ที่มา Thai E-News
โดย คุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์
ที่มา เวบไซต์ ประชาไท
8 ธันวาคม 2551
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 สั่งให้ยุบพรรคการเมือง 3 พรรคประกอบไปด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ทั้ง 3 พรรค เป็นเวลา 5 ปี ก็เกิดกระแสเรียกร้องจากนักธุรกิจ และนักวิชาการ ให้มีการเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง คือต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แทนที่พรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบพรรคไป
ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาจึงมีอยู่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ สมควรจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในช่วงเวลานี้หรือไม่ ในเบื้องต้น
ถ้าพิจารณาจากแง่มุมทางนิติศาสตร์ โดยยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นหลัก ก็อาจกล่าวได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีความชอบธรรมทุกประการ ที่จะรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ แล้วจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มิได้มีบทบัญญัติบังคับไว้ว่า พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมามากเป็นอันดับที่หนึ่ง จะต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสมอไป
แต่ถ้าพิจารณาตามหลักรัฐศาสตร์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยในขณะนี้ จะพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่สมควรจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเวลานี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
เหตุผลข้อแรก ไม่สง่างาม เพราะไม่ได้รับฉันทามติจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมานั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 164 คน ขณะที่พรรคพลังประชาชน ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 233 คน จากการเลือกตั้งครั้งนั้น มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ถึง 69 คน ซึ่งถือเป็นส่วนต่างที่สูงมากพอสมควรในทางการเมือง ในประเด็นนี้
คงต้องถามใจของท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า ท่านจะรู้สึกภาคภูมิใจหรือ ที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูปต่อพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา?
ท่านจะรู้สึกภาคภูมิใจมากกว่าหรือไม่ ถ้ารอให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วท่านจึงจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างสง่างามที่สุด?
เหตุผลข้อที่สอง ซึ่งสำคัญกว่าเหตุผลข้อแรก ก็คือ ตลอดเวลากว่า 193 วัน ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลนั้น พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหา และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งทางตรง และทางอ้อม อีกทั้งแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ หลายคน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น เช่น อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประพันธ์ คูณมี และสำราญ รอดเพชร อดีตสมาชิกวุฒิสภา พิเชฐ พัฒนโชติ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กลุ่มที่ 5 ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย คือ อาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ เกือบจะไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่ผิดกฎหมาย และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วไป ของกลุ่มพันธมิตรฯ เลยแม้แต่น้อย ก็ยิ่งส่งผลให้พี่น้องประชาชนรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยมากยิ่งขึ้นว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้น อยู่เบื้องหลังกลุ่มพันธมิตรฯ ในการโค่นล้มรัฐบาล ที่นำโดยพรรคพลังประชาชน เพื่อให้ตัวเองได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนใช่หรือไม่
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ก็เท่ากับเป็นการยืนยันข้อสงสัย ที่อยู่ในใจของประชาชนจำนวนมากว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้น สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ โค่นล้มรัฐบาล เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงว่ากลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ได้สร้างความเสียหายแก่ประเทศมากเพียงใด และไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย ที่พรรคประชาธิปัตย์เองประกาศว่า ยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังจะสูญเสียคะแนนเสียงจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ไปจำนวนไม่น้อยอีกด้วย
เหตุผลข้อที่สาม ซึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด ก็คือ ถึงแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะสามารถจัดตั้งรัฐบาล ได้สำเร็จ แต่จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างราบรื่น จากข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎร เหลือสมาชิกที่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จำนวน 438 คน เพราะฉะนั้น การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 219 เสียง สมมุติว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่ขณะนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ 165 คนสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง ยกเว้นอดีตพรรคพลังประชาชน คือ พรรคเพื่อแผ่นดิน 21 เสียง อดีตพรรคชาติไทย 15 เสียง อดีตพรรคมัชฌิมาธิปไตย 11 เสียง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 เสียง พรรคประชาราช 5 เสียง ก็จะได้เสียงสนับสนุนทั้งหมด 226 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไปเพียง 7 เสียง และมีเสียงมากกว่า พรรคฝ่ายค้านซึ่งก็คือ อดีตพรรคพลังประชาชนที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า “พรรคเพื่อไทย” เพียง 14 เสียงเท่านั้น ซึ่งโดยธรรมชาติของระบบรัฐสภาแบบไทย รัฐบาลที่เสียง “ปริ่มน้ำ” แบบนี้จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เลย และคงจะมีอายุอยู่ได้ไม่นาน
นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 177 วรรคสองว่า “ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐมนตรีผู้ใด เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันด้วย ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่ หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น” หมายความว่า ถ้ารัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นรัฐมนตรีทั้งหมด คะแนนเสียงของรัฐบาลเวลาลงมติร่างกฎหมายสำคัญๆ ก็จะหายไป 36 เสียงทันที คือเหลือเสียงสนับสนุนเพียง 190 เสียงเท่านั้น น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด และน้อยกว่าพรรคฝ่ายค้าน แนวทางแก้ไข ก็อาจจะต้องแต่งตั้งผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ แต่การกระทำเช่นนี้ ก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคน ย่อมหวังที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อผิดหวังก็อาจจะแสดงพฤติกรรม “ตีรวน” ในสภา กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
เพราะฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ จึงเหลือทางเลือกเพียงทางเดียว คือ ต้องพยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เคยสังกัดพรรคพลังประชาชนหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้จงได้ ซึ่งก็ดูเหมือนว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ของพรรคพลังประชาชน จำนวนกว่า 37 คนนั้น มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลก็จะมีเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 263 เสียง ก็อาจจะกล่าวได้ว่า มีเสถียรภาพ และความมั่นคงพอสมควร
แต่ทว่า ปัญหาจะไม่ได้ยุติลงเพียงเท่านั้น เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “กลุ่มเพื่อนเนวิน” จะกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐบาล สามารถต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และผลประโยชน์ต่างๆ ได้ตามที่ใจปรารถนา ถ้าพิจารณาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ ไปดึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชากรไทย จำนวน 12 คน ซึ่งต่อมาก็ถูกเรียกว่า “กลุ่มงูเห่า” มาสนับสนุนคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 นั้น “กลุ่มงูเห่า” ยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 3 ตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม แล้ว “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่มีสมาชิกถึงกว่า 37 คนก็คงจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 5 ตำแหน่ง
คำถามมีอยู่ว่า ถ้า “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวง “เกรดเอ” ที่มีอำนาจ และงบประมาณมากมายมหาศาล เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ โดยข่มขู่ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเหล่านี้ จะถอนตัวไม่สนับสนุนรัฐบาลอีกต่อไป พรรคประชาธิปัตย์จะกล้าปฏิเสธหรือไม่ เมื่อความอยู่รอดของรัฐบาลล้วนขึ้นอยู่กับ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ทั้งสิ้น
และเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ก็คือ ถ้า “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ยังคงต้องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ต่อรองให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะถูกสังคมประณามว่า “ทรยศประชาชน” ด้วยการเล่น “ปาหี่” ทางการเมือง ช่วยเหลืออดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งหมายรวมถึง นักโทษที่หลบหนีอาญาแผ่นดินที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จะตอบคำถามประชาชนว่าอย่างไร? ไม่ทราบว่า แกนนำพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ไปนั่งแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล กับกลุ่มเพื่อนเนวิน อย่างมีความสุข เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่โรงแรมสุโขทัยนั้น เคยนึกถึง หรือนึกกลัวประเด็นเหล่านี้บ้างหรือไม่
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ กล่าวถึงเฉพาะการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดจาก “กลุ่มเพื่อนเนวิน” เท่านั้น ยังไม่นับการเจรจาต่อรอง ที่อาจเกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของรัฐบาลผสมทุกยุคทุกสมัย พรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะไม่เหลือภาวะผู้นำอีกเลย นโยบาย “วาระประชาชน” ที่ประกาศไว้ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างสวยหรู จะไม่มีทางเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์อันใดถ้าได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถคุมกระทรวงสำคัญๆ ไว้ได้ อีกทั้งไม่สามารถนำนโยบายที่เคยประกาศไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนก็จะรู้สึกผิดหวัง และลงโทษพรรคประชาธิปัตย์ผ่านกระบวนการการเลือกตั้งเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา แล้วพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะต้องกลับไปเป็นฝ่ายค้านอีกครั้ง เป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งไม่คุ้มค่ากันเลย กับการได้เป็นรัฐบาลเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ต้องแลกกับความผิดหวังของประชาชน และความตกต่ำของพรรคในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ยังอาจจะต้องเผชิญกับการชุมนุมต่อต้าน ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีรูปแบบ และระดับความรุนแรง ไม่ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เท่าไรนัก เพราะเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ สามารถดำเนินการอะไรก็ได้ โดยไม่สนใจกฎหมายของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานดอนเมือง และ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้ ย่อมเป็นบรรทัดฐานที่เลวร้าย ที่กลุ่มอื่นๆ จะปฏิบัติตามอย่างแน่นอน เ
มื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเผชิญกับสภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าจะใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปราม จะถูกประณามว่าเป็น “ทรราชที่เข่นฆ่าประชาชน” แต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้ การชุมนุมยืดเยื้อออกไป ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคารพ และไม่รักษากฎหมาย ไร้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์อดทนรออีกสักระยะหนึ่ง แล้วได้เป็นรัฐบาล ด้วยฉันทามติของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ กลุ่ม นปช. จะหมดความชอบธรรมในการชุมนุมต่อต้าน หรือขับไล่พรรคประชาธิปัตย์ในทันที
จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมด พรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ควรเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเวลานี้ เพราะมีแต่ผลเสีย ไม่มีผลดีอะไรเลยแม้แต่น้อย แต่ควรจะยืนหยัดทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่เข้มแข็งต่อไป ขณะเดียวกันก็พยายามปรับปรุงนโยบาย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น พร้อมทั้งเร่งขยายสาขา เครือข่าย และกิจกรรมในพื้นที่ที่ยังคงเป็นจุดอ่อนของพรรค คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันว่า จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะสามารถเป็นทางเลือกที่ดีของพี่น้องประชาชน และสามารถชนะการเลือกตั้งได้ไม่ยาก เมื่อถึงเวลานั้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะได้เป็นรัฐบาลอย่างสง่างาม ชอบธรรม คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีภาวะผู้นำสูง สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อนำพาประเทศออกจากวิกฤติได้อย่างแน่นอน
แต่ไม่ทราบว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีความอดทนมากขนาดนั้นหรือไม่ เพราะจากข่าวล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อยแล้ว และจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ตามที่ได้อธิบายโดยละเอียดข้างต้นแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ขุดหลุมฝังตัวเองจริงๆ !!!