ที่มา ไทยรัฐ
การเมืองเข้าสู่ช่วงพักรบชั่วคราว
รัฐสภาปิดสมัยประชุม การปะทะคารมระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ลดดีกรีการเผชิญหน้าลงไป
ในขณะที่การเมืองนอกสภาก็ลดความร้อนแรงลงระดับหนึ่ง เมื่อแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดนกระชับพื้นที่ จนต้องประกาศสลายม็อบ เสื้อแดง มอบตัวสู้คดี
ยิ่งห้วงนี้เข้าสู่บรรยากาศมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้กระแสการเมืองโดนกระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์กลบไปโดยปริยายอย่างน้อย 1 เดือน
ยามนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมทั้งกลุ่มการเมืองนอกสภา จะได้เว้นวรรค พักหายใจหายคอกันสักระยะ
รอเวลาที่จะเปิดศึกกันต่อ หลังจากผ่านพ้นมหกรรมฟุตบอลโลก
โดยเฉพาะเมื่อเวทีสภาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติในเดือนสิงหาคม จะเป็นช่วงที่การเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
เพราะมีกฎหมายสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2554 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระสองและสาม จ่อรออยู่
ที่สำคัญ การลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถือเป็นจุดตายของรัฐบาล เพราะถ้าไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ
รัฐบาลก็อยู่ต่อไปไม่ได้ มีทางเลือกแค่ 2 ทาง ถ้านายกฯไม่ยุบสภา ก็ต้องลาออก
แน่นอน ถ้าเป็นรัฐบาลในสถานการณ์ปกติ การโหวตลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ คงไม่มีปัญหาอะไรที่ต้องหวั่นวิตก
เพราะรัฐบาลเป็นฝ่ายกุมเสียงข้างมาก เมื่อมีเสียงสนับ-สนุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาฯ การลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จึงไม่ใช่เรื่องยาก
แต่ในสภาวะปัจจุบัน การเมืองต่อสู้กันอย่างรุนแรง มีการแย่งชิงอำนาจระหว่างการเมือง 2 ขั้ว อย่างเอาเป็นเอาตาย
ขั้วหนึ่ง คือ ฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายกฯอภิสิทธิ์
อีกขั้วหนึ่ง ก็คือ ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ภายใต้บัญชาการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
จากภาพที่ปรากฏก็อย่างที่เห็นๆกัน "นายใหญ่" เดินเกมต่อสู้ทุกรูปแบบโดยไม่เลือกวิธีการ เพื่อช่วงชิงอำนาจคืน
เปิดแนวรบทั้งนอกสภาฯในสภาฯ
ศึกนอกสภาฯ บงการเกมผ่านแกนนำกลุ่ม นปช. ปลุกเร้าปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดงให้ออกมาชุมนุมกดดันให้ยุบสภาฯ
ขยายม็อบจากสะพานผ่านฟ้าฯ มายึดสี่แยกราชประสงค์ มุ่งเป้าโค่นรัฐบาล
สถานการณ์ลุกลามยืดเยื้อ จนรัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องตัดสินใจใช้กำลังทหารกระชับพื้นที่รอบแยกราชประสงค์
จนเกิดการปะทะกับการ์ด นปช.สายฮาร์ดคอร์ และกองกำลังติดอาวุธที่แฝงอยู่ในม็อบเสื้อแดง ยิงกันสนั่นเมือง
ทำให้เกิดความสูญเสีย มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
ตามมาด้วยเหตุการณ์จลาจลเผาบ้านเผาเมือง วอดวายเสียหายยับเยิน ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศไทย
สถานการณ์การต่อสู้ครั้งนี้ จบลงด้วยการที่แกนนำม็อบเสื้อแดงประกาศยุติการชุมนุม และเข้ามอบตัวต่อสู้คดีก่อการร้าย ขณะที่แกนนำสายฮาร์ดคอร์บางคนยังหลบหนี
แม้เหตุการณ์ยุติลงไปแล้ว แต่ประเด็นต่างๆของเหตุการณ์ ไม่ได้จบลงไปด้วย เพราะมีการนำมาขยายผลขยายแผลทาง
การเมือง
นำมาสู่การเปิดศึกในสภาฯ โดยฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 5 คน ได้แก่
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม
โดยพุ่งเป้าเน้นโจมตีกรณีการสั่งใช้กำลังทหารกระชับพื้นที่สลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงเป็นหลัก เพื่อหวังผลทางด้านมวลชน ส่วนการอภิปรายฯเรื่องปัญหาการทุจริตคอรัปชันในกระทรวงต่างๆ เป็นเรื่องรองลงไป
อย่างไรก็ตาม แม้ผลการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นายกฯและรัฐมนตรีทั้ง 5 คน ผ่านเกณฑ์คะแนนเสียง
ได้รับความไว้วางใจให้อยู่ในตำแหน่งบริหารราชการต่อไปได้
แต่ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา เมื่อ ส.ส.ในพรรคเพื่อแผ่นดิน บางกลุ่ม 10 กว่าคน ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล กลับลงมติสวน
โหวตลงคะแนนไม่ไว้วางใจ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย
ทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่พอใจอย่างแรง ยื่นคำขาดให้นายกฯอภิสิทธิ์จัดการกับพรรคเพื่อแผ่นดินขั้นเด็ดขาด
จนนำมาสู่การปรับ ครม.ใหญ่ ยึดเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ รมช.คลัง คืนจากกลุ่มโคราชและกลุ่มวังพญานาค พรรคเพื่อแผ่นดิน
โดยยังคงโควตา รมช.ศึกษาธิการ ของ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ จากกลุ่มบ้านริมน้ำพรรคเพื่อแผ่นดินเอาไว้
และยกเก้าอี้ รมช.ศึกษาธิการ ที่เหลืออีก 1 เก้าอี้ ให้นายไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อแผ่นดิน ที่รวบรวม ส.ส.6–7 คน จากพรรคเพื่อแผ่นดิน มาสนับสนุนรัฐบาล
พร้อมทั้งดึงพรรคมาตุภูมิที่มี ส.ส. 3 เสียง เข้าร่วมรัฐบาล มอบตำแหน่ง รมช.คลัง ให้นายมั่น พัธโนทัย รักษาการหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ
รวมทั้งมีการสลับสับเปลี่ยนรัฐมนตรีในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เข้ามาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ เป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็น รมว.แรงงาน นายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เป็น รมว.วัฒนธรรม
แน่นอน การปรับ ครม.ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชัน
แต่เป็นการปรับ ครม.เพื่อทำให้รัฐบาลมีเสียงข้างมาก อยู่รอดต่อไปได้
เป็นการปรับ ครม.แก้ปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาล กรณีพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อแผ่นดิน และปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์เองที่ต้องการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนคนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
ทั้งนี้ จากการที่นายกฯอภิสิทธิ์ตัดสินใจปรับ ครม.ปลดรัฐมนตรีจากกลุ่มโคราชและกลุ่มวังพญานาคในพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่โหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย
ทำให้กระทบต่อเสียงสนับสนุนรัฐบาล เพราะเท่ากับเสียง ส.ส.ซีกรัฐบาลหายไป 18 เสียง
จึงต้องเอากลุ่มของนายไชยยศ ในพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่รวบรวมเสียงได้ประมาณ 6-7 เสียง และดึงพรรคมาตุภูมิ 3 เสียง เข้าร่วมรัฐบาล
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของพรรคร่วมรัฐบาลภายหลังการปรับ ครม.ในครั้งนี้จะประกอบด้วย 6 พรรค 2 กลุ่ม
พรรคประชาธิปัตย์ 171 เสียง พรรคภูมิใจไทย 32 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 25 เสียง พรรครวมชาติพัฒนา 9 เสียง พรรคกิจสังคม 5 เสียง พรรคมาตุภูมิ 3 เสียง กลุ่มบ้านริมน้ำ 7 เสียง กลุ่มดาวกระจายของนายไชยยศ 7 เสียง
รวมแล้วมีเสียงสนับสนุน 259 เสียง จาก ส.ส.ทั้งสภาฯ 474 คน
ในขณะที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. 189 คน พรรค ประชาราช 8 คน รวม 197 เสียง
และหากรวม ส.ส.ของกลุ่มโคราชและกลุ่มวังพญานาคในพรรคเพื่อแผ่นดินอีก 18 เสียง ก็จะมีเสียงรวมทั้งสิ้น 215 เสียง
ชัดเจนว่าฝ่ายรัฐบาลมีเสียงสนับสนุน 259 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯคือ 237 เสียง อยู่ 22 เสียง ถ้าหัก ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีอีก 20 กว่าคน ที่ไม่สามารถโหวตลงมติในเรื่องที่มีส่วนได้เสีย รวมถึงการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ
เสียงสนับสนุนของรัฐบาลจะลดวูบลงไปอีก เหลือไม่เกินครึ่งของสภาฯ
ถ้าถึงเวลาต้องโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ต้องใช้เสียงลงมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งสภาฯ
หากเสียงโหวตออกมาไม่เกินครึ่ง รัฐบาลพังทันที
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลสามารถดึงเสียง ส.ส.ที่ฝากเอาไว้ในพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาราช รวมทั้ง ส.ส.กลุ่มโคราชและกลุ่มวังพญานาคบางส่วน ที่อ้างว่ายังสนับสนุนรัฐบาล ให้มาโหวตสนับสนุนรัฐบาลได้จริง ก็คงรอดตัวไปแบบเฉียดฉิว
"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอบอกว่า จากสถานการณ์ในเรื่องเสียงสนับสนุนของรัฐบาลในสภาฯ ที่มีปัญหาปริ่มน้ำ
เมื่อผ่านห้วงฟุตบอลโลกฟีเวอร์ไปแล้ว เปิดสภาฯสมัยหน้า ในเดือนสิงหาคม ที่จะต้องพิจารณาลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระสองและสาม
การเมืองในสภาฯจะกลับมาร้อนฉ่าอีกครั้ง
เพราะในห้วงการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ถือเป็นจุดตายของรัฐบาล
ฝ่ายรัฐบาลจะต้องใช้ศักยภาพในการดึงเสียง ส.ส.ในเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทย ที่ฝากเลี้ยงไว้ในพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาราช
รวมทั้ง ส.ส.กลุ่มโคราชและกลุ่มวังพญานาค ให้ลงคะแนนสนับสนุนรัฐบาล
ตลอดจนใช้วิธีการดึงดูด ส.ส.ฝ่ายค้านบางกลุ่มในพรรคเพื่อไทย ให้กลายร่างเป็นงูเห่า กลับลำหันมาโหวตสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ
ขณะเดียวกัน ทางฝ่าย "นายใหญ่" ที่เดินเกมชิงอำนาจตั้งเป้าโค่นล้มรัฐบาล ก็คงไม่ปล่อยให้นาทีทองหลุดลอยไปง่ายๆ
ต้องโหมทุกวิถีทาง เพื่อดึงเสียง ส.ส.ในซีกพรรคร่วมรัฐบาลให้แปลงร่างเป็นงูเห่า คว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯเช่นกัน
งานนี้ไม่มีโหวตฟรี แต่มีกำลังซื้อเป็นแรงชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสงครามชิงอำนาจของฝ่ายการเมืองที่ไม่จำกัดรูปแบบและวิธีการ เพียงเพื่อให้ได้ชัยชนะและอำนาจ
ควรต้องคำนึงถึงชะตากรรมของประเทศชาติด้วย
ถ้าไม่เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ก็เป็นกรรมของประชาชน.
"ทีมการเมือง"