ที่มา ข่าวสด
ปลุกปั้นมานานกับมาตรการลงโทษอิหร่านฉบับใหม่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
กระทั่งวันที่ 9 มิ.ย. บรรดาชาติมหา อำนาจนำโดยสหรัฐอเมริกา ก็ลงมติ 1929 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 12 ต่อ 2 ให้ใช้มาตรการฉบับใหม่ลงโทษอิหร่าน ฐานยังเดินหน้าโครงการต้องสงสัยพัฒนาอาวุธนิว เคลียร์ แม้ว่าอิหร่านปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ใช่ แค่จะเอาไปใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า
มีเพียงตุรกีและบราซิลที่โหวตคัดค้านมตินี้ของยูเอ็น หลังจากเพิ่งเปิดเจรจาบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลอิหร่านในการส่งยูเรเนียมไปเสริมสมรรถภาพนอกประเทศ เพื่อความสบายใจว่าจะไม่นำไปผลิตอาวุธ
ขณะที่ นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประ ชาชาติ กล่าวด้วยท่าทีประนี ประนอม ว่า ถึงแม้จะมีการลงมติไปแล้ว แต่กระบวน การทางการทูตที่จะแก้ไขปัญหานิวเคลียร์จะดำเนินต่อไป
ด้านประธานาธิบดี มาห์มู้ด อาห์มาดิเนจัด ผู้นำอิหร่าน กล่าวอย่างไม่แยแสทันทีหลังจากมีมติออกมา
"วันนี้พวกเขาลงมติต่อต้านเรา เราจะถือว่ามตินั้นเหมือนทิชชูใช้แล้วที่ขว้างลงถังขยะ"
"มาตรการลงโทษต่างๆ ที่ปาเข้าใส่เราทุกด้าน เหมือนแมลงวันตัวหนึ่ง เราจะอดทนและยับยั้งชั่งใจไว้"
ระหว่างเดินทางไปเยือนจีน เพื่อร่วมงานเวิลด์เอ็กซ์โป ที่นครเซี่ยงไฮ้ วันที่ 11 มิ.ย. ผู้นำอิหร่านกล่าวย้ำอีกว่า "มาตรการลงโทษใหม่ของยูเอ็นจะไม่มีผลใดๆ ต่ออิหร่าน"
จากเดิมที่คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น ใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน 6 ข้อ ตั้งแต่ปี 2549
ในจำนวนนี้ 4 ข้อเป็นมาตรการลงโทษ
เมื่อบวกกับมาตรการใหม่ที่เพิ่งผ่านเป็นมติที่ 1929 อิหร่านจึงถูกลงโทษหนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ
เช่น ห้ามอิหร่านลงทุนด้านนิวเคลียร์นอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภคหรือกิจการใดๆ นอกจากนี้ ยังสั่งห้ามการนำเข้าอาวุธชนิดใหม่ๆ เข้าไปในอิหร่าน ห้ามอิหร่านดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธนำวิถี
ที่สำคัญคือเพิ่มบัญชียึดทรัพย์บุคคลต่างๆ ของอิหร่านอีก 40 รายชื่อ
ในตอนท้ายของข้อบัญญัติระบุให้ตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 8 คนคอยตรวจสอบว่า มาตรการที่ประกาศใช้ไปได้ผลหรือไม่ และต้องหาวิธีที่จะทำให้ได้ผล
พีเจ ครอวลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐคาดหวังให้ทุกประเทศปฏิบัติตามมติ 1929 อย่างจริงจัง เพื่อให้มีผลจริงต่ออิหร่าน
ควรพิจารณาดูว่าจะไปใช้ทั้งในด้านทวิภาคี และพหุภาคีได้อย่างไร
ในส่วนของสหภาพยุโรป คาดว่าจะมีการประชุมหารือเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า
นอกเหนือจากการโจมตีของอาห์มาดิเนจัด จวกว่า การออกมติครั้งนี้บงการโดยรัฐบาลสหรัฐที่พยายามจะเข้าควบคุมตะวันออกกลาง และผูกขาดการครอบครองพลังงานนิวเคลียร์เฉพาะในกลุ่มมหาอำนาจ 5 ชาติ ในคณะมนตรีความมั่นคงถาวร
กลุ่มฮามาสโจมตีแรงกว่านั้น ว่า คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น "สองมาตรฐาน"
กับอิหร่านเล่นงานได้เล่นงานดี ทั้งที่เป็นโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ
แต่กับอิสราเอลที่ก่ออาชญากรรมต่อชาวปาเลสไตน์ครั้งแล้วครั้งเล่า กลับไม่ทำอะไรเลย
กรณีล่าสุดคือ การบุกสังหารนักกิจกรรมชาวตุรกี 9 ศพบนเรือที่ขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกขŒไปให้ชาวปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซ่า
ฮามาส กล่าวว่า มติของสหประชาชาติเป็นเครื่องมือที่สร้างอำนาจให้ยิวในตะวันออกกลาง และขัดขวางชาติอาหรับเข้าถึงความรู้และการใช้พลังงานนิวเคลียร์
สําหรับเอเชีย จีนถูกจับตามองเป็นพิเศษ จากการพลิกท่าทีที่หันมาร่วมโหวตกับสหรัฐ
นักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนไม่อยากดึงดันอยู่ลำพัง หลังจากรัสเซียตกลงผลประโยชน์กับสหรัฐได้แล้ว
ที่สำคัญก็คือ จีนไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า มติใหม่นี้ไม่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างจีนกับอิหร่าน หลังจากปีก่อนมูลค่าการค้าของสองประเทศสูงถึง 36,500 ล้านดอลลาร์ จีนเข้าไปลงทุนด้านพลังงานในอิหร่านมากมาย รวมถึงการก่อสร้างถนนหนทาง สะพาน และโรงงานไฟฟ้า
ขณะที่ นายฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนชี้แจงว่า มาตรการลงโทษครั้งใหม่ไม่ได้ขัดขวางการหาทางออกเรื่องนี้ทางการทูต และจีนก็เรียกร้องให้เปิดโต๊ะเจรจาขึ้นใหม่
ด้านเกาหลีใต้ หลังการลงมติของคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นในเรื่องอิหร่านผ่านพ้นไป รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ขอต่อคิวที่จะนำเรื่อง "เกาหลีเหนือ" เข้าสู่การประชุมเพื่อหามาตรการลงโทษด้วยเช่นกัน
หลังจากเกิดเหตุพิพาทที่กระเทือนความสัมพันธ์ของสองประเทศครั้งใหญ่ กรณีเรือรบโชนันของเกาหลีใต้ถูกยิงจมทะเลเมื่อเดือนมีนาคม ทำให้ลูกเรือเสียชีวิตถึง 46 ราย
ขณะที่รัฐบาลเกาหลีเหนือตอบโต้ข้อกล่าวหานี้อย่างรุนแรง ว่าเกาหลีใต้แต่งเติมสร้างข้อมูลขึ้นมาเองเพื่อใส่ความ
เกาหลีเหนือขู่ด้วยว่า หากมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคง "จะได้เห็นดีกัน!!"