ใครที่ติดตามข่าวคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)คงสับสนพอสมควรว่า เกิดอะไรขึ้น
คดียุบพรรคแบ่งออกเป็น 2 คดี ได้แก่
หนึ่ง การรับเงินอุดหนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) 29 ล้านบาท แต่ไม่นำไปทำป้ายโฆษณาหาเสียง แต่นำไปแจกจ่ายให้แก่คนสนิทและคนใกล้ชิดของนายประดิษฐ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น(ปี 2547-2548) กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ
สอง คดี ปกปิด ซ่อนเร้น ไม่เปิดเผยการรับเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) 258 ล้านบาทผ่านบริษัทผ่านบริษัท เมซไซอะ บิชิแนลแอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ซึ่ง กกต.ยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
แต่อัยการสูงสุดตีสำนวนกลับเพราะมีข้อบกพร่องถึง 8 ข้อโดยเฉพาะไม่มีหลักฐานทางการเงินที่แสดงให้เห็นว่า มีกรรมการบริหาร ปชป.รับเงินจำนวนดังกล่าว
นอกจากปากคำของพยานคือ นายประจวบ สังขาว เจ้าของบริษัท เมซไซอะและข้อสันนิษฐานตามพยานแวดล้อม
หลักฐานเพียงแต่โยงถึงนายธงชัย คลศรีชัย ลูกพี่ลูกน้องของนายประดิษฐ์ ทำให้อัยการสูงสุด ต้องการสอบสวนการเคลื่อนไหวทางบัญชีของธงชัยเพิ่มเติม
จากคำวินิจฉัยสั่งการของ กกต.เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 ใช้วิธีการสันนิษฐานเอาง่ายๆว่า จากพยานเอกสารและพยานบุคคลรับฟังได้ว่า นายธงชัย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายประดิษฐ์ โดยบิดานายประดิษฐ์เป็นลุงของนายธงชัย ประกอบกับนายธงชัยกับนายประดิษฐ์ มีรายชื่อปรากฏในทะเบียนบ้านหลังเดียวกัน
จากคำให้การของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้า ปชป.ในขณะนั้น ให้การรับว่า นายธงชัยมาช่วยงานนายประดิษฐ์ สอดคล้องกับคำให้การของกรรมการผู้จัดการบริษัทคมมาศและกรรมการผู้จัดการบริษัท เม็คเนทชายส์ ที่ให้การว่า ในการรับจ้างทำป้ายให้ ปชป.ผ่านการประสานงานและสั่งการโดยนายธงชัย และเมื่อส่งมอบงานแล้วยังรับเงินจากนายธงชัย ซึ่งมีห้องทำงานอยู่ชั้น 1 ของพรรค มีป้ายชื่อและมินิเซฟในห้อง และเคยเห็นนายประดิษฐ์อยู่ในห้องทำงานนายธงชัย เชื่อว่า นายธงชัยเป็นผู้ช่วยเหลือด้านการเงินของนายประดิษฐ์
จากความเชื่อมโยงดังกล่าวข้างต้นรับฟังได้ว่า นายธงชัยช่วยงานนายประดิษฐ์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านการเงินของพรรคและการช่วยเหลือดังกล่าวเข้าข่ายตัวแทนเชิด
ดังนั้นนายประดิษฐ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค จึงไม่อาจปฏิเสธความผิดรับผิดชอบได้ ขณะเดียวกันนายประดิษฐ์ได้กระทำหรือเชิดให้ผู้อื่นกระทำในฐานะเลขาธิการพรรคซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคย่อมพ้นความรับผิดชอบของ ปชป.มิได้
นอกจากนั้น อัยการสูงสุดเห็นว่า ยังมีปัญหาข้อกฎหมายว่า การรับเงินบริจาคโดยไม่เปิดเผย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 51 มีโทษเฉพาะตัวของหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่น้อยกว่า 3 เท่าฯ หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี แต่ไม่มีโทษยุบพรรค
แต่ กกต.กลับตีขลุมอ้างว่า เงินที่ ปชป.รับมา เป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเอามาใช้ในการเลือกตั้ง อันเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงมีโทษถึงยุบพรรค
แต่ กกต.ลืมไปว่า คดีที่มีการกล่าวหาผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีนว่า ยักยอกเงิน 258 ล้านบาทอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั้น ยังไปไม่ถึงไหน(ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยซ้ำ) อยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
แต่กลับอ้างว่า การนำเงินมาใช้ของทีพีไอมาใช้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้
ความบกพร่องของสำนวนดังกล่าว ถ้า กกต.ไม่หาพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนแล้ว ขืนดันทุงรังยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าให้ศาลไปไต่สวนเพิ่มเติมเอาเองนอกจากเป็นการโยนภาระให้กับศาลแล้ว ยังแสดงให้เห็นความไม่รับผิดชอบในการทำสำนวนอีกด้วย
เมื่อเห็นมาตรฐานการทำงานของ กกต.ในคดี 258 ล้านบาทและอ่านคำร้องคดีเงินอุดหนุนของ กกต.29 ล้านบาท ตามสมควรแล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมจึงมีการปล่อยข่าวว่า มีการทุบกระจกรถพนักงานสอบสวน ฉกสำนวนคดียุบพรรค และพยายามโยงว่าเป็นฝีมือของที่ปรึกษาของตุลาการรัฐธรรมนูญรายหนึ่ง ทั้งๆที่วัน เวลาซึ่งถูกทุบรถนั้น กกต.ได้ยื่นคำร้องให้ต่อศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้วซึ่งหมายความว่า สำนวนและพยานหลักฐานทั้งหมดอยู่ในมือของตุลาการ และได้ส่งให้ ปชป.ในฐานะผู้ถูกร้องเรียบร้อยแล้ว
การเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยโดยร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 คนถอนตัว ยิงตอกย้ำให้เห็นว่า เป็นการกดดันเพื่อให้ศาลรัฐธรรมมีคำสั่งยุบ ปชป. ทั้งๆที่สำนวนที่ยื่นต่อศาลอาจมีข้อบกพร่องมากมาย ตามมาตรฐานฝีมือของ กกต. จะได้เที่ยวอ้างว่า ศาลมี 2 มาตรฐาน
ทั้งๆที่อาจเป็นเพราะ กกต.ไร้ฝีมืออย่างที่เห็นๆกันอยู่