ที่มา ประชาไท
วันที่ 19 พ.ย. เวลา 16.30 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่าจะให้ทางการกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดเทปลับที่อ้างว่าเป็นนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ สั่งการเลขานุการเอกของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ และอ้างว่าการดักฟังโทรศัพท์ในกัมพูชาถือเป็นเรื่องปกติ ว่า ทางรัฐบาลกัมพูชาต้องแสดงออกว่าการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้นจะกระทำไม่ได้ และรัฐธรรมนูญของกัมพูชา หมวด 3 มาตรา 40 ระบุว่า สิทธิแห่งการเป็นส่วนตัวในที่พัก และสิทธิในการรักษาความลับ การติดต่อโต้ตอบกันทางจดหมาย โทรเลข โทรสาร โทรพิมพ์และโทรศัพท์ เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการรับรอง
ดังนั้นการกล่าวหาว่าประเทศอื่นมีการดักฟังและอัดเทป ก็ถือว่าเป็นการดูหมิ่นเขา เท่ากับว่าเขาทำผิดกฎหมาย ซึ่งอยากขอว่าอย่าพยายามสร้างเรื่องราวให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย และวันนี้ทางโฆษกรัฐบาลกัมพูชาก็ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องเทปชัดเจนว่าเขาไม่มีการดักฟัง หรือยุ่งเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลของใคร ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลไม่เฉพาะแต่รัฐบาลไทยต้องชี้แจง แต่รัฐบาลกัมพูชาก็ต้องออกมาชี้แจงกันใหญ่ ทั้งนี้ เขามองว่า การอ้างเรื่องเทปนั้นไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่คิดจะฟ้องร้องนายจตุพร เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
“เรื่องแบบนี้ ถ้ามี(เทป)จริงๆ ก็ไม่ต้องเสียเวลาหรอก เพราะถ้ามีก็เปิดเลย จะได้ชัดเจนไปเลยว่าใครผิดใครถูก จะได้จบ รับผิดชอบกันไปเลยเรื่องก็จบ ความสัมพันธ์ก็กลับมาได้เร็วด้วยซ้ำ แต่ถ้าอ้างกันไปอ้างกันมา มันไม่มีคนผิด ไม่มีตัวตน ไม่มีที่มา มันก็ไปเรื่อย” นายชวนนท์กล่าว
นายชวนนท์ กล่าวถึงการประสานงานให้มารดาของนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทย บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำในกรุงพนมเปญ ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างประสานงานให้มารดาเข้าพบอยู่
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าทางการกัมพูชาจะนำตัวนายศิวรักษ์ขึ้นศาลภายใน 1-2 วันนี้ นายชวนนท์ กล่าวว่า เข้าใจว่าก็คงต้องขึ้นศาลเร็วๆ นี้ เพราะกระบวนการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว มีการตั้งข้อกล่าวหาแล้ว ส่วนจะต้องขึ้นศาลวันใดนั้น ยังไม่ได้รับแจ้งวันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เราต้องยื่นขอประกันตัวอย่างแน่นอน ส่วนจะได้รับการประกันตัวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลกัมพูชามองเรื่องนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงขนาดไหน และจะมีข้อยกเว้นอะไรหรือไม่
เมื่อถามถึงกรณีที่ทางกัมพูชาเข้ายึดบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น นายชวนนท์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสัญชาติของบริษัท และหุ้นใหญ่ของบริษัทว่าเป็นของชาติใดกันแน่ระหว่างไทย หรือสิงคโปร์ เนื่องจากมีข่าวออกมาหลายกระแส จากนั้นจะพิจารณาว่ากรณีดังกล่าว เข้าข่ายกฎหมายข้อไหน และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกป้องการลงทุนหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามช่องทางกฎหมายเศรษฐกิจ
ส่วนข้อเท็จจริงกรณีที่พนักงานชาวไทย ถูกห้ามไม่ให้เข้าไปทำงานในบริษัทสามารถฯ นั้น นายชวนนท์ กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจนว่า มีการผลักดันพนักงานคนไทยออกมาทั้งหมดหรือไม่ หรือเป็นเพียงการส่งคนของกัมพูชาเข้าไปควบคุมดูแลการทำงานโดยมีคนไทยทำงานอยู่ ดังนั้นต้องขอเวลาตรวจสอบให้ชัดเจน