไปด้วย
จึงตั้งพรรคภูมิใจไทยขึ้นมารองรับ ส.ส.ของพรรคมัชฌิมาฯ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายทุนใหญ่
โดยมีเครือข่ายเดิมของนายสมคิดให้การสนับสนุน รวมทั้งนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เลขาธิการพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ก็เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันอยู่
แน่นอน การรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนเนวิน กลุ่มนายสมศักดิ์ กลุ่มนายสรอรรถ และอดีตเพื่อนกลุ่ม 16 ในพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้
ถือเป็นการเคลื่อนไหวทาง การเมืองที่น่าจับตาอย่างยิ่ง
เพราะการขยับตัวครั้งนี้ ทำให้พรรคภูมิใจไทยกลายเป็นพรรคอันดับสองในรัฐบาล มีเสียงอยู่ในมือ 30
กว่าเสียง
ขณะเดียวกัน ก็เป็นพรรคที่ได้ดูแลกระทรวงหลักๆ ระดับเกรดเอ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์
กลายเป็นพรรคที่ถือดุลการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้เอกซเรย์เข้าไปในแต่ละกลุ่มก๊วนของพรรคภูมิใจไทยแล้ว เราขอบอกว่า
ไม่ใช่สินค้าใหม่
แต่เป็นสินค้าเก่าที่ติดป้ายใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพูดถึงนักการเมืองกลุ่ม 16 ถ้าย้อนกลับไปดูยุคก่อนหน้านี้ ไปอยู่ตรงไหนก็ร้องยี้กันหมด
บางคนเป็นแค่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ผู้คนยังส่ายหน้ากันทั้งเมือง
แน่นอน หากเป็นในยามที่ประเทศไม่ได้ผ่านความบอบช้ำจากปัญหาความแตกแยกและสงครามเผชิญหน้า
การรวมตัวของกลุ่มก๊วนการเมืองในพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้ สังคมคงไม่ให้เรตติ้ง ไม่ให้ความสำคัญ
แต่ในยามที่ประเทศอยู่ในห้วงวิบากกรรม ผ่านความบอบช้ำ ขาดแคลนบุคลากรทางการเมือง
สังคมก็ยังให้โอกาสในการทำงานพิสูจน์ตัวเอง เพราะต้องการให้ประเทศพ้นจากวิกฤติ
แต่ที่สำคัญ เหนืออื่นใด ก็คือ
กลุ่มก๊วนการเมืองเหล่านี้ จะกลับตัวกลับใจได้จริงหรือเปล่า.
“ทีมการเมือง”