ที่มา ประชาทรรศน์
"เทพเทือก"ชิงปิดเกมเร็ว นัดถก"ปู่ชัย"เร่งเปิดสภาชง"มาร์ค"นั่งนายกฯ การันตีพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีกระแสต้าน"อภิสิทธิ์"ขึ้นชั้นผู้นำ มั่นใจ"ชวรัตน์"ไม่เตะตัดขาด้วยการยุบสภา
วันนี้ (7 ธ.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า มั่นใจในการจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม และกลุ่มเพื่อนเนวิน เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานเท่านั้น แต่ตั้งแต่มีวิกฤติการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองอาชีพ ต่างวิตกกับปัญหาประเทศชาติ และได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันมานานแล้ว ถือเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของนักการเมืองที่ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐสภาสามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ จนกระทั่งเห็นว่าโอกาสเหมาะ มีการยุบพรรคการเมืองขึ้น ผู้แทนที่สังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ก็มีอิสระในการตัดสินใจ เห็นลู่ทาง และถึงเวลาแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ตนมั่นใจ ซึ่งเป็นความสำนึกรับผิดชอบของนักการเมือง ทุกพรรคการเมืองคิดเหมือนกัน
เมื่อถามถึงกรณีที่อาจมีการเสนอยุบสภาผู้แทนราษฎร นายสุเทพ กล่าวว่า เชื่อในสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองของ คนที่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าไม่กล้าทำเรื่องยุบสภา ฯ เพราะอารมณ์ผู้คนในประเทศ ประชาชนดีใจ ที่เห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย เห็นนักการเมืองหันหน้ามากอดคอกันจัดตั้งรัฐบาลตามความคาดหวังของประชาชน แล้วใครจะทำสวนความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ ตนไม่เชื่อ
"คนที่จะยุบสภาได้วันนี้คือ คนที่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและผมเชื่อว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ใหญ่ที่มีดุลยพินิจ คงไม่ทำอะไรสวนความรู้สึกประชาชน" นายสุเทพ กล่าว
นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีบางกลุ่มอาจไม่ต้องการสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีและว่า ข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อน คนเหล่านี้เป็นนักการเมืองมานานทราบกติกากฎเกณฑ์มารยาททางการเมืองดี ตนขอกล่าวว่า ตั้งแต่คุยกันมาเป็นเดือนๆ ไม่มีใครพูดชื่อนายกรัฐมนตรีคนอื่น นอกจากอภิสิทธิ์ แต่เสียงที่พูดถึงคนอื่น เป็นเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์จากข้างนอก แต่บรรดานักการเมืองไม่มีใครพูดเรื่องนี้กับตน
เมื่อถามถึงขั้นตอนการเข้าชื่อเพื่อขอเปิดประชุมสภาฯ เลือกนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ กล่าวว่า จะต้องหารือ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) และคิดว่าเป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะทำเรื่องกราบบังคมทูลขอเปิดสมัยประชุมสภาฯ สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรี การเจรจาที่ผ่านมาราบรื่นหมด ไม่มีใครมาเจรจาต่อรอง ยังไม่ได้คุย คงต้องรอโหวตในสภาฯเสร็จ และนายอภิสิทธิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้นคงต้องเชิญผู้นำพรรคร่วมมาคุยกัน
ด้าน นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า จะมี ส.ส.ย้ายเข้ามาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ว่า ยังมี ส.ส.อีกหลายคนที่มีการพูดคุยกัน แต่เราเข้าใจว่า การตัดสินใจย้ายพรรคเป็นเรื่องใหญ่ ต้องให้เวลา ตนอยากให้เขามั่นใจว่าเมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้ว จะได้ร่วมอุดมการณ์กันตลอดไป ขณะนี้ ส.ส.ที่ถูกยุบพรรค ที่ไม่มีสังกัดมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจ
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ได้ยื่นเงื่อนไขว่า จะมาร่วมงานด้วย แต่ต้องให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องเงื่อนไขนี้มาก่อน
เมื่อถามว่า มั่นใจว่า จะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเพื่อน ส.ส.พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่แสดงเจตนารมณ์สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ กระบวนการต่อจากนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเสนอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ซึ่งทั้งตนและพรรคประชาธิปัตย์มีความมุ่งมั่นจะแก้ปัญหาบ้านเมืองให้ดีที่สุด หากเพื่อน ส.ส.เห็นความตั้งใจของเราว่า สามารถทำงานแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ ก็ขอเชิญชวนให้มาร่วมทำงานที่ใหญ่และหนัก เพื่อให้ประเทศมีความสามัคคีและเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา
ถามว่า รู้สึกกดดันกับความคาดหวังของประชาชนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มองได้ 2 แง่ คือ ด้านหนึ่งรู้สึกลำบากใจ เพราะรู้ดีว่าอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ แต่อีกแง่หนึ่งจะเป็นพลังที่จะต้องทำงานอย่างจริงจัง ทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องฟังแรงกดดันจากสังคม ส่วนที่มองว่าจะเป็นเรื่องของทุกข์ลาภ ตนไม่ได้มองถึงเรื่องกำไรหรือขาดทุน หาก ส.ส.ที่มาร่วมงานกับเราเห็นว่าเหมาะสม ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำอย่างเต็มที่ ถึงแม้ส่วนตัวเราจะขาดทุน แต่หากส่วนรวมได้กำไรเราก็พร้อม หากตั้งรัฐบาลสำเร็จจะเป็นงานที่หนักมาก หนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นวิกฤตทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงปัญหาการเมืองที่สับสนวุ่นวายมาหลายปี
เมื่อถามว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะเริ่มต้นทำอะไรเป็นอันดับแรก เพื่อการแก้ปัญหาประเทศ นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ใครมาเป็นรัฐบาลสิ่งแรกต้องเริ่มต้นแก้ไขในเรื่องความสามัคคีของคนในชาติ สร้างความเข้าใจให้กับสังคม รวมถึงแก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศ เรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติกลับคืนมา เพราะเรื่องการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลัก และเกียรติภูมิของประเทศจะต้องกลับคืนมา เราต้องไม่ถูกตั้งคำถามเรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนซัมมิตอีก
“รัฐบาลจะอยู่ในยาวหรือไม่ อยู่ที่การทำงาน หากเราสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ ประชาชนก็จะให้โอกาส แต่ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะเป็นตัวกำหนดอายุของรัฐบาลเอง”