ที่มา ประชาทรรศน์
บนสถานการณ์การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ในยามบ้านเมืองวิกฤติทั้งทาง การเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม รุมเร้าอย่างหนักหน่วง อันเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์โลกและสถานการณ์ความไม่ปกติสุขในบ้านเมือง ประชาชนแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นสถานการณ์ที่ถือเป็นวิบากกรรมอย่าหนักหน่วงของคนไทยทั้งชาติร่วมกัน
"ประชาทรรศน์" เสี้ยวส่วนเล็ก ๆ ของสังคมประชาธิปไตย ยืนหยัดต่อสู้เผด็จการมาตั้งแต่ประชาทรรศน์รายสัปดาห์ ฉบับแรก 1 กุมภาพันธ์ 2550 มีจุดยืนชัดเจนในการ “ขุดโค่น” อำมาตยาธิปไตย การกำจัดอนาธิปไตย และ อภิชนาธิปไตย ซึ่งเป็นซากเดนเผด็จการ ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข มา 3 ปีเต็ม ๆท่ามกลางสถานการณ์สื่อเอียงข้าง
3 ปีที่ผ่านมา ...
เราได้ชำแหละเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องกับการกระทำอันไม่ชอบมาพากล ของคณะทหารเผด็จการ คมช.ที่ทำผิดกฏเกณฑ์กติกาการเลือกตั้ง
เราเป็นหัวหอกในการนำเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง จนนำมาสู่ความยุ่งยากในการบริหารราชการแผ่นดิน จนมาถึงการยุบพรรคพลังประชาชน !!! โดยการนำร่างของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ คปพร. ซึ่งปรากฎว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่กล้าทำตามที่รับปากกับประชาชน โดยเฉพาะ บรรดาส.ส.พรรคพลังประชาชน ปัจจุบันที่ได้ย้ายเข้าไปอยู่พรรคเพื่อไทย ได้เข้าชื่อกัน แล้วมีการถอนชื่อออกไป
ท่ามกลางสถานการณ์ ปลุกระดม ยั่วยุ ปลุกเร้า ทุกวิถีทาง ให้ทหารออกมาทำการปฏิวัติรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างสถาบันรัฐสภา ซึ่งเป็นวิถีทางนอกเหนือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่สนใจว่าบ้านเมืองจะพังพินาศเสียหาย เราได้ช่วยกันต่อต้านในสถานการณ์นี้อย่างถึงที่สุด
"ประชาทรรศน์" มีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์ "พลิกขั้ว" และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ท่ามกลางสถานการณ์ละเอียดอ่อนและแหลมคมนี้
1.การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต้องเป็นไปตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย เคารพในการตัดสินใจของตัวแทนประชาชน ผู้จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีความชอบธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้
2.ทหารไม่ควรมีบทบาท ชี้นำ สั่งการ ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
3.นักการเมือง ไม่ควรจะเพรียกร้องให้ทหารออกมาทำการปฏิวัติรัฐประหารในทุกกรณี
กองบรรณาธิการประชาทรรศน์ ยังยืนยันใน “จุดยืนเดิม” นั่นคือ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจนอกระบบ เนื่องเพราะจุดยืนของพวกเราได้ต่อสู้บนหลักการ ไม่ได้ต่อสู้ เพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นอกจากนี้เรายังจะยึดมั่นผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งถือเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤติการณ์ทั้งมวล ไม่ว่าใครพรรคใดก็ตามที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรี”
ทั้งนี้ เรายืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นไปในแนวทางใดก็ตาม แนวทางการดำเนินนโยบายการบริหารประเทศ ต้องอยู่ในร่องในรอยของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ต่อไปเท่านั้น