ที่มา โลกวันนี้ ต้องยอมรับว่านายอภิสิทธิ์เป็นนักการเมืองที่สามารถสร้างภาพพจน์ตัวเองได้อย่างเหลือเชื่อ แม้เพิ่งผ่านเรื่องเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งนายอภิสิทธิ์เป็นผู้สั่งการสูงสุดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน แต่นายอภิสิทธิ์ก็สามารถนั่งบริหารบ้านเมืองเหมือนไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายใดๆ แถมยังมีสำนวนโวหารที่นุ่มนวลและพูดจาฉะฉานชัดเจนว่าเป็นนักการเมืองที่รักประชาธิปไตยและรักประชาชนทุกกลุ่มทุกสี นายอภิสิทธิ์อ่านจดหมายที่เขียนด้วยลายมือตัวเองเพื่อเชิญชวนให้ร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย โดยระบุว่า เหตุการณ์เลวร้ายที่สร้างความสะเทือนใจและบอบช้ำกับประเทศชาติและประชาชนอย่างรุนแรงทั้งหมดนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากการกระทำของคนไทยด้วยกันเองทั้งสิ้น "วันนี้ประเทศต้องเดินหน้า แต่ความโกรธ ความเคียดแค้นและชิงชังไม่สามารถสร้างอนาคตให้กับประเทศและลูกหลานไทยได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะปรองดอง เพื่อปฏิรูปประเทศไทย รวมใจเป็นหนึ่งเพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ สร้างความเสมอภาค สื่อสารถึงกันอย่างสร้างสรรค์ ค้นหาและยอมรับความจริง โดยมีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพและโปร่งใส" เป็นคำพูดที่สวยหรูและนุ่มนวลจากปากของนายกรัฐมนตรีที่รูปหล่อ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาสนับสนุน เหมือนครั้งที่นายอภิสิทธิ์เคยประกาศขับเคลื่อนแผนปรองดอง 5 ข้อ ครั้งที่ยื่นข้อเสนอให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน สลายการชุมนุม สุดท้ายก็จบลงด้วยความรุนแรงและความตาย แต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังพร่ำแต่คำว่าปรองดอง แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังกล่าวหาใส่ร้ายและจับกุมคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม โดยมี พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือ เช่นเดียวกับการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์พูดชัดเจนว่าจำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การปรองดองและการปฏิรูปประเทศของนายอภิสิทธิ์จึงไม่ต่างกับการ “ขอพื้นที่คืน” และการ “กระชับล้อม” ที่ใช้กับคนเสื้อแดง เพราะเป็นการมัดมือชกให้คนทั้งประเทศต้องยอมรับแผนปรองดองและปฏิรูปของรัฐบาล โดยใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการเมืองให้กับตนเองและพวกพ้อง ขณะที่ประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นว่านายอภิสิทธิ์หมดความชอบธรรมที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไปแล้ว และต้องแสดงความรับผิดชอบกับการสั่งให้ใช้กำลังจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บเกือบ 2,000 รายคอลัมน์ บทบรรณาธิการ จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2818 ประจำวัน จันทร์ ที่ 14 มิถุนายน 2010 โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน