ที่มา ประชาทรรศน์
อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จวกกองทัพอีแอบรัฐบาล ปูดปูนบำเหน็จหลังจัดตั้งสำเร็จ จี้ผบ.ทบ.แจง หวั่นกระทบทั้งกองทัพ เหตุเข้าข่ายประชาธิปไตยจำแลง ด้าน ปธ.กมธ.ทหาร ยื่นสอบเอาผิดผู้นำเหล่าทัพส่งซิกการเมือง ฮึ่มเช็กบิล"อดีตผบ.ทบ-บิ๊กคมช."หมกเม็ดสร้างคฤหาสน์หรูย่าน"บางเขน-วิภาวดี"
หลังจากถูกจับตาว่าอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก จนมีการตั้งฉายารัฐบาลมาร์ค 1 ว่า รัฐบาลเขียว-เหลือง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมของกองทัพ ทั้งๆ ที่ควรจะวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
โดยเรื่องนี้ อ.คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้ให้ความเห็นว่า กองทัพควรชี้แจงในฐานะที่เป็นสถาบันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องของการแทรกแซงทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของทหารที่เป็นตัวบุคคล เพราะการดำเนินการสิ่งใดก็ตามที่ผ่านมาของพล.อ.อนุพงษ์ ถือว่าเป็นเรื่องของความไม่เหมาะสมและจะส่งผลกระทบต่อสถาบันของกองทัพในอนาคตอย่างแน่นอน
“ในการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ 3 พรรคการเมือง บุคคลในกองทัพที่เกี่ยวข้องก็ได้รับสิ่งตอบแทนเป็นตำแหน่ง หรือไม่ก็การรับประกันว่าจะไม่โดนปลดจากตำแหน่งก่อนเกษียณ และกองทัพสามารถมีบทบาทในการคุกคามของรัฐบาลอย่างเปิดเผย รวมถึงกรณีที่ผู้จัดการรัฐบาลอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ต้องนำกระเช้าดอกไม้ไปเชิญพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ.ให้มานั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหม ทั้งที่เป็นคนนอกและเกษียณอายุราชการไปแล้ว ทำไมถึงต้องมีอิทธิพล ต่อการจัดตั้งรัฐบาลขนาดนั้น ซึ่งที่ผ่านมาใครต้องการตำแหน่งในรัฐบาลก็จะต้องเป็นฝ่ายวิ่งเต้นกับผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่กรณีนี้คนเป็นถึงผู้จัดตั้งรัฐบาลจะต้องไปเชิญด้วยตัวเอง เพราะอะไรถึงต้องยอมเสียศักดิ์ศรีถ้าไม่ใช่เพราะกองทัพครอบงำการเมือง” อ.คณิน กล่าว
อ.คณิน ยังกล่าวอีกว่า จากนี้ไปอำนาจในการโยกย้ายตำแหน่งทหารประจำปี ในช่วงกลางปีหน้าที่จะมีขึ้น คาดว่าอำนาจจะตกอยู่ในมือของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและ ผู้บัญชาการทหารบก รวมถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นปัญหาในความเป็นเอกภาพในกองทัพ คนที่ไม่เส้นมีสาย คนที่ไม่ใช่พรรคพวกและไม่ใช่แนวทางของ 3-4คนนี้ก็จะต้องประสบปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้าย หรืออาจจะถูกดอง จะเป็นผลกระทบในเรื่องของเอกภาพของกองทัพพอสมควร เพราะเวลานี้คนบางคนได้เอากองทัพไปเล่นการเมือง ทั้งนี้การเมืองมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลแต่บุคคลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของกองทัพนั้นควรจะต้องเป็นวางตัวเป็นกลาง แต่การกระทำที่ผ่านมากองทัพถูกดึงให้เข้าไปเล่นกับการเมือง หากกองทัพเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้านจึงต้องวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ กองทัพก็จะได้รับผลกระทบ
อ.คณิน กล่าวต่อว่า เชื่อว่าคนในกองทัพ และทหารตัวเล็กๆในกองทัพที่ไม่เห็นด้วยกับผู้นำนั้นมีมาก และถึงแม้จะไม่พอใจ แต่ก็ไม่มีวิถีทางที่จะแสดงออกเพราะกฎระเบียบวินัยของทหารค่อนข้างจะเคร่งครัด แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีการส่งสัญญาณให้สังคมรับรู้บ้างว่าทหารส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ด้วยกับการกระทำของคนเพียงบางคนที่ทำเพื่อตัวเอง
"พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะผู้นำกองทัพบก ซึ่งถือเป็นกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพ จะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการชี้แจงตอบข้อสงสัยให้กับประชาชนถึงสิ่งที่ทำไป ไม่ใช่ออกมาแถลงข่าวปฎิเสธไม่รู้เรื่องเหมือนที่ผ่านมา เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปกปิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมรู้ว่ากองทัพมีบทบาทมากเพียงไร หากเป็นเช่นนี้อนาคตของประเทศคงอับเฉา ประชาธิปไตยคงเป็นประชาธิปไตยหลอกๆ ที่หลอกลวงให้ประชาชนไปเลือกตั้งทำโน่นทำนี้ หลอกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่สุดท้ายก็ใช้วิธีเผด็จการ ” อ.คณิน กล่าว
ด้าน พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่าในวันที่ 5 ม.ค.นี้ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหารฯพร้อมคณะทำงานจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กรณีที่ผู้นำเหล่าทัพออกมา แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ โดยได้รับคำยืนยันจากเจ้ากรมพระธรรมนูญว่าการกระทำดังกล่าว ขัดต่อระเบียบของกระทรวงกลาโหมที่ห้ามทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง เพื่อให้ รมว.กลาโหม สอบสวนความผิดทางวินัยและอาญาทหาร
พ.ต.ท.สมชาย กล่าวอีกว่า ล่าสุด พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.)ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเสนอจะปรับปรุงกองทัพอากาศรวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เป็นหมายเลขหนึ่งในอาเซียนนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดในการพัฒนาปรับปรุงกองทัพเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่ต้องไม่ใช่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ก่อนที่ ผบ.ทอ.ดำเนินการใดๆควรหันกลับไปดูผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง เพราะตนได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการทหารบางคนซึ่งขาดขวัญและกำลังใจในการปฎิบัติหน้าที่โดยเฉพาะทหารที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนจะพิจารณามุ่งหวังพัฒนากองทัพเพียงอย่างเดียว
“ผมยังไม่เคยเห็นผู้นำเหล่าทัพคนไหนลงไปค้างในพื้นที่ภาคใต้เลย จึงขอให้ ผบ.เหล่าทัพลงไปดู ไปให้กำลังใจกับทหารในพื้นที่ ไปดูชีวิตความเป็นอยู่ว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องแรก” ประธานคณะกรรมาธิการการทหารฯย้ำ
พ.ต.ท.สมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการสร้างบ้านพักขนาดใหญ่ให้ อดีต ผบ.ทอ.ทั้งในบริเวณย่านบางเขนและวิภาวดีนั้น เรื่องนี้จะนำบรรจุเข้าพิจารณาในคณะกรรมาธิการทหาร พร้อมจะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สตง. และสื่อมวลชนลงตรวจสอบพื้นที่จริงว่าบ้านพักดังกล่าวมีจริงหรือไม่ ทั้งนี้ บ้านพักเหล่านั้นมีทั้งทหารที่เกี่ยวข้องกับ คมช.และไม่เกี่ยวข้อง คมช.รวมทั้งมีนายทหารหลายคนที่เข้าไปมีบ้านพักดังกล่าว และขอเรียกร้อง พล.อ.อ.อิทธพร ได้มีการทบทวนเรื่องนี้ เพราะการที่นำเงินของกองทัพไปใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากองทัพ คงไม่เหมาะสม และถ้า ผบ.ทอ.รักประชาชนจริง ก็อย่าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง และควรจะตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร