แม้โดยทั่วไปเราจะเห็นกันว่า “เพศที่สาม” ของประเทศไทย มีที่อยู่ที่ยืนอย่างเปิดเผยและเต็มที่ในสังคม ไม่ได้ถูกปกปิดหรือตั้งข้อรังเกียจเหมือนในอีกหลายประเทศที่เข้มงวดและเห็นเป็นเรื่องผิดบาปร้ายแรงจนต้องมีการลงโทษทั้งในทางวัฒนธรรมและกฎหมาย
แต่ลึกลงไปในรายละเอียด ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ชาวเพศที่สามเห็นว่าเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ผู้หญิงผู้ชายทั่วไปคิดไม่ออกนึกไม่ถึงว่าจะเป็นปัญหา เช่นเรื่องการเข้าห้องน้ำเป็นต้น
สาวประเภทสองจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจกับการเข้าห้องน้ำ จะเข้าห้องน้ำชายก็กระดาก กลัวผู้ชายที่อาจหยาบคายบางคน หรือบางคนที่เข้าห้องน้ำหญิง ก็ทำให้ผู้หญิงไม่สบายใจเสียเองเพราะสาวประเภทสองส่วนมากไม่ได้เปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นหญิงอย่างสมบูรณ์ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดเท้า คือดูอย่างไรก็ยังเห็นเป็นผู้ชาย
การมีห้องน้ำสำหรับเพศที่สามโดยเฉพาะจึงถูกพูดถึงในสังคมมาแล้วหลายครั้ง และแม้แต่ละครั้งจะมีคนเห็นด้วยในหลักการ แต่เมื่อปฏิบัติก่อสร้างจริง ก็มีเรื่องหยุมหยิม(เช่นงบประมาณ) ตัดทอนรวบยอดให้เหลือแค่ห้องน้ำหญิงชายตามมาตรฐานทุกที และปล่อยให้เพศที่สามไปจัดการแก้ปัญหากันเอาเอง
สถานที่ที่มีห้องน้ำสำหรับเพศที่สามจึงหาแทบไม่ได้ เมื่อมีก็กลายเป็นเรื่องแปลกเช่นในโรงเรียนอาชีวะบางแห่ง ถึงกับรายการโทรทัศน์ต้องไปถ่ายทำ (แต่กลับลืมใส่สาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้)
บางเรื่องที่ไม่น่าเป็นปัญหาเช่นการเข้าพักโรงแรม ทำประกันชีวิต หรือเข้าเที่ยวตามสถานที่บันเทิงต่างๆ เพศที่สามก็ถูกจำกัดสิทธิด้วยเหตุผลสารพัด เช่น เรื่องความปลอดภัย(ของแขกคนอื่นๆ) เรื่องความเสี่ยง(ของการใช้ชีวิตของเพศที่สามเอง) เป็นเรื่องเป็นราวให้เพศที่สาม สี่ หรือห้า คนอื่นๆ ต้องออกมาประท้วงเป็นเรื่องเป็นราวก็หลายครั้ง เพราะเวลาเกิดอะไรเสียหายขึ้นมาก็มักถูกเหมารวมยกเข่ง
ล่าสุดที่เป็นข่าวฮือฮาคือการแยกหอพักนักศึกษาให้กับเพศที่สามโดยเฉพาะ เพราะเด็กกลุ่มนี้นับวันจะมีคนที่เปิดเผยตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กก็คงจะเหนื่อยที่ต้องเสแสร้งแสดงออกในเพศที่ตัวเองไม่ได้มีจิตใจจะเป็น แต่เมื่อแสดงออกก็ลำบากกับการใช้ชีวิตอีก จึงอยากให้มีพื้นที่สำหรับเพศที่สาม
ผลตอบรับก็คือสถานศึกษาหลายแห่งมีผู้บริหารที่เข้าใจและมีแนวคิดสำรวจปริมาณเพื่อหาแผนรองรับอื่นๆ ในทางรูปธรรม ขณะที่บางแห่งก็ยังปรับความเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้ ยังรู้สึกว่าจะเป็นการส่งเสริมความผิดปกติ เกิดการเลียนแบบ บางที่แม้แต่นักศึกษาชายใจเป็นหญิงจะแต่งชุดนักศึกษาหญิงก็ยังรับไม่ได้ แม้ว่านักศึกษาคนนั้นจะมีรูปลักษณ์เป็นหญิงอย่างสมบูรณ์ถึงขนาดประกวดมิสทิฟฟานี่ชนะเลิศมาแล้วก็ตามที
ใจหนึ่งก็สนับสนุนการเรียกร้องที่สมเหตุสมผลของเพศที่สาม ขณะเดียวกันก็เข้าใจพ่อกับแม่ที่กังวลและไม่อยากให้ลูกมีจิตใจผิดไปจากเพศที่เกิดมา คงเป็นเพราะว่าเห็นปัญหามากมายที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมและสงสารกลัวลูกจะให้ชีวิตลำบากเมื่อโตขึ้นนั่นเอง.