* ปปช.ยึกยักตรวจสอบทรัพย์สิน “จารุวรรณ”
“สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน” ยืนยันเงิน 4 ล้านตามที่ “จารุวรรณ” อ้างเป็นค่าก่อสร้างคฤหาสน์หรู อย่างมากก็ซื้อได้แค่วัสดุก่อสร้าง แถมปัจจุบันยังอาจขึ้นราคาไปมากกว่านั้น ขณะที่สถาปนิก-ผู้รับเหมาก่อสร้าง ระบุหากเฉพาะแค่โครงสร้างตามที่ระบุว่าทำสัญญาเมื่อปี 2546 อาจจะพอเป็นไปได้ แต่ถ้าสร้างจนเสร็จสิ้นครบถ้วน ต้องมีเงินนับสิบล้านบาท แถมยังข้องใจไม่เคยเจอผู้รับเหมาที่ไหนยอมทำสัญญารับจ้างเป็นช่วง ระบุใบ BOQ ที่คุณหญิงกล่าวอ้างอาจมีมากกว่า 1 ใบก็ได้ เพราะเป็นเพียงเอกสารแนบสัญญา หรือบางทียังอาจเป็นวิธีการของพวกฟอกเงิน ที่ให้เงินสกปรกจ่ายเพิ่มเติม
กรณีมีการเปิดประเด็นคฤหาสน์หรูของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีการระบุว่ามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท จนกลายเป็นข้อกังขาของสังคมว่า คุณหญิงจารุวรรณมีเงินจำนวนมากขนาดนั้นได้อย่างไร จะมีความไม่ชอบมาพากลใดๆ หรือไม่ รวมทั้งตัวคุณหญิงเองก็ยังชี้แจงได้ไม่ชัดเจน และมีความคลุมเครืออยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่าราคาสร้างบ้านแค่เพียง 4.4 ล้านบาท รวมไปถึงความไม่ชัดเจนในเรื่องที่มาของเงิน นั้น
กรณีดังกล่าว สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน ได้มีการประเมินราคาในเบื้องต้นพบว่า เฉพาะราคาวัสดุก่อสร้างก็ใกล้เคียงกับตัวเลขที่มีการกล่าวอ้างแล้ว
นายพิเชษฐ์ ทองบุญเรือง เจ้าหน้าที่ในสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กล่าวว่า จากข้อมูลพื้นที่ใช้สอยของบ้านหลังดังกล่าวประมาณ 350 ตารางเมตรนั้น ถือว่าเป็นบ้านที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งในส่วนขององค์กรของภาครัฐ การอัพเดตราคาในการประเมิน โดยเฉพาะเรื่องของวัสดุจะมีการอัพเดต 4 ปีต่อครั้ง ดังนั้นข้อมูลอาจจะไม่เป็นปัจจุบันมากนัก เพราะอาจจะมีการขึ้นราคาไปแล้ว
รวมทั้งในการประเมินบ้าน จะต้องมีการดูรายละเอียดที่ลึกกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุก่อสร้างว่าใช้เกรดไหน แบบบ้านเป็นอย่างไร ถึงจะประเมินราคาที่ใกล้เคียงได้
อย่างไรก็ตามแนวทางในการประเมินของหน่วยงานของรัฐ จะประเมินคร่าวๆ ในตารางเมตรละ 8,000 บาท ส่วนทางภาคเอกชนเท่าที่ทราบน่าจะอยู่ตารางเมตรละกว่า 10,000 บาท
ทั้งนี้ในตารางการประเมินของสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน เมื่อปี 2550 ก่อนยุคน้ำมันแพงระบุว่า สำหรับบ้านที่สร้างด้วยวัสดุชั้นดี จะมีราคาวัสดุอยู่ที่ประมาณ 12,800 บาทต่อตารางเมตร หากบ้านหลังดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 350 ตารางเมตร เฉพาะค่าวัสดุก่อสร้างก็จะมีราคาถึง 4,480,000 บาท ไปแล้ว ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวมีลักษณะเป็นบ้านเล่นระดับ ก็ยังอาจจะต้องเพิ่มในส่วนของเหล็กเข้าไปด้วยอีก โดยยังไม่รวมถึงค่าก่อสร้าง และวัสดุอื่นจำพวกวงกบ ประตู หน้าต่าง ที่น่าจะมีราคาอีกเป็นล้านบาท รวมไปถึงค่าจ้างคนงาน ค่าตกแต่งต่างๆ เป็นเงินอีกจำนวนมาก
ด้านสถาปนิกและผู้รับเหมาก่อสร้างผู้หนึ่ง ที่มีผลงานในการสร้างหมู่บ้านจัดสรรและรับประมูลงานจากภาครัฐ กล่าวว่า ในความคิดเห็นของตน เฉพาะโครงสร้างของบ้านที่มีการกล่าวอ้างว่ามีมูลค่าเพียง 4 ล้านบาทนั้นอาจจะเป็นไปได้ เนื่องจากสัญญาที่ก่อสร้างนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 ราคาประเมินโครงสร้างอาจจะทำได้ในช่วงนั้น แต่ก็จะเป็นเพียงโครงสร้างเท่านั้น และหากมีห้องใต้ดิน หรือมียอดโดมที่ต้องทำโครงสร้างเพิ่มเติม มีการเล่นระดับ ก็จะต้องเพิ่มเงินเข้าไปอีกมาก
รวมทั้งยังจะต้องมีราคาตกแต่งภายใน การปรับภูมิทัศน์ ทำสวน ก่อรั้ว ซึ่งคิดว่าจะต้องใช้งบประมาณนับสิบล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถบอกตัวเลขได้ชัด แต่ตัวเลขที่ประมาณการนั้นก็ยังเป็นตัวเลขขั้นต่ำ ซึ่งปกติแล้วการก่อสร้างทั่วไปงบประมาณก็มักจะบานปลายออกไปอีกมาก โดยเฉพาะการสร้างบ้านในระดับนี้ บางครั้งบานปลายไปหลายหล้านบาทเลยก็มี
“ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ถึงแม้จะมีใบ BOQ มายืนยันว่ามีราคาเพียง 4 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วก็มีช่องทางซิกแซ็กได้อีกมากมาย และมีคนที่ทำแบบนี้กันอยู่ เช่น สามารถทำใบ BOQ ขึ้นอีกได้ เพราะเป็นเพียงใบประกอบที่แนบกับสัญญา เช่น อาจจะมีการทำใบ BOQ แยกไว้หลายใบก็เป็นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ว่าจ้าง และผู้รับเหมา ที่จะทำเช่นนั้น
ดังนั้น จะเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการซิกแซ็กได้ ตนจึงคิดว่าไม่น่าจะมีผู้รับเหมาคนไหน รับทำสัญญาโครงสร้างบ้านและตกแต่งภายในของบ้านหลังดังกล่าว เพียง 4 ล้านบาทเป็นแน่ และมูลค่าการก่อสร้างไม่น่าจะอยู่เพียงแค่ 4 ล้านบาทด้วยเช่นกัน รวมทั้งก็ยังอาจจะเป็นไปได้ที่จะมีข้อตกลงพิเศษอื่นๆ เช่น การเพิ่มค่าวัสดุก่อสร้างต่างๆ ให้นอกเหนือบัญชีการว่าจ้าง ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างบางรายต้องการฟอกเงิน เป็นต้น
ส่วนเรื่องของสัญญาที่คุณหญิงระบุว่า มีการก่อสร้างเป็นช่วงๆ ในความเป็นไปได้นั้น คิดว่าไม่น่าจะมีผู้รับเหมาคนไหนยอมรับงานประเภทนี้อย่างแน่นอน ในฐานะที่ตนรับงานประเภทนี้มานานจึงรู้ดีว่า มีปัจจัยเสี่ยงในหลายๆอย่าง ทั้งตัวผู้รับเหมาเอง และตัวของผู้ว่าจ้างด้วย จึงไม่น่าจะมีใครที่จะนิยมทำสัญญาแบ่งงานก่อสร้างเป็นช่วงระยะ ซึ่งโดยส่วนมากจะมีการรวมเงินและสร้างบ้านให้เสร็จในครั้งเดียวเป็นส่วนใหญ่ ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องไม่คุ้มทุนสำหรับผู้รับเหมา และผู้ว่าจ้าง จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้ไปติดต่อที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อดูว่ามีการแจ้งราคาบ้านหลังดังกล่าวไว้หรือไม่ และแจ้งมูลค่าเท่าใด โดยที่แรกที่ ป.ป.ช. เขตดุสิต ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล เจ้าที่ทำทีท่าบ่ายเบี่ยง และโบ้ยให้ไปติดต่อที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ตึกธนภัทร ถนนเพชรบุรี ชั้น 18
โดยเจ้าหน้าที่ที่ชั้น 18 แจ้งว่า บัญชีทรัพย์สินที่สามารถเปิดเผยได้มีเพียงของ ส.ส. กับ ส.ว. และรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนในกรณีของคุณหญิงจารุวรรณไม่สามารถเปิดเผยได้ ให้ไปติดต่อที่ชั้น 30 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ชั้น 30 แจ้งอีกว่า กรณีของคุณหญิงจารุวรรณซึ่งกำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ผู้ที่จะตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินได้จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีหนังสือจากทางราชการเข้ามาตรวจสอบเท่านั้น เจ้าหน้าที่ถึงจะให้ข้อมูลได้
พร้อมยืนยันว่าในส่วนนี้ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ และขอให้ไปติดต่อชั้น 11 อาคารธนภัทร เจ้าหน้าที่ชั้น 11 บอกว่าบัญชีแสดงทรัพย์สินในส่วนของคุณหญิงจารุวรรณไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากมีกฎหมายของ ป.ป.ช. คุ้มครองอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกให้ไปติดต่อที่เขตดุสิต
ขณะที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งยังเปิดเผยด้วยว่าได้ถูกกำชับจากผู้ใหญ่ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนและกำลังเป็นข่าว ให้ระมัดระวังในการให้ข้อมูลเอกสารกับประชาชนและผู้สื่อข่าวที่ติดตามเรื่องนี้