WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, May 2, 2010

ไม่มีสังคมใดที่ไม่มีชนชั้น! – แม้แต่สังคมไทย

ที่มา bangkokbiznews


โดย : เกษม เพ็ญภินันท์


'เกษม เพ็ญภินันท์' จากอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดวิวาทะ'เขียน ธีระวิทย์'ในบทความ"สงครามชนชั้นในไทย:ของแท้หรือของเทียม"


ความพยายามเข้าใจต่อประเด็นการเคลื่อนไหวของแกนนำนปช. หรือการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาล ‘ยุบสภา’ ภายใน 15 วัน

และการใช้ถ้อยคำแบ่งแยกกลุ่มคนในสังคมระหว่าง ‘ไพร่’ กับ ‘อำมาตย์’ และแนวทางต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองในครั้งนี้คือ ‘สงครามทางชนชั้น’ ถ้อยคำเหล่านี้สร้างความแสลงใจให้แก่บรรดาชนชั้นนำ รัฐบาล ข้าราชการ นักวิชาการ ปัญญาชน
และปริญญาชนจำนวนหนึ่งของสังคมไทย
แม้ว่าจะมีข้อกล่าวหา
และความไม่พอใจต่อบรรดาแกนนำ นปช. ที่หยิบยกการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม
ระหว่าง ‘ไพร่’ กับ ‘อำมาตย์’ มาเป็นยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนทางการเมืองครั้งนี้

แต่เมื่อพิจารณาข้อวิจารณ์ในเชิงความคิดและทฤษฎีต่อเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น
โดยบรรดานักวิชาการหรือผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง
กลับไม่ปรากฏอย่างเด่นเจน จนกระทั่งบทความ “สงครามชนชั้นในไทย: ของแท้หรือของเทียม” ของอาจารย์เขียน ธีระวิทย์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553
ได้เสนอข้อคิดเห็นและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ ‘ชนชั้น’ ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’

ทั้งในระดับทฤษฎีและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังตีกรอบ
ความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้อิทธิพลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

ผมไม่แน่ใจว่า
ทรรศนะทางทฤษฎีและมุมมองทางการเมืองของอาจารย์เขียนที่นำเสนอนั้น จะช่วยให้คนอย่างผมเข้าใจถึงสาเหตุที่
บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองได้หรือไม่
รวมทั้งยังทำให้คนอย่างผม (อีกเช่นกัน) เกิดความคลางแคลงใจต่อข้อสรุปที่ว่า
บรรดา กลุ่มคนเสื้อแดงคือ สิ่งที่อาจารย์เขียนเรียกว่า

“ไพร่พันธุ์ทักษิณที่ใช้สิทธิ์ชุมนุมทางการเมืองเกินขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ” นอกจากนี้ ผมก็ยังสงสัยต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เหตุไฉนจึงกลายเป็นความรุนแรงทางการเมืองและพัฒนาต่อไปเป็น ‘ผู้ก่อการร้ายเพียงข้ามคืน
วันที่ 10 เมษายน’ และ ‘ขบวนการแดงล้มเจ้า’ ในปัจจุบัน

วิวาทะเรื่องชนชั้น – จากทฤษฎีสู่สังคมไทย

อาจารย์เขียนเริ่มต้นบทความ “สงครามชนชั้นในไทย: ของแท้หรือของเทียม” ด้วยข้อคิดเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับชนชั้น
ด้วยการอ้างอิงถึงเหมาเจ๋อตุง คาร์ล มาร์กซ์ และเองเกลส์ (Engels) เพื่อบ่งบอกว่าบรรดาแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง
และผู้ที่ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเป็นพวกซ้ายเก่า
และอดีตผู้นำนักศึกษาในยุค 6 ตุลา 19
ซึ่งรับเอาแนวคิด ‘สงครามชนชั้น’ ของเหมาเจ๋อตุงมาเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์
และยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในครั้งนี้:

“คนไทยที่ใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร แกนนำม็อบเสื้อแดงหลายคนเป็นผู้นิยมลัทธิเหมา บางคนเคยใช้คำสอนของเหมาเป็นคัมภีร์
เพื่อปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลในช่วง 10 ปี หลัง 6 ตุลาฯ แต่ไม่สำเร็จ”

ผมเชื่ออาจารย์เขียนว่า
บรรดาอดีตผู้นำนักศึกษายุค 6 ตุลาส่วนใหญ่อ่านสรรนิพนธ์เหมา
แต่นั่นมันน่าจะเป็น 30 กว่าปีที่แล้วนะครับที่พวกเขาเคยอ่าน
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า
พวกเขาจะยึดถือแนวคิดของเหมาเป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ และไม่มีอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่า ‘พวกเขายังเป็นเหมาอิสต์อยู่’ ผมนับถืออาจารย์เขียนเป็นอย่างสูงที่หยิบยกสารนิพนธ์เหมามากล่าวถึง
และยังอ้างอิงตัวบท เพื่อยืนยันในทรรศนะและความเห็นของตนเองว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น:

“ในสงครามชนชั้น การปฏิวัติและสงครามปฏิวัติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น
หากปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะบรรลุการก้าวกระโดดในการพัฒนาของสังคมไม่ได้ ก็จะโค่นชนชั้นปกครองปฏิกิริยาให้ประชาชนได้รับอำนาจรัฐไม่ได้ ชาวพรรคคอมมิวนิต์จะต้องเปิดโปงการโฆษณาชวนเชื่อของพวกปฏกิริยาที่ว่า
การปฏิวัติสังคมเป็นสิ่งไม่จำเป็น และจะเป็นไปไม่ได้ . . .”

ข้อความที่อาจารย์ยกมา เหมารวมเกินไปที่ว่า
บรรดาอดีตผู้นำนักศึกษายุค 6 ตุลาที่ใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร แกนนำ นปช.
และบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงต้องการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล เพราะพวกเขามาชุมนุมทางการเมือง

เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 15 วัน
เนื่องจากแกนนำ นปช.ได้กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่าก้าวขึ้นสู่อำนาจ
ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไม่ชอบธรรม เพราะการสนับสนุนจากทางกองทัพ
และอำนาจเร้นรัฐ แม้ว่าจะมีการรับรองในกระบวนการทางรัฐสภาก็ตาม

ถ้าผมเข้าใจข้อเรียกร้องของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงไม่ผิด
ข้อเรียกร้องของ นปช. มีเพียงเท่านั้น ทุกวันนี้ ไม่มีใครยอมรับการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลว่าเป็นทางออกทางการเมืองที่ดีอีกต่อไปแล้ว การแก้ไขปัญหาทางการเมืองต้องดำเนินการแก้ไขภายในกระบวน
การทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ฉะนั้น
ทางเลือกอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากนั้นย่อมไม่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับหรือคบหาสมาคมด้วย ยิ่งในโลกหลังสงครามเย็น ในโลกแห่งการสิ้นสุดลงของอุดมการณ์ (the end of ideology) ด้วยแล้ว ทั่วโลกยอมรับว่ามีเพียงอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นเพียงอุดมการณ์ทางการเมือง
อุดมการณ์เดียวที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของแกนนำ นปช. นั้น ที่สำคัญก็คือ

การหยิบยกเรื่องปัญหาทางชนชั้น ระหว่าง ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ มาเป็นประเด็นรูปธรรม
เพื่อชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนมาจากข้าราชการชั้นสูง
และชนชั้นนำในสังคมไทย พวกเขาเรียกกลุ่มคนพวกนี้ว่า ‘อำมาตย์’
และเรียกตนเองว่า ‘ไพร่’ ทั้งนี้ก็เพราะว่า อำมาตย์เป็นผู้ที่กำหนดว่า
ใครคือรัฐบาล อีกทั้งลักษณะเชิงโครงสร้าง ก็ยังทำให้ชนชั้นนำสามารถกำหนดทิศทางของสังคมและการเมืองดังที่ต้องการได้

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นไพร่ในทางการเมือง ไม่มีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตกับทิศทางสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ และยังถูกทำให้เป็นผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ
และไร้ซึ่งความมั่นคงในการดำรงชีพ แถมรุมเร้าด้วยปัญหาความยากจน หนี้สิน
และความแร้นแค้นในชีวิตต่างๆนานา

การหยิบยกประเด็นเรื่องชนชั้นในนาม ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ ของแกนนำ นปช.จึงเป็นถ้อยคำที่สามารถสื่อกับผู้คนในสังคม
และบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด


ที่ชัดเจนก็เพราะว่า นี่คือความเป็นจริงที่บรรดาผู้คนที่มาร่วมชุมนุมประสบอยู่ในชีวิตจริง

การแยกแยะทางชนชั้นระหว่าง ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’
ได้ทำให้เกิดความหวั่นวิตกต่อกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทย จนทำให้เชื่อต่อไปว่า การชุมนุมทางการเมืองของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงจะนำไปสู่สงครามระหว่างชนชั้น

ผมเข้าใจว่าอาจารย์เขียนเองก็คิดเช่นนั้น
ส่วนเหตุผลลึกๆ ของอาจารย์ผมไม่อาจทราบได้ แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเขียนของอาจารย์ ก็คงไม่พ้นจากกรอบคิดเรื่องการปฏิวัติตามลัทธิเหมาอิสต์ มาร์กซิสต์ เลนนิสต์ หรือคอมมิวนิสต์ที่อาจารย์เชื่อว่าบรรดาอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา 19
ซึ่งเป็นสมองให้บรรดาแกนนำ นปช.ยังคงใช้เป็นยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้

เท่าที่ผมติดตามการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้มา ผมคิดว่า พวกเขาน่าจะหลุดและก้าวพ้นแนวคิดพวกนั้นไปนานแล้ว พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตยครับ ขอย้ำนะครับว่าพวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ยิ่งอ่านข้อเขียนของอาจารย์เขียนยิ่งทำให้ผมไม่แน่ใจว่า
อะไรคือสงครามชนชั้น และ ชนชั้นในไทยมีจริงหรือ? บอกตรงๆ อย่างไม่อ้อมค้อมนะครับว่า ผมอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กล่าวถึง ‘ชนชั้น’ และ ‘การปฏิวัติทางชนชั้นในยุคสมัยที่เขาไม่เอาการปฏิวัติแล้ว’

ฉะนั้น เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ทั้งตัวผมเองและรวมทั้งอาจารย์เขียนด้วย อันดับแรก ผมต้องกลับมาทำเข้าใจต่อสาระ ความหมาย และความรู้เกี่ยวกับการจำแนกประเภทกลุ่มคนด้วย ‘ชนชั้น’ เพื่อให้แน่ใจว่า ผมเข้าใจไม่ผิด

ผมเองก็ต้องแปลกใจไม่น้อยว่า บุคคลแรกๆ ที่กล่าวถึงและแบ่งประเภทกลุ่มคนต่างๆ
ด้วยรูปแบบทางเศรษฐกิจ กลับกลายเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาทางศีลธรรม
และเป็นผู้เขียนงานชิ้นสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ (ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเลิกอ่านแล้ว!) คือ
An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations
(หรือรู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อสั้นๆ ว่า The Wealth of Nations) นามว่า อดัม สมิธ (Adam Smith)

แม้ว่าในหนังสือเล่มนี้ สมิธจะไม่ได้กล่าวถึงชนชั้นทางสังคมโดยตรง แต่ก็แจกแจงเรื่องชนชั้นไว้กับผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจของการแบ่งงานกันทำในสังคมพาณิชยกรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 ชนชั้น คือ เจ้าที่ดิน, นายทุน, และกรรมกร
การจำแนกประเภทของกลุ่มคนของสมิธในที่นี้ เป็นผลมาจากกระบวนทางประวัติศาสตร์ที่ผลประโยชน์ของสังคมก่อตัวขึ้น
และได้รับการครอบครองจากกลุ่มคนต่างๆ ตามกำลังความสามารถ โอกาส เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบในกลไกทางเศรษฐกิจ และการสะสมทุนกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เข้าใจร่วมกันว่า การแบ่งแยกกลุ่มคนเกิดขึ้นและพัฒนาความเป็นชนชั้นต่างๆ ด้วยการมีสำนึกร่วมในเชิงเศรษฐกิจที่แต่ละคนแต่ละชนชั้นอิงอยู่กับชนชั้นไหนในสังคม

ต่อมาความคิดนี้ได้มีอิทธิพลต่อมาร์กซ์ในการวิพากษ์ระบบทุนนิยม

แน่นอนว่า ‘ชนชั้น’ เป็นแกนกลางสำคัญอันหนึ่งในทฤษฎีสังคมของมาร์กซ์ ชนชั้นถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับต่อการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
ประหนึ่งว่าเป็นผลประโยชน์ทั่วไปในสังคม
ส่วนความขัดแย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์นั้นๆ คือ
การขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ ในหนังสือ Communist Manifesto มาร์กซ์และเองเกลส์กล่าวถึงปัญหาระหว่างชนชั้นไว้ในข้อความแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้ว่า “ประวัติศาสตร์ของสังคมที่เป็นอยู่คือประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางชนชั้น” ด้วยเหตุนี้

ทฤษฎีชนชั้นของมาร์กซ์นอกจากจะเป็นแนวทางการวิเคราะห์ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
ในระบบทุนนิยม ความขัดแย้งทางชนชั้นยังเป็นสภาวการณ์ที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อชนชั้นผู้ครอบครองทุนคือผู้กดขี่ ในขณะที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ถูกกดขี่

นอกจากนี้ ทฤษฎีชนชั้นของมาร์กซ์ยังนำเสนอแนวคิด ‘จิตสำนึกทางชนชั้น’ เพื่ออธิบายความตระหนักรู้ถึงตนเองในฐานะที่เป็นสมาชิกของชนชั้น โดยที่ชนชั้นจะแสดงจุดยืนของตนเองออกมาในฐานะที่เป็นชนชั้นหนึ่งด้วยการมีผลประโยชน์

และมีเป้าหมายร่วมกัน มากกว่าการรวมกลุ่มของปัจเจกชนเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น

มาร์กซ์กล่าวว่า “ชนชั้นคือผู้กระทำที่แท้จริง
พวกเขาเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อปลดปล่อยความแร้นแค้นที่เกิดขึ้นจากการกดขี่ขูดรีดแรงงาน”

นี่คือคำอธิบายเชิงทฤษฎีของแนวคิด ‘ชนชั้น’ อย่างคร่าวๆ ที่ผมกลับไปทบทวนดู
และช่วยให้เข้าใจต่อไปว่า แนวคิดเรื่อง ‘ชนชั้น’ ทำให้เห็นถึงปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาค
และความไม่เป็นธรรมในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจ
ส่งผลให้เกิดการจำแนกแยกกลุ่มคนต่างๆ ออกจากกัน
และยังทำให้เห็นภาพความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อผลประโยชน์ ความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาหลักของสังคม รวมทั้งปัญหาการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทางสังคม
ที่ผู้ที่ด้อยโอกาสย่อมเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา

อาจารย์เขียนครับ ที่อาจารย์เชื่อว่า สังคมไทยไม่มีชนชั้น และยืนยันให้เห็นจากข้อเท็จจริงของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้างกับนายจ้าง เป็นต้น ว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล
หรือ “เรื่องเฉพาะรายมากกว่าในเชิงชนชั้น” อันที่จริงปัญหาความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือระหว่างกรรมกรกับผู้ประกอบการ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะราย

แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ได้เปรียบและผู้เสียเปรียบ ที่ฝ่ายหลังลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างที่เป็นธรรม สวัสดิการที่พึงได้รับ เป็นต้น

อาจารย์เขียนยืนยันอย่างมั่นใจว่า “โดยพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย คนไทยนิยมที่จะอยู่ร่วมกันแบบระบบอุปถัมป์มากกว่า วัฒนธรรมอุปถัมป์เป็นศัตรูสำคัญของการเกิดและพัฒนาของสังคมชนชั้น”

ด้วยความเคารพอาจารย์นะครับ อาจารย์ไม่เคยสงสัยเลยสักนิดหรือว่า ระบบอุปถัมภ์ก็คือระบบชนชั้นทางสังคมรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดหลัก แต่เป็นสายสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่ต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลต่อกันในรูปผลประโยชน์
ที่ต่างฝายต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ลักษณะทางชนชั้นเช่นนี้ทำให้ไม่มีความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ทุกปัญหาย่อมไม่มีปัญหา ทุกอย่างพูดคุยกันได้ ภายใต้ร่มเงาของเครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจหรือผลประโยชน์
และความเกรงใจต่อนายของอีกฝ่ายหนึ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง ระบบอุปถัมป์เป็นมรดกตกทอดมาจากระบบศักดินา โครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างไพร่กับนายล้วนกำหนดสถานภาพของแต่ละบุคคลในสังคม
และยังเป็นปัจจัยหนึ่งในที่มาของวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย

อาจารย์เขียนครับ ยอมรับความจริงเถอะครับว่า
ไม่มีสังคมใดที่ไม่มีชนชั้น แม้แต่สังคมไทยก็ไม่มีข้อยกเว้น!
สังคมไทยไม่ได้เป็นอะไรที่มีลักษณะเฉพาะ
และแตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ จนไม่สามารถสรรหาแนวคิดใดๆ มาอธิบายไม่ได้

ก้าวให้พ้นทักษิณ – แล้วจะเห็นประเด็นปัญหาอีกมากมาย

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้สร้างผีตนหนึ่งขึ้นมาหลอกหลอนตัวเอง ผีตนนั้นก็คือ
ผีทักษิณ ผีตนนี้ได้หลอกหลอนปรปักษ์ทางการเมืองของเขา
ผู้อำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน นายทุนเก่า คนชั้นกลางในเมือง มนุษย์เงินเดือน ข้าราชการ สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ครั้งหนึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์และเชื่อว่าตนเองรู้ทันทักษิณ

ผีตนนี้ยังคงเวียนว่ายอยู่รอบๆ การเมืองไทย
แม้ว่าตัวจริงเสียงจริงของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทย รวมทั้งยังไม่มีที่พำนักพักพิงอย่างถาวรในต่างประเทศอีกด้วย กระนั้นก็ตาม ความเป็นผีของผีตนนี้กลับเผยตัวตนผ่านแกนนำ นปช. และบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง

ความคิดความเชื่อเช่นนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งอาจารย์เขียนด้วยที่เชื่อว่า
แกนนำ นปช. ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแทนของทักษิณในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน
ในขณะที่บรรดา สส.ของพรรคเพื่อไทยคือผู้เคลื่อนไหวในเวทีรัฐสภา ฉะนั้น การชุมนุมทางการเมืองและข้อเรียกร้องต่างๆ ของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง
หรือพรรคเพื่อไทยจึงเป็นเพียงตัวแทนของทักษิณเท่านั้น

ผมไม่เคยปฏิเสธว่า บรรดาแกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทยนั้นมีสายสัมพันธ์
และเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แต่ผมไม่คิดว่า สายสัมพันธ์
และการเชื่อมโยงดังกล่าวจะเป็นเหตุผลที่บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาร่วมชุมนุม ณ บริเวณผ่านฟ้าและแยกราชประสงค์

ถ้าผมคิดว่า การเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงผูกโยงกับทักษิณ ชินวัตรอย่างแยกไม่ออก ผมจะมองความเป็นจริงของการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ต่างไปจากอาจารย์เขียนสักเท่าไหร่ และเชื่อตามอาจารย์ด้วยว่าพวกเขาคือ ‘ไพร่แดง’ หรือ ‘ไพร่พันธุ์ทักษิณ’ ตามที่อาจารย์เรียกพวกเขา แต่เมื่อผมมองข้ามหรือข้ามให้พ้นทักษิณ ผมได้แลเห็นอะไรมากมาย ที่อยู่ในสังคมไทย
และผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในเมืองล้วนมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง

ประการแรก ก็คือ ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย นั่นคือ ความไม่เป็นธรรมในสังคม
ที่มีต้นเหตุมาจากเกิดจากความไม่สมดุลย์ในการจัดสรรทรัพยากรทางสังคม นโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาเมืองและเอาเปรียบชนบท ข้าราชการที่เป็นนายของประชาชน และระบบสองมาตรฐานในกระบวนการทางตุลาการภิวัตน์

บรรดากลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงคงไม่ได้พูดจาภาษาวิชาการได้ แต่เนื้อหาที่สื่อออกมาล้วนอยู่ภายใต้กรอบความคิดเหล่านี้ทั้งสิ้น

ประการที่สอง การละเมิดสิทธิทางการเมืองของบรรดาคนเสื้อแดง การยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนเป็นมูลเหตุสำคัญ
ที่ทำให้บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงรับไม่ได้ต่อความเป็นสองมาตรฐานของกระบวนการ
ทางตุลาการมากที่สุด

นักวิชาการ ปัญญาชนและสื่อส่วนใหญ่ละเลยต่อเรื่องสิทธิทางการเมือง
ที่แสดงออกผ่านการสนับสนุนพรรคการเมือง โดยคิดเพียงว่า

พรรคการเมืองเหล่านี้เป็นร่างทรงทางการเมืองของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แต่ความเป็นจริงทางการเมืองมิได้เป็นเช่นนั้น

พรรคการเมืองคือสถาบันทางการเมือง การยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน
จึงไม่ใช่ปัญหาระหว่างทักษิณกับการเมืองไทยเพียงอย่างเดียว หากยังร้อยรัดปัญหา
และการละเมิดสิทธิทางการเมืองของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง เพราะว่ากระบวนการเลือกตั้ง
และการสนับสนุนพรรคการเมืองของทุกคนไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมทางการเมือง หากยังเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกของสิทธิทางการเมือง

ประการที่สาม ทัศนคติและความเข้าใจในสิทธิทางการเมืองของประชาชน ชาวบ้านหรือรากหญ้าเปลี่ยนแปลงไปมาก ในช่วงเวลาที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พวกเขาแลเห็นดอกผลทางนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองการดำเนินชีวิตขั้น พื้นฐาน
ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย ในรูปแบบของนโยบายประชานิยม

นักวิชาการ ปัญญาชน คนชั้นกลางและสื่อบางคนเรียกประชาธิปไตยเช่นนี้ว่า ‘ประชาธิปไตยที่กินได้’ และยังดูแคลนชาวบ้านว่าเห็นแก่อามิสสินจ้างเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลทักษิณในเวลานั้น แต่จะมีสักกี่คนที่จะคิดต่อไปว่า นี่คือ
ครั้งแรกที่พวกเขาได้รับดอกผลทางนโยบายที่ควรได้รับจากระบบการเมือง นี่คือครั้งแรกที่พวกเขาได้จัดการทรัพยากรทางสังคม งบประมาณที่กระจายจ่ายแจกสู่ท้องถิ่น
เพื่อสนองตอบต่อชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัยด้วยตนเอง

ดังนั้น การเข้าร่วมและเรียกร้องทางการเมืองในนามของคนเสื้อแดง
จึงถือว่าเป็นการทวงสิทธิที่พึงได้รับในฐานะพลเมืองของรัฐและประชาชนของประเทศนี้รวมอยู่ด้วย

ประการที่สี่
บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงนั้นมีความหลากหลายมาก นับตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงที่รักและสนับสนุนทักษิณ กลุ่มคนเสื้อแดงที่เห็นด้วยกับแนวทางในการบริหารประเทศของทักษิณ กลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม กลุ่มคนเสื้อแดงที่มาจากการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยเป็นแนวร่วมของกลุ่มพันธมิตรฯ มาก่อนแต่เปลี่ยนความคิดมาสนับสนุน นปช. หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนเสื้อแดงที่แกนนำในท้องถิ่นต่างๆ จัดตั้งมา เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่มีใครสรุปแบบเหมารวมถึงความเป็นเอกภาพของคนเสื้อแดงได้

นอกจากนี้ บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ล้วนมาด้วยเป้าประสงค์ที่แตกต่างกัน บางคนมาเพื่อเรียกร้องปัญหาปากท้องของพวกเขา บางคนมาเพื่อหวังผลในทางการเมืองในอนาคตเพราะตนเองเป็นแกนนำจากท้องถิ่นต่างๆ บางคนมาเพราะไม่พอใจในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
หรือแม้กระทั่งบางคนมาก็เพราะรักทักษิณอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าเหตุผลและการเข้าร่วมของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงจะเป็นเช่นใดก็ตาม ทุกคนควรเคารพในความคิดและจุดยืนทางการเมืองของพวกเขา
ไม่มีใครสามารถตัดสินสิ่งที่พวกเขาคิด
สิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้น ถูกหรือผิด ดีหรือด้อยกว่าความคิดเห็นของคนอื่น

ในสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก
ความแตกต่างทางทรรศนะและจุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา เพียงทุกฝ่ายต้องยอมรับและเคารพต่อความคิดความเห็น
ที่ไม่เหมือนหรือแตกต่างของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

เป็นทั้งความบังเอิญและความโชคร้ายที่ปัญหาการยึดติดกับความคิดความเชื่อของตนเอง
โดยไม่เคารพความคิดความเห็นของคนอื่นๆ นั้น เกิดขึ้นในสังคมไทย ผ่านการบ่มเพาะลักษณะทางวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม และครอบงำความเข้าใจต่อโลกด้วยความเชื่อในความเป็นเอกภาพ จนนำไปสู่การปิดกั้นความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเห็น และยังทำให้กลายเป็นอื่นหรือสิ่งที่แปลกแยกทางสังคมอีกด้วย


ประการสุดท้า�โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของแกนนำ นปช. ที่แยกราชประสงค์ แต่เมื่อการสลายการชุมนุมในบริเวณผ่านฟ้าเกิดขึ้น การรวมผู้ชุมนุมทั้งหมดให้มาอยู่ที่แยกราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงนั้น ก็ชอบธรรมบนพื้นฐานเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ชุมนุมขึ้นมาทันที

แน่นอนว่า การโยกย้ายถิ่นฐานการชุมนุมได้สร้างความเดือดร้อนแก่คนกรุงเทพฯ
ชนชั้นกลาง พ่อค้านักธุรกิจ มนุษย์เงินเดือน ซึ่งไม่คุ้นชินกับการชุมนุม ประกอบกับพื้นที่นี้ยังเป็นใจกลางสำคัญทางธุรกิจการค้าย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ ฉะนั้น จะเห็นว่าบรรดานักธุรกิจและผู้ประกอบการออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนที่ชุมนุม

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีการกล่าวถึงภายใต้การเรียกร้องของบรรดาสมาคมการค้า วิสาหกิจต่างๆ ก็คือ การยอมรับในการแสดงออกในเรื่องสิทธิทางการเมือง และความเข้าใจในปัญหากับข้อเรียกร้องของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง ที่ความเจริญของเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจของบรรดาสมาคมการค้าต่างๆ ได้รับประโยชน์ท่ามกลางการเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน คนต่างจังหวัด คนส่วนใหญ่ของประเทศ

รัฐบาลเองซึ่งเป็นทั้งคู่กรณีและผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง กลับทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่หวงห้ามในการชุมนุมทางการเมืองด้วยการหยิบยกประเด็น ทางเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก และปิดบังอำพรางปัญหาที่เรียกร้องโดยบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงไว้

สิ่งนี้ได้พัฒนาความไม่พอใจของคนกรุงเทพฯ

ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงคนเสื้อแดงจากกลุ่มคนต่างๆ การปะทะคารม ถ้อยคำผรุสวาท หรือแม้แต่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมในแต่ละฝ่าย จนนำไปสู่ความรุนแรงตามมา รัฐบาลดูเหมือนว่าจะพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นเหตุอันชอบธรรมในการสลายการชุมนุมของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงในท้ายที่สุด

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย แม้ว่า
ข้อเสนอเรื่องการเจรจาหาทางออกถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่การเจรจาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช.
ถูกยกเลิกกลางคันจากฝ่ายรัฐบาล ทุกอย่างเริ่มเลวร้ายลง
เมื่อทั้งแกนนำนปช. และรัฐบาลก็ถ่าโถมโหมความรุนแรงเข้าหากัน
เมื่อแกนนำ นปช. ก็ยกระดับการเคลื่อนไหวและวิธีการป้องกันตนเอง
จากการสลายการชุมนุมของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลก็เร่งความรุนแรงด้วยการหามาตรการในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
และระดมกำลังทหารตำรวจจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสลายการชุมนุม


ทั้งหมดนี้เป็นคำตอบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่ แน่นอนว่า
ทุกคนย่อมบอกว่า ‘ไม่’

แต่ข้อเท็จจริงที่สังคมต้องเข้าใจก็คือ
การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเป็นปรากฎการณ์ปกติ
ในการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่สามารถเกิดขึ้นทั่วโลก และยอมรับกันได้ ถ้าไม่ได้พัฒนาไปสู่ความรุนแรงหรือการจราจลทางการเมือง
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ

แต่บรรดากลุ่มคนต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้อง
ให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายต่อบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงหรือเร่งสลายการชุมนุม บอกว่า การชุมนุมทางการเมืองคือการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศชาติอันเป็นที่หวงแหนของพวกท่าน

น่าสนใจว่าต่างชาติมิได้คิดเช่นนั้น สิ่งที่พวกเขาคิดก็คือ
ภายใต้บรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง เหตุใดจึงต้องมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวมทั้งการมีกองกำลังทหารออกมาประจำการเพื่อควบคุมดูแลความสงบของกรุงเทพฯ การประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับและการมีทหารเดินตรวจการตามย่านต่างๆ
และท้องถนน เป็นสภาวการณ์อันไม่ปกติในระบอบประชาธิปไตย

สิ่งนี้ต่างหากครับ ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อความสงบสุขของประเทศ
และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์น้อยลง

ข้อเสนอที่เป็นจริง – แต่ทำไม่ได้


คุณอภิสิทธิ์ครับ
ยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเถอะครับ

ในขณะเดียวกัน ผมก็เรียกร้องให้บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงย้ายสถานที่ชุมนุมจากแยกราชประสงค์
และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งเลิกการกระทำการใดๆ ที่นำไปสู่การกระทบกระทั่งกับผู้คนในสังคมที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองของ นปช. และเมื่อใดก็ตามที่ยกเลิกการชุมนุม ก็ขอให้มอบตัวเพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่หาว่าละเมิดกฎหมาย
หรือคดีความต่างๆ ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ เพื่อเรียกความสงบสุขของสังคมให้กลับมา

ผมเชื่อว่าข้อเรียกร้องจะเป็นจริงได้ ถ้ารัฐบาลเริ่มต้นก่อน และแกนนำ นปช. จะยินดีปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ความฝัน ที่เป็นจริงไม่ได้ เพราะว่า มีปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจต่อกันและกันของทั้ง 2 ฝ่าย คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และความเข้าใจของรัฐบาลที่เชื่อว่า การเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 หรือ 30 วัน
ของฝ่าย นปช.นั้น มันมากกว่าการยุบสภา หากหมายถึง ‘สงครามทางชนชั้น’

ผมไม่แน่ใจว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่าที่ว่า
การเรียกร้องให้ยุบสภาจะนำไปสู่การเกิดขึ้นมาของสงครามชนชั้น
ซึ่งอาจารย์เขียนกล่าวไว้ในบทความของท่าน แต่ที่ผมเห็นจริงๆ ก็คือ บรรดาคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในครั้งนี้ ก็เพื่อนำการเมืองกลับสู่กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้สถาบันทางการเมือง รัฐสภาและรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การจัดสรรทรัพยากรทางสังคม และที่สำคัญที่สุดก็คือ – ความไม่เป็นธรรมในสังคม

อาจารย์เขียนครับ ผมเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ผมเชื่อว่า ถ้าทุกอย่างกลับสู่กระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว มันไม่มีหรอกครับ
สิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามชนชั้น’ แม้ว่าจะมีชนชั้นในสังคมไทยก็ตาม