มาร์ตีน โอบรีเรียกร้อง “สังคมแห่งความเบิ
(AFP PHOTO / FRANK PERRY)
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มาร์ตีน โอบรี (Martine Aubry) เลขาธิการพรรคสังคมนิยมของฝรั่งเศส (Parti Socialiste หรือ PS) ได้เสนอแนวคิดใหม่เพื่อการปฏิรูปอุดมการณ์และ ปรัชญาของพรรค หลังจากที่พรรคฝ่ายซ้ายแพ้การเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี ให้กับนิโกลา ซาร์โกซีตัวแทนจากพรรคฝ่ายขวา (Union pour le Mouvement Populaire หรือ UMP) ในปี 2550 หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญของการพ่ายแพ้ ครั้งนี้ก็คือพรรค PS ไม่สามารถเสนอวาทกรรมและแนวคิดใหม่ๆที่จะสามารถ แก้ปัญหาร่วมสมัยอันเกิดขึ้นจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้
ในบทสัมภาษณ์ลงในเวปไซต์ข่าว Mediapart โอบรีเสนอแนวคิดเรื่อง “สังคมแห่งการดูแล” (la société du “care”) ว่า “สังคมแห่งการดูแลเกิดจากวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจก เราต้องเปลี่ยนจากสังคมปัจเจกนิยมสู่สังคมของการ ‘ดูแล’ ในความหมายของคำภาษาอังกฤษซึ่งเราสามารถแปลได้ว่า ‘การดูแลซึ่งกันและกัน’ สังคมดูแลคุณ แต่คุณก็ต้องดูแลคนอื่นและสังคมเช่นเดียวกัน”
'Care' หรือการดูแลนี้เป็นแนวคิดทางปรัชญาและทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ผ่านงานของ Francis Hutcheson, David Hume และ Adam Smith ซึ่งพยายามพิจารณารูปแบบใหม่ของ “การเห็นอกเห็นใจ” ผู้อื่นในสังคม แต่แนวคิดที่โอบรีอ้างถึงเป็นแนวคิดร่วมสมัยที่เริ่มต้นจากนักคิดสตรีนิยมช่วงทศวรรษ 80 ในสหรัฐอเมริกาและได้รับการพัฒนาเรื่อยมาสู่แนวคิดทางการเมือง
หากกล่าวอย่างกระชับ “สังคมแห่งการดูแลซึ่งกันและกัน” (le soin mutuel) คือการหันกลับมาให้ความสำคัญกับคุณค่าทางศีลธรรมในการตัดสินใจหรือการกระทำทางการเมืองใดๆ เพราะคุณค่านี้ถักทอความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ กับสิ่งของหรือแม้กระทั่งกับสิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาที่ฝรั่งเศสกำลังเผชิญอยู่ เลขาธิการพรรค PS เห็นว่าสถาบันทางการเมืองจะต้องได้รับการปฏิรูป โดยคำนึงถึงคุณค่าทางสังคมและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพราะ “จงอย่าลืมว่านโยบายการให้เงินช่วยเหลือใดๆ ก็ไม่อาจมาแทนที่สายโซ่ของการดูแล การช่วยเหลือซึ่งกันและกันฉันครอบครัวและฉันมิตรสหาย ความใส่ใจของผู้ที่อยู่แวดล้อม” โอบรีกล่าว
นักคิดฝ่ายซ้ายหลายคนออกมาปกป้องว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์เพราะไม่ได้มุ่งปกป้องเพียง “ผู้ด้อยโอกาส” ทางสังคม หากแต่ทุกคนที่ถูกทำให้เป็น “คนนอก” โดยอำนาจ และเราทุกคนก็อาจตกอยู่ในตำแหน่ง “ที่อ่อนแอ” นั้นได้วันใดวันหนึ่ง และไม่ได้เสนอเพื่อแทนที่มาตรการสาธารณะต่างๆ แต่เพื่อเติมช่องว่างให้มาตรการเหล่านี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
แม้แนวคิดนี้จะถูกวิจารณ์และโจมตีอย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดนี้คือความพยายามของพรรค PS ในการตรวจทานแนวคิดหลักของฝ่ายซ้ายเองเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งกำลังถูกตั้งคำถามเรื่องการปฏิรูปในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกและ เศรษฐกิจอียูเองกำลังประสบกับปัญหาอย่างหนัก
นี่คือโจทย์ที่พรรคการเมืองและรัฐบาลฝรั่งเศสพยายามหาคำตอบด้วยข้อเสนอที่แตกต่างหลากหลาย พร้อมกับการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับการถกเถียงแลกเปลี่ยนของทุกภาคส่วนเพราะ “ปริมณฑลของการสื่อสาร” ตามคำของฮาเบอร์มาส (Habermas) คือพื้นที่ก่อร่างของ “ความคิดเห็นสาธารณะ” ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นใน “ปริมณฑลของการบริหารจัดการ”
การสร้างพื้นที่สาธารณะนี้ของฝรั่งเศสจึงเป็นการตั้งคำถามไปยังประชาชนถึง “รูปแบบของสังคม” ที่พวกเขาอยากจะเห็น โดยผ่านการเสนอแนวคิดเชิงอุดมการณ์และผ่านการถกเถียงต่อสู้ระหว่างความคิดเห็นที่แตกต่าง
ในขณะที่ฝรั่งเศสเริ่มตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปรัฐสวัสดิการ ประเทศไทยของเรากำลังเดินหน้ากระบวนการปรองดองซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมด้วยการให้การศึกษาฟรี ให้สาธารณสุขฟรี ปลดหนี้ให้ (เกือบ) ฟรี ฯลฯ เป็นการเดินสวนทางกับกระบวนการพัฒนาสังคมการเมืองของฝรั่งเศส ในขณะที่ฝรั่งเศสเริ่มต้นจากการพัฒนาสวัสดิการให้เป็นสถาบัน อย่างมั่นคงแล้วจึงหันมาทบทวนถึงคุณค่าและความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจก ประเทศไทยกลับไม่เคยมองรัฐสวัสดิการในเชิงโครงสร้าง หากมองเป็นเพียงแค่นโยบายเอาใจคนบางกลุ่มที่อยากทำ “ดี”
การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในตัวเองนั้นเป็นวาทกรรมที่ดูดี ถูกต้องตามจารีตทางการเมืองแบบที่ฝรั่งเรียกว่า political correctness คือ'พูดอีกก็ถูกอีก' แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเราจะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ในเมื่อเรายังติดกับดักความหมายของรัฐสวัสดิการตามแนวคิดโบราณแบบพ่อปกครองลูก คนดีมีอำนาจเหนือคนชั่ว คนรวยจุนเจือคนยากจน ?
นี่เป็นแนวคิดแบบสังคมอุปถัมภ์และสังคม สงเคราะห์ที่มีรากฐานมาจากความเชื่อว่าดุลยภาพของสังคมต้องประกอบด้วยคนที่ปกครองและคนที่ถูกปกครอง และทั้งสองต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดไม่ก้าวล้ำพื้นที่ของกันและกัน แล้วสังคมจะสงบร่มเย็น แนวคิดนี้ถูกทำให้ขาวเนียนยิ่งขึ้นด้วยวาทกรรมที่ว่าสังคมไทยเราไม่เคยมีความขัดแย้งและอยู่กันฉันพี่ฉันน้องอย่างสงบสุขมาโดยตลอด
นี่คือมุมมองแบบชนชั้นปกครองเป็นหลัก (บวกชนชั้นกลางจากเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่) เป็นมุมมองจากมุมสูง เป็นมุมมองเชิงสังเวชและสงสาร และก็เป็นมุมมองเดียวกันนี้เองที่เราเอาไว้ใช้มอง “คนชายขอบ” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ คนยากจน ชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยนายทุน กระเทย เกย์ เลสเบียน เด็กเร่ร่อน แม้กระทั่งหญิงที่ถูกสามีทอดทิ้งหรือนอกใจ ฯลฯ
หลังจากเหตุการณ์ทวงคืนพื้นที่ด้วยการ 'กระชับวงล้อม' เรากำลังอยู่ในสภาพโคม่าที่คนกรุงเทพนิยามว่าสภาวะ “ขอความสุขคืนกลับมา” คนชนชั้นกลางร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือประเทศ เพื่อแลกกับความสุขของตนด้วยการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินสะพัดจน ปลิวว่อน กลบเกลื่อนตัวเลขของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างแนบเนียน เสียงเพลงผนวกกำลังกับแคมเปญ Together We Can ของกทม.คลอสถานีโทรทัศน์และวิทยุบดบังเสียงร่ำไห้ของญาติผู้เสียชีิวิต เสียงร้องขอความช่วยเหลือของผู้บาดเจ็บและเสียงคับข้องใจของผู้ที่จำต้องเดินทางกลับบ้าน
ผู้คนรอบตัวเริ่มส่งฟอร์เวิร์ดเมล์เรื่องการออกค่ายพัฒนา การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือโรงเรียน ตามชนบท แม้กระทั่งการรวมกลุ่มกันไป “เผยแผ่” ความรู้เรื่องประชาธิปไตยกับชาวบ้านรากหญ้าตาดำๆตามท้องนาท้องไร่ เฉกเช่นมิชชันนารีฝรั่งในยุคล่าอาณานิคมที่มีจิตใจเมตตาต้องการถ่ายทอด “ความรู้” เกี่ยวกับพระเจ้ากับชาวพื้นเมืองล้าหลังป่าเถื่อนในดินแดนอันไกลโพ้น
นี่คือมุมมองของผู้ที่อยู่เหนือกว่า ซึ่งกำลังพยายามทำให้ความจริงที่รุนแรงและชัดแจ้งของความขัดแย้งกลายเป็นเพียงแค่ “เรื่องโรแมนติกป๊อบๆ” ที่เราควรจ้องมองอยู่ห่างๆไกลๆ โดยไม่เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพัน
หากเรายังคงมองการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านทัศนคติเช่นนี้ ท้ายที่สุดแล้วสังคมแห่งการปรองดองก็จะเป็นได้เพียง มโนทัศน์ที่สวยหรูและมีไว้เพื่อสนองต่อปมของคนชนชั้นกลางเองเท่านั้น คือปมเรื่องคนดีมีศีลธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ด้อยกว่า
นี่คือความรุนแรงทางจิตวิญญาณและทางอุดมการณ์ของสังคมแห่งการประกอบกุศลทาน
ในขณะที่ 'care' ของฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสคือการกลับมาให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ เท่าเทียมกัน 'care' ของไทยในรูปของ 'การปรองดอง' กลับตอกย้ำความไม่เท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เหลื่อมล้ำ
ในสังคมที่ทุกคนอยากจะ “ให้” แต่ในขณะเดียวกันทุกคนก็กลัวจะไม่ “ได้รับ” การตั้งคำถามอย่างจริงจังและอย่างถอนรากถอนโคนกับมุมมองของตนเอง ต่อ “คนนอก” ทั้งทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่จำเป็น ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม การวิพากษ์และตรวจสอบอุดมการณ์และการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐบาล เป็นหน้าที่ที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันทำ ไม่ใช่ “อวย” กับทุกๆสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอให้เราเชื่อ
ไม่เช่นนั้นโคม่าแห่งชาติครั้งนี้คงจะกินเวลาอีกยาวนานชั่วกัลป์ และระหว่างนั้นสังคมไทยก็จะมีแต่เผ่าพันธ์ุ “คนดี” เต็มไปหมดและ “คนจน” ก็จะยังคงเป็นเผ่าพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ปกคลุมดินแดนอันไกลโพ้นห่าง ไกลจากหัวเมืองใหญ่ !