* เชื่อหมดข้อกังขาอยู่เบื้องหลังการเมือง
“นักวิชาการ-ภาคประชาชน” เรียงหน้าหนุน “ทักษิณ” ขอลี้ภัยทางการเมือง เชื่อจะช่วยให้อุณหภูมิร้อนในประเทศลดลง ลดการประจัญหน้าของคนที่มีความเห็นแตกต่าง และลดการโจมตีทำลายรัฐบาล ทั้งยังเป็นการลบข้อกังขาที่มีคนกล่าวหาว่าอดีตนายกฯ ชักใยการเมือง ระบุลี้ภัยการเมืองเป็นเรื่องปกติที่ผู้นำหลายประเทศทำกัน โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติ และในสถานการณ์ ที่เชื่อได้ว่าไม่มีความปลอดภัย มั่นใจหาก “ทักษิณ” ลี้ภัยจริงไม่ใช่ปัญหา แม้จะถูกระบว่าถูกดำเนินคดีอาญา แต่ก็เป็นกรณีที่เชื่อมโยงกับปัญหาการเมือง ที่ถูกชงโดย คตส. ซึ่งมาจากรัฐประหารโดยตรง
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่มีกลุ่มคนพยายามที่จะดิสเครดิตรัฐบาล ทำลายความเชื่อมั่น ซึ่งมีการมองกันว่าเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการที่มีความพยายามมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 โดยพยายามจ้องเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และลากเอารัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เข้าไปเกี่ยวข้องโดยพยายามกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาล “นอมินี” และระบุว่า พ.ต.ท.อยู่เบื้องหลังการทำงานของรัฐบาล นั้น
หนุน “ทักษิณ” ลี้ภัยการเมือง
กระแสดังกล่าวได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างวต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มการเมืองและบรรดานักวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าควรแยกเรื่องบ้านเมืองกับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากกัน และต้องมองด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตัดสินเอาเองด้วยอคติ
ทั้งยังมีการมองกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะขอลี้ภัยทางการเมือง เพื่อเป็นการยุติปัญหาความแตกแยกภายในประเทศ จากกลุ่มคนที่รักและกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่าง ทั้งยังเพื่อเป็นการสร้างความสลบายใจให้กับคนที่กังวลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมามีบทบาทเหนือการเมืองไทย
ซึ่งกระแสดังกล่าวมีความเด่นชัดและมีการพูดจากันหนาหูมากขึ้น เมื่อ พ.ต.ท .ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง โดยที่หลายคนเห็นพ้องกันว่าไม่ควรจะเดินทางกลับมาประเทศไทยในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการคัดค้าน ต่อต้าน และความพยายามนำไปสู่การเอาผิดอย่างน่ากังวล
“ทักษิณ” ลี้ภัยไม่ต้องขอ UNHCR
ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุถึงหลักเกณฑ์ในการขอลี้ภัยทางการเมืองของผู้นำประเทศว่า ความหมายของการลี้ภัยทางการเมืองนั้น ถ้าผู้นำยังอยู่ในประเทศนั้นๆ จะต้องถูกดำเนินคดีความ หรือมีอันตรายจนถึงชีวิต ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัย จึงขอหนีลี้ภัยไปยังต่างประเทศ
ส่วนการหลักการขอลี้ภัยทางการเมือง ของผู้นำทางการเมืองในประเทศต่างๆ การลี้ภัยอันเนื่องมาจากผลพวงแห่งการยึดอำนาจ ปฏิวัติรัฐประหาร หรือมีการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเดินเรื่องผ่านสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องดำเนินตามหลักการของ UNHCR ก็ได้ เพราะหากดำเนินการตามหลักเกณฑ์แล้ว นั่นแสดงว่า การลี้ภัยครั้งนี้ของผู้นำประเทศไม่มีอันตราย หรือมีภัยจริงๆ นั่นเอง
คตส.มาจากปฏิวัติไม่น่ามีปัญหา
ทั้งนี้ ในประเทศไทยของเราที่มีการยึดอำนาจรัฐประหาร จาก พ.ต.ท.ทักษิณ และมีการดำเนินคดีความทางอาญากับอดีตนายกและครอบครัวนั้น ในทางหลักการแล้วการขอลี้ภัยนโยบายหลักในแต่ละประเทศนั้น จะไม่อนุญาตแก่ผู้ที่มีคดีอาญาติดตัว แต่เมื่อพิจารณาคดีของอดีตนายกฯแล้ว มองว่านี่คือคดีความทางการเมือง
เนื่องจากภายหลังจากการรัฐประหารแล้ว มีการตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระ อย่างช่น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ที่จัดเพื่อมาตรวจสอบหาความผิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ครอบครัว และรัฐมนตรีในชุดนั้นโดยเฉพาะ จึงไม่น่าที่จะมีปัญหาอะไร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเทศที่อดีตนายกฯจะขอลี้ภัยไปด้วย
“นี่คือปัญหาที่พบส่วนใหญ่ หากมีการลี้ภัยของผู้นำที่ประสบปัญหาจากการรัฐประหาร ก็จะมีการพยายามพูดว่า ลี้ภัยไม่ได้ เพราะถูกดำเนินคดีความอาญา เป็นความผิดทางอาญา แต่ของอดีตนายกฯเป็นคดีความอาญาที่มีลักษณะเป็นการเมือง เพราะเป็นการเมืองที่ฝ่ายยึดอำนาจตั้งองค์ต่างๆ ขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งก็เข้ากับหลักเกณฑ์ขอลี้ภัยทางการเมืองได้” ผศ.จรัลกล่าว
เชื่อช่วยลดเงื่อนไขโจมตีรัฐบาล
ต่อข้อถามว่าหากมีการลี้ภัยทางการเมืองของอีตนายกรัฐมนตรีจริง จะช่วยให้สถานการณ์ที่ตรึงเครียดทางการเมืองในขณะนี้ลดดีกรีความรุนแรงลงหรือไม่ ผศ.จรัล กล่าวว่า คงจะช่วยให้คนส่วนหนึ่งสงบ และลดเงื่อนไขเพื่อมาโจมตีรัฐบาล พรรคพลังประชาชน และฝ่ายประชาธิปไตยได้ส่วนหนึ่ง แต่คงยังไม่ถึงขั้นที่จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปเลยเสียทีเดียว ส่วนคดีความนั้นก็ยังคงดำเนินอยู่ตามกระบวนการยุติธรรม
ส่วนกรณีที่อาจมีบางกลุ่มกระแสเรียกร้องกรณีเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากมีการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อกลับมาดำเนินคดีความในประเทศไทยนั้น อดีตกรรมการสิทธิฯกล่าวว่า แน่นอนว่าหากมีการขอลี้ภัยจากอดีตนายกฯจริง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการผสานความร่วมมือไปยังประเทศที่อดีตผู้นำทำการขอลีภัยไปอย่างแน่นอน เพราะเป็นคดีความทางอาญา ซึ่งหากรัฐบาลไทยไม่ทำตามข้อเรียกร้องก็ต้องบอกว่ารัฐบาลไม่ทำตามข้อกฎหมาย
แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวยังคงเป็นปัญหารอง เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาล อัยการสูงสุด จะต้องพิจารณาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง และก็ต้องดูนโยบายของประเทศที่อดีตนายกฯขอลี้ไปด้วย ซึ่งหากเป็นประเทศอังกฤษ ก็ต้องดูว่ามีนโยบายต่อกรณีนี้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตามประเทศอังกฤษ เป็นชาติที่เคารพสิทธิมนุษยชน และมีความเป็นประชาธิปไตยสูง
สำหรับกรณีการอายัดทรัพย์สินของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังคงคางอยู่นั้น นายจรัลกล่าวว่า เรื่องนี้ก่ศาลยังไม่มีการตัอสินคดีความ เรื่องยังคงคาราคาซัง ก็ไม่สามารถยึดทรัพย์สินได้ เพราะไม่มีข้อกฎหมายใดที่รัฐจะสามารถยึดทรัพยืสินของคนอื่นได้ง่ายๆ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายในรัฐธรรมนูญ
เชื่อยุติข้อกล่าวหาชักใยการเมือง
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) กล่าวว่าเป็นเรื่องส่วนตัวขชอง พ.ต.ท.ทักษิณ การลี้ภัยทางการเมืองจริงก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อเสียก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีต้องถูกค่อนแคะว่าไม่กล้าต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม ส่วนข้อดีก็คือจะทำให้คนที่รักไม่ต้องเป็นห่วงและกังวลมากนักกับการต่อสู้คดีความที่ไม่รู้จะออกมาในรูปแบบไหน
นอกจากนี้ยังเป็นการลบข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้ชักใยการเมือง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ก็จะหมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะว่าการลี้ภัยไปในต่างประเทศก็ยากที่จะก้าวก่ายเรื่องทางการเมืองของไทย รวมทั้งที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีได้แสดงให้เห็นแล้วว่าในการตัดสินในเหตุการณ์สำคัญ และการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความเป็นตัวของตนเองขนาดไหน
เมื่อถามว่าหากอดีตนายกนับมนตรีทำการขอลี้ภัยทางการเมืองจริง จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองลดความรุนแรงลงหรือไม่ แกนนำคปพร. ชี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับการรักษาสัจจะของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เคยกล่าวต่อสาธารณะว่า หากพ.ต.ท. ทักษิณ มีการลี้ภัยทางการเมืองจริง ก็จะยุติการเคลื่อนไหวชุมนุมทันที ซึ่งหากเป็นไปดังนั้นแล้ว ปัญหาความรุนแรงเหลานี้ก็จะจบ โดยการแก้ไขรับะรรมนูญก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา
ลี้ภัยการเมืองเป็นเรื่องปกติ
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหลักการการลี้ภัยของผู้ต้องคดีว่า ประเทศที่จะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในประเทศนั้นๆ ได้ต้องเกี่ยวข้องกับทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และผู้ที่จะได้รับอันตรายหากต้องกลับเข้ามาในประเทศของตัวเอง หรือแม้กระทั่งเรื่องสนับสนุนประชาธิปไตย ประเทศแต่ละประเทศก็จะต้องพิจารณาว่าผู้ที่ทำการขอลี้ภัยเกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญเรื่องใด
ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาในเรื่องของการทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศด้วย แต่ถ้าไม่มีการทำสัญญาดังกล่าวไว้ ประเทศที่มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ หรืออาชญกรทางการเมืองอาศัยอยู่ ก็อาจจะไม่พิจารณาส่งตัวผู้นั้นคืนประเทศ อย่างเช่นกรณีของนายฟูจิโทริ อดีตประธานาธิบดี สาธารณรัฐเปรู อาชญากรการเมืองที่ลี้ภัยจากสาธารณรัฐเปรูไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นพิจารณาแล้วว่าถ้าส่งตัวนายฟูจิโทริกลับไปอาจจะได้รับโทษที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งอาจเป็นเพราะว่านายฟูจิโทริมีเชื่อสายชาวญี่ปุ่นอยู่ด้วยก็เป็นได้
การลี้ภัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเรื่องซับซ้อน ยิ่งเป็นประเด็นทางการเมืองด้วยแล้วอาจจะต้องพิจารณาการหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม การลี้ภัยของอาชญกรการเมืองถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ทำกันบ่อยๆ ซึ่งก็พบว่าว่ามีทั้งวิธีการที่เป็นการลี้ภัยอย่างเป็นทางการเมืองและไม่เป็นทางการเมือง
ต้องดูประเทศที่จะให้ลี้ภัยด้วย
กรณีที่ลี้ภัยอย่างไม่เป็นทางการนั้น อธิบายได้ว่าการเข้าไปอยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยนั้นเป็นที่รับทราบกันไปเองทั้งสองประเทศ และอีกประเทศก็ไม่มีการขอให้อีกประเทศส่งตัวคืนมา ปล่อยให้เงียบๆ กันไป เพียงแต่ขอให้ผู้ลี้ภัยนั้นไม่กลับเข้ามาในประเทศของผู้ลี้ภัยอีก แต่ถ้าเป็นคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ญาติพี่น้องผู้เสียหายต้องการเรียกร้องให้อาญชากรผู้นั้นกลับมาดำเนินคดี จึงจะมีการขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีของการลี้ภัยอย่างเป็นทางการ จะต้องมีการทำหนังสือยื่นร้องขอไปยังประเทศที่ผู้ลี้ภัยต้องการไปอาศัยอยู่ โดยให้เหตุผลที่ทำให้ประเทศนั้นเชื่อได้ว่าเหตุผลที่แข็งพอ ยกตัวอย่างเช่นนักศึกษาชาวจีน และนักศึกษาชาวพม่า ได้ทำหนังสือขอลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ จากกรณีเป็นผู้ต่อต้านระบบการเมืองของประเทศตน ต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นประชาธิปไตย เช่นนี้เองประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ เห็นว่าเป็นผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ก่อความผิดร้ายแรง และพิจารณาแล้วว่าหากส่งตัวกลุ่มนักศึกษาเหล่านั้นคืนกลับไป อาจจะได้รับอันตรายได้ จึงอนุญาตให้นักศึกษาเหล่าในอาศัยอยู่ในประเทศต่อไป
ซึ่งจะเห็นได้ว่าคดีเกี่ยวกับการเมืองเป็นเหตุผลที่บ่อยที่สุดที่ใช้ในการลี้ภัย ถ้ายกตัวอย่างกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่อาศัยที่ประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมันย่อมทำได้
แต่โดยพื้นฐานของประเทศนั้นๆ จะต้องพิจารณาเองด้วยว่าจะยอมให้พ.ต.ท.ทักษิณอาศัยอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ต้องดูความสัมพันธ์ที่มีต่อประเทศไทยด้วยว่าอยู่ในระดับใด สมมติว่าประเทศเยอรมันอนุญาตให้พ.ต.ท.ทักษิณอาศัย ต่อไปเมื่อมีผู้ร้ายเยอรมันมาอาศัยในประเทศไทย ทางประเทศไทยก็อาจจะไม่ส่งผู้ร้ายคนนั้นคืนให้ประเทศเยอรมันก็ได้
ติงน่าจะลี้ภัยแต่แรกก่อนขึ้นศาล
ส่วนใหญ่บุคคลที่ลี้ภัยมักจะไม่ไปประเทศใหญ่ๆ ที่มีผลประโยชน์ต่อต่อกันอย่างมาก ทั้งนี้เกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ แต่จะลี้ภัยไปยังประเทศที่มีปัญหาบ้านเมืองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ผู้ลี้ภัยไปขออาศัยอยู่ก็ต้องพิจารณาว่าตัวพ.ต.ท.ทักษิณ สำคัญมากน้อยกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีต่อกันหรือไม่
หากพ.ต.ท.ทักษิณ คิดจะหนีลี้ภัยจริง เห็นว่าควรจะลี้ภัยไปตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ควรจะมาขึ้นศาลสู้คดี แต่โดยรวมเป็นสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณสามารถทำได้ และดีด้วย โดยอาจร้องขอต่อประเทศที่จะไปอาศัยอยู่ว่าไม่ได้รับความยุติธรรมในการตัดสินคดี หรือขบวนการไม่มีความชอบธรรม และบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการไม่ได้มาจากการยอมรับของสังคม หรือเข้ามาโดยไม่เป็นตามครรลองของประชาธิปไตย
คดีที่ผ่านๆ มาของพ.ต.ท.ทักษิณถือว่าเป็นคดีทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากเป็นการทำงานสืบทอดมาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่าพ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะแจ้งว่าต้องโทษทางการเมืองได้
“น่าจะลี้ภัยช่วงคดีออกมาแล้ว ทำไมถึงยอมขึ้นศาลตั้งแต่แรก เพราะอาจจะเจรจายาก ถ้าเป็นไปได้พ.ต.ท.ทักษิณต้องลี้ไปแล้วไม่กลับมาเลย ต้องไปอยู่พักใหญ่ รอให้ทุกคดีตัดสินให้หมด อาจจะขอไปอยู่ประเทศนั้นประเทศนี้ไปก่อน อย่างในประเทศจีนก็ขอไปอยู่ได้ ยังไงประเทศจีนก็คงไม่ส่งกลับมาเพราะด้วยเหตุผลที่ว่าขอให้ไทยตัดสินให้เสร็จสิ้นทุกคดีก่อน หรือรอให้ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมออกมา” รศ.ดร.ปณิธานกล่าว
นักวิชาการแนะรีบลี้ภัย-อย่ากลับมา
ทางด้าน รศ.ประทุมพร วัชรเสถียร อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา การที่จะลี้ภัยการเมืองได้ 1. ประเทศที่ให้การรับรอง อย่างที่เห็นกันชัดเจนเป็นที่แน่นอนคือประเทศอังกฤษและประเทศจีน ซึ่งทำสัญญาไว้กับประเทศไทยว่าอนุญาตรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้และส่งตัวกลับประเทศไทยได้
2. หากลี้ภัยไปอยู่ประเทศที่ไม่ได้มีการทำสัญญาส่งผู้ข้ามแดนไว้ อย่างที่ไต้หวัน ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ลี้ภัยจะเจรจาร้องขออย่างไร 3. สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ประเทศของผู้ที่ลี้ภัยต้องระบุว่าเป็นความผิด 4. มีขั้นตอนที่ยาวมาก เพราะประเทศที่รับผู้ลี้ภัยจะต้องดำเนินการสอบสวนความผิดดังกล่าว 5. จะต้องลี้ภัยในกรณีหนีภัยการเมือง ต้องความอาญาการเมือง หนีการปฏิวัติรัฐประหาร
แต่หากไม่ใช่เรื่องการเมือง การลี้ภัยจะลำบากต้องไปยังประเทศที่ไม่ได้ทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้กับประเทศไทย
ในกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ นั้น รศ.ประทุมพร วิเคราะห์ว่า เห็นได้ชัดจากคดีต่างๆ สิ่งที่พึ่งปฏิบัติได้คือ 1. พ.ต.ท.ทักษิณ ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการศาล แต่ต้องมั่นใจว่าจะชนะคดีทุกคดี 2. รัฐบาลมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที และ 3. ปฏิวัติ แต่การจะปลุกทหารให้ขึ้นมาปฏิวัติเป็นไปได้ยาก เพราะทหารเข้ากับฝ่ายกลุ่มพันธมิตรฯ
“ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ จะทำการลี้ภัย ควรลี้ภัยซะเดี๋ยวนี้ เพราะกลับมาอาจจะโดนหนัก เนื่องจากยังมีอีกหลายคดีที่พัวพัน และคิดว่าการลี้ภัยไปอาจจะทำให้บ้านเมืองสงบในระดับหนึ่ง” รศ.ประทุมพรกล่าว
ถูกรัฐประหารมีเหตุผลพอ
ด้าน ดร.คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) กล่าวว่าการลี้ภัยทางการเมืองไม่มีความสัมพันธ์กันกับทางกฎหมายอย่างลึกซึ้ง แต่อิงกันได้ การลี้ภัยทางการเมืองคือการขอความคุ้มครองจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่มีอำนาจ เนื่องจากถุกกระทำให้สูญเสียอิสระ ซึ่งเหจุผลที่ใช้จะไม่ใช่เหตุผลทางคดีโดยตรง แต่เป็นเหตุผลทางการเมือง โดยอาจจะใช้กระบวนการยุติธรรมภายใต้เป้าหมายการเมือง แสดงให้ประเทศนั้นๆ เห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อเรา
การถูกรัฐประหารก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สามารถอ้างได้ กระบวนการยุติธรรมอย่างที่เห็นหลังการทำรัฐประหารก้เป็นการยากที่จะคาดหวังความเป็นะรรม เพราะฉะนั้นคดีที่มาหลังการทำรัฐประหารอาจจะดูว่าเป็นการพยายามขจัดพ.ต.ท.ทักษิณให้พ้นออกไปจากบ้านเมือง
ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ ลี้ไปยังประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แล้วแจ้งเหตุผลว่ามาจากการถุกกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง เพื่อความปลอดภัยของนักการเมือง ประเทสที่พ.ต.ท.ทักษิณไปขออาศัยอยู่ก็อาจจะอนุญาตให้อยู่ได้ ซึ่งการดำรงชีวิตอยู่ในประเทศนั้นๆ จะต้องขึ้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่ของประเทศที่ให้อนุญาต
“ปกติการลี้ภัยก็ต้องทำก่อนรัฐประหาร เพราะอาจทำให้สูญเสียอิสรภาพ แต่ถ้าปล่อยไปนานๆ อย่างนี้ จนกลายเป็นคดีหลายๆ คดี ประเทศที่จะรับก็ต้องคิดหนัก เพราะเหมือนช่วยคนหนีคดี”
ติงน่าจะขอลี้ภัยเสียตั้งแต่แรก
ดร.คณิน กล่าวเสริมว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะทำการลี้ภัยไปตั้งแต่ทำรัฐประหารแล้ว เนื่องจากมีเหตุผลมากกว่า ซึ่งขณะนี้มีคดีความมากมาย รัฐบาลประเทศที่จะรับอาจจะต้องคิดหนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหนทาง ขึ้นอยู่กับบุคคลที่ลี้ภัยกับรับาลประเทศนั้น ว่ามีความเชื่อถือกันมากน้อยแค่ไหน
อีกทั้งคดีความที่เกิดขึ้นโดยป.ป.ช. หรือ ค.ต.ส. เสนอ องค์กรเหล่านี้รวมทั้งองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกัน เป็นผลงานที่มีการวางแผนมาจาก คมช. ทั้งหมด ซึ่งสามารถนำมายกอ้างต่อรัฐบาลประเทศที่จะไปอาศัยอยู่ได้
ส่วนเรื่องของความช้าหรือเร็วในการลี้ภัยของพ.ต.ท.ทักษิณ มองว่าช้าไปจริง แต่สมควรที่จะทำ ณ ขณะนี้ เนื่องด้วยเป็นวาระเหตุผลทางการเมือง ประกอบกับมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชุมนุมภายในประเทศ ซึ่งตรงจุดนี้สามารถนำไปอ้างได้