ที่ใดไม่มีกฎหมาย ที่นั่นจะไม่มีเสรีภาพ เนื่องจากเสรีภาพคือการเป็นอิสระจากการถูกจำกัด ถูกกำหนดและถูกใช้ความรุนแรงโดยผู้อื่น หากปราศจากเสียซึ่งกฎหมายแล้วความเป็นอิสระ เช่นว่านี้ก็จะไม่มีอยู่ เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่แต่ละคนจะทำสิ่งใดๆทั้งหมดอย่างที่ตนต้องการได้ แต่เป็นเสรีภาพที่แต่ละคนจะทำ...ภายใต้การอนุญาตของกฎหมายทั้งมวลในสังคม อันเป็นเสรีภาพที่ไม่ขึ้นต่อความประสงค์ตามอำเภอใจของผู้อื่น...” ผมเชื่อว่า หากเมืองไทยนำแนวคิดเรื่องนี้ ของจอห์น ล็อค นักปรัชญาชาวอังกฤษ มาเป็นหลักปกครองบ้านเมือง สังคมไทยก็จะเกิดความสงบสุข ไม่สับสนวุ่นวายเหมือนที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการของนายกฯสมัคร ที่สั่งให้มีการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเคร่งครัดจัดการกับกลุ่มบุคคลที่ยึดถนนสาธารณะ เป็นเวทีปราศรัย จึงถือเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะอ้างว่า เป็นสิทธิในการชุมนุม โดยสงบปราศจากอาวุธตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้อนุญาตให้ไปชุมนุมกันบนท้องถนนที่เป็นเส้นทางสัญจรของ ประชาชนนับแสนนับล้านคน เพราะถ้าการชุมนุมอย่างสงบสามารถกระทำที่ใดก็ได้ ต่อไปก็จะมีคนไปชุมนุมอย่างสงบตามสี่แยกไฟแดงทั่วเมืองไทย โดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเช่นนั้น บ้านเมืองจะไม่วุ่นวายโกลาหลไม่รู้จบรู้สิ้นหรอกหรือ ที่ผ่านมา เมืองไทยต้องประสบกับเคราะห์กรรมจากการไปยึดถือกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย เพียงใด ทุกคนคงรู้แก่ใจตัวเองแล้วนับจากนี้ต่อไป หากยังมีใครไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองอีก รัฐบาลก็ต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด เพื่อรักษาบ้านเมืองอันเป็นของส่วนรวมเอาไว้ โดยเฉพาะหากมีความพยายามจากใครก็ตามที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมเอ็ดตะโรข้างถนน เพื่อมาข่มขู่ตัวแทนประชาชนในสภาฯ อ้างการเมืองภาคประชาชนข้างถนน แทนที่จะเป็นการเมืองภาคประชาชนในคูหาเลือกตั้ง รัฐบาลจะต้องไม่เกรงกลัวและไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆทั้งสิ้น โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของเสียงข้างมาก ต้องถือเป็นความชอบธรรมตามกฎหมายสูงสุดของบ้านเมือง ใครจะเอาอารมณ์ความรู้สึก ส่วนตัวมาคัดค้านอย่างไร แม้จะมีสิทธิคัดค้านได้ แต่ไม่มีสิทธิขัดขวาง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้ว่า ห้ามแก้ไข เมื่อกฎหมายว่าไว้อย่างไร ก็ต้องว่าไปตามนั้น ผมถือว่า กฎหมายก็คือ เสรีภาพที่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย ข้อสำคัญ การมีความเห็นแตกต่างกันในทางการเมือง ต้องถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความผิด แต่ปรากฏว่า เสียงข้างน้อยกลับใช้ความเห็นที่แตกต่างของตัวเองไปตัดสินคนอื่นว่า เป็นคนผิด เป็นโจร เป็นคนขายชาติ ในทางกลับกัน หากอีกฝ่ายกล่าวหาเสียงข้างน้อยว่า เป็นพวกเถื่อน ถ่อย นอกรีต ต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยบ้างจะว่าอย่างไร ต่างฝ่ายต่างก็กล่าวหากันได้ทั้งนั้น แล้วจะเอาอะไรมาตัดสินชี้ขาด ถ้าไม่ใช่กฎหมาย ส่วนเหตุผลสำคัญที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว อย่าปล่อยให้เป็นอนุสรณ์ ประจานการกระทำผิดต่อหลักนิติธรรมของเมืองไทย พรุ่งนี้ผมจะอธิบายให้ฟัง. “เห่าดง”