ที่มา บางกอกทูเดย์ เขียนไปแล้วถึงความสำคัญของนักการเมืองในตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. รวมทั้งรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งควรจะต้องถูกกำกับดูแลจากสายตาของประชาชนและสื่อมวลชนว่า...ทำหน้าที่อย่างไร? การจะไปกำกับดูแลหรืออีกนัยหนึ่งคือการติดตามตรวจสอบนักการเมืองนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาถึง คือ มีบทบัญญัติของกฎหมาย ในสิทธิที่จะกระทำได้หรือไม่ และการใช้สิทธิดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลในการตรวจสอบได้มากน้อยเพียงใด ควรต้องพิจารณาเรื่องสิทธิก่อน รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 62 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ” พิจารณาความตามมาตรา 62 วรรคแรกจะเห็นได้ว่า...การร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั้น สามารถกระทำได้ ผู้ที่มีสิทธิร้องขอรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าเป็น “บุคคล” คำว่า บุคคลมิได้มี คำจำกัดความเอาไว้ ก็ต้องตีความว่า หมายถึงบุคคลทั่วไป ที่อาจเป็นทั้งบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ การตรวจสอบตามที่บุคคลจะใช้สิทธินั้นมิได้หมายความว่า...บุคคลใดจะมีอำนาจหน้าที่ไปตรวจสอบด้วยตนเอง แต่จะอยู่ในฐานะผู้ร้องขอให้มีการตรวจสอบเท่านั้น โดยใช้สิทธิตามที่มี ร้องไปยังหน่วยงานรัฐที่มี อำนาจหน้าที่ เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ถ้าไปพิจารณาความตาม มาตรา 62 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า... “บุคคลซึ่งให้ข้อมูลโดยสุจริตแก่องค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง” จากมาตรา 62 วรรคสอง จะเห็นได้ว่า...การใช้สิทธิร้องขอให้มีการตรวจสอบนั้น จะต้องเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ มิได้เป็นไปเพื่อการกลั่นแกล้ง หรือการได้ข้อมูลมาในลักษณะที่ไม่สุจริต จนพิจารณาได้ว่า การให้ข้อมูลนั้นไม่สุจริตตามไปด้วย ดังนั้น มาตรา 62 วรรคสอง จึงบัญญัติเรื่องการใช้สิทธิของบุคคลที่จะร้องขอให้มี การตรวจสอบเอาไว้ว่า ต้องเป็นไปโดยสุจริต ทั้งนี้เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกร้องเอาไว้ด้วย การร้องโดยใช้สิทธิตามมาตรา 62 จะต้องเป็นในลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้อง ถ้าไปร้องเรื่องอื่นที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ก็จะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต บุคคลผู้ใช้สิทธิร้องนั้น อาจถูกฟ้องกลับก็เป็นได้ เมื่อพอ เข้าใจสิทธิการร้องตามมาตรา 62 แล้ว...ก็ควรมาพิจารณาถึงการให้ข้อมูลโดยสุจริตว่า...ข้อมูลนั้นจะหามาได้อย่างไร และจะมีความน่าเชื่อได้ว่า...ข้อมูลที่ร้องนั้นมีมูลเพียงพอที่จะรับไปตรวจสอบหรือไม่ บุคคลที่ใช้สิทธิในการร้องขอให้มีการตรวจสอบ จึงควรมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องที่จะร้องขอให้มี การตรวจสอบด้วย มิใช่เพียงแค่เห็นข้อมูลอะไรเพียงเล็กน้อย...แต่ไม่รู้วิธีหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ใส่ใจที่จะทำ ก็จะดันทุรังยื่นคำร้องไปให้มีการตรวจสอบ หรือเขียนเรื่องไปก่อนโดยหวังผลอย่างอื่น แบบนี้อาจจะเสียเรื่องและเสียเวลา รวมทั้งทำให้เรื่องร้องนั้นไม่ก่อประโยชน์ต่อส่วนรวม และไม่สามารถนำไปใช้ในการ กับดูแลหรือตรวจสอบได้ การใช้สิทธิตามมาตรา 62 จึงควรมีการพิจารณาก่อนว่า...เรื่องที่พบเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่นั้น มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง และมีมูลในเบื้องต้นเพียงพอที่จะส่งเรื่องร้องให้ตรวจต่อไปได้หรือไม่ ถ้าบุคคลใดที่ต้องการใช้สิทธิตามมาตรา 62 มีความรู้ความเข้าใจพอควรก็จะ เป็นเรื่องดีที่มีบุคคลต่างๆ คอยช่วยกันตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลหรือหน่วยงาน ตามที่มาตรา 62 บัญญัติไว้ ซึ่งมีสามประเภท ประเภทแรก “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ต้องไปพิจารณากับกฎหมายอื่นเพิ่มเติมว่า...หมายถึงใคร กฎหมายฉบับแรกที่ควรนึกถึงคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2550 (กฎหมาย ป.ป.ช.) ในกฎหมาย ป.ป.ช. มีคำจำกัดความว่า...ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหมายถึงใครบ้าง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. หรือ ส.ว. เป็นต้น ซึ่งใครสนใจมากกว่านี้ ก็ไปหาอ่านได้ในกฎหมายดังกล่าว ประเภทที่สอง “หน่วยงานของรัฐ” ก็จะหมายถึง ตั้งแต่ส่วนราชการต่างๆ ทั้งในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์ตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ ที่อยู่ในความหมายของคำว่า หน่วยงานของรัฐ ประเภทที่สาม “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายถึง เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐทั้งที่เป็น ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ในทุกระดับ ที่มีการ ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ อธิบายสิทธิที่มีในการร้องขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านผู้ใช้สิทธิและผู้ถูกร้องแล้วจะเห็นว่า มาตรา 62 ให้สิทธิไว้พอสมควร ซึ่งถ้ากล่าวไปทั้งหมดก็คงต้องใช้หน้ากระดาษและเวลาในการเขียนค่อนข้างมาก แต่วัตถุประสงค์ในการเขียนบทความนี้ จะมุ่งไป เฉพาะที่การตรวจสอบนักการเมือง ซึ่งจะทำให้ขอบเขตการเขียนกระชับพื้นที่มากขึ้น และพี่น้องผู้อ่านก็จะทราบแนวทางในการเขียนไว้เป็นการล่วงหน้า นักการเมืองที่จะถูกตรวจสอบนั้นจะเน้นไปในบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการแจ้งข้อมูลไว้ในที่เปิดเผย เช่น การแจ้งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ไว้กับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 259 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6 ประเภท คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ข้าราชการการเมืองอื่น และผู้บริหารท้องถิ่นกับสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน พร้อมสำเนาเอกสารที่พิสูจน์ความมีอยู่จริง รวมทั้งสำเนาแบบการเสียภาษีปีที่ผ่านมาต่อ ป.ป.ช. ทุกครั้งในกรณีที่เข้ารับตำแหน่ง ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่ง และในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วหนึ่งปี การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลทั้ง 6 ประเภท มีเพียง 4 ประเภท เท่านั้น ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 261 กำหนดให้การเปิดเผยต่อสาธารชน ส่วนอีก 2 ประเภท ไม่ได้กำหนดให้เปิดเผย ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 ประเภทที่ให้เปิดเผย คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งการยื่นบัญชีนั้นจะต้องรวมทั้งของสมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ของทั้ง 4 ประเภทนั้น ป.ป.ช. จะนำข้อมูลมาเปิดเผยให้ทราบทางเว็บไซด์ www.nacc.go.th บุคคลใดสนใจไปหาดูได้ แต่ข้อมูลนั้นจะมีเฉพาะบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเท่านั้น สำหรับสำเนาเอกสารแสดงความมีอยู่จริงและสำเนาแบบแสดงการเสียภาษี ถ้าบุคคลใดอยากเห็น ข้อมูลเหล่านี้จะต้องไปขอดูเองที่ ป.ป.ช. และอนุญาตให้ดูเท่านั้น จะถ่ายสำเนาออกมาไม่ได้ บทความตอนที่ 2 คงเอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ ตอนหน้าค่อยมาดูกันต่อว่า การตรวจสอบนักการเมืองที่ได้ข้อมูลจากบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ได้อย่างไร