ที่มา ประชาไท
“ในประเทศของเรา คนชนชั้นหนึ่งสร้างสงคราม
และก็ปล่อยให้คนอีกชนชั้นหนึ่งต่อสู้เอาเอง”
จดหมายจาก Gen. Sherman ถึง Gen. O.O. Howard
ในสงครามกลางเมืองอเมริกัน
17 พฤษภาคม 1865
ในสถานการณ์ปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับกัมพูชา มีแนวโน้มทรุดต่ำลง จนหลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจจะต้องจบลงด้วย “สงคราม” เพราะมองไม่เห็นปัจจัยเชิงบวกที่จะทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดเช่นนี้ ลดระดับของความรุนแรงลงแต่อย่างใด
ว่าที่จริงแนวโน้มเช่นนี้ไม่ใช่ทิศทางใหม่แต่อย่างใด ถ้าเราถอยกลับไปมองปัญหาที่ค่อยๆ เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่กัมพูชาต้องการจดทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกในช่วงต้นปี 2550 ก็จะพอคาดเดาได้ว่า เรื่องดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองอย่างแน่นอน และเมื่อล่วงเข้าปี 2551 เราก็ได้เห็นสถานการณ์ในลักษณะเช่นว่านั้น จนอาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในปัญหาวิกฤตของไทยในปี 2551 ก็คือ “วิกฤตการณ์ปราสาทพระวิหาร”
แต่ถ้าจะบอกว่าวิกฤตการณ์ปราสาทพระวิหาร เป็นปัญหาในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว คงจะไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาทับซ้อนอยู่กับเรื่องเช่นนี้ก็คือ วิกฤตการณ์ของการเมืองไทยเอง ซึ่งการก่อตัวระลอกแรกขึ้นด้วยการจัด “ขบวนล้มรัฐบาลทักษิณ” และการเคลื่อนตัวของกระแสเช่นนี้จบลงด้วยวิธีการที่ง่ายของการเมืองไทยก็คือ การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549
แต่หลังจากรัฐประหารดังกล่าวแล้ว ปัญหากลับไม่ได้จบลงเป็นปกติแต่อย่างใด ขบวนล้มรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นการสร้างแนวร่วมของกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยตั้งแต่ระดับสูงลงมา โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนที่อาจจะต้องกล่าวว่าไม่ใช่แต่เพียงการล้มรัฐบาลทักษิณเท่านั้น หากแต่ยังมีนัยถึงการล้มระบอบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับการสถาปนา “ประชาธิปไตยชี้นำ” (หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “Guided Democracy”) ที่การเมืองจะต้องถูกควบคุมโดยชนชั้นนำ หรือเป็นไปในทิศทางที่ชนชั้นนำเป็นผู้ได้ประโยชน์ ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ได้ถูกกำหนดโดยตรงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยมองว่าการเมืองก่อนรัฐประหาร 2549 ที่มาพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้น ก่อให้เกิด “ความฟุ้งเฟ้อของประชาธิปไตย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ระบบทุนนิยมส่วนหนึ่ง และชนชั้นล่างอีกส่วนหนึ่งเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประชาธิปไตยแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น ก่อให้เกิดพันธมิตรระหว่างทุนกับชนชั้นล่างโดยผ่านนโยบายแบบประชานิยม ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมือง
และ “คำตอบสุดท้าย” สำหรับการต่อสู้กับปัญหาเช่นนี้ก็คือ การใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการจัดการทั้งควบคุมและทำลายคู่ปฏิปักษ์เดิม และหวังว่ารัฐประหารจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการถอยการเมืองไทยกลับสู่สภาวะเดิมที่ทุกอย่างต้องถูกควบคุมโดยชนชั้นสูง ที่มีฐานะเป็นชนชั้นนำในการเมืองไทย พร้อมๆ กับการอาศัยการขับเคลื่อนจากการเปลี่ยนจุดยืนของพลังบางส่วนไม่ว่าจะเป็นสื่อ ปัญญาชน ชนชั้นกลางในเมือง และบรรดาผู้นำเอ็นจีโอที่มีอดีตเป็นนักเคลื่อนไหว ตลอดรวมถึงบรรดาผู้ที่เคยมีฐานะเป็น “ฝ่ายซ้าย” ที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งล้วนแต่ชูคำขวัญในลักษณะของการ “ต่อต้านทุนนิยม” และไม่ยอมรับต่อทิศทางในความเป็นพันธมิตรระหว่างทุนนิยมกับชนชั้นล่างในรูปของประชานิยม
แต่ในกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้กลับพบว่า เครื่องมือเดิมด้วยวิธีการรัฐประหารนั้น ควบคุมระบบการเมืองไทยไม่ได้จริง ระบอบทหารภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มในข้างต้นกลายเป็นเพียง “จำอวดการเมือง” ที่พวกเขาบริหารประเทศไม่ได้และบริหารไม่เป็น แต่ก็อาศัยสื่อกระแสหลักและการสนับสนุนของชนชั้นนำเป็นเครื่องค้ำประกันความอยู่รอด พร้อมๆ กับการโหมทำลายและโจมตีทางการเมืองต่อกลุ่มที่หมดอำนาจจากการรัฐประหารอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคุณธรรม ปัญหาคอร์รัปชั่นและปัญหาความไม่จงรักภักดี ตลอดรวมถึงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเด็นหลังนี้ได้ถูกนำมาใช้เคลื่อนไหวเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้นำรัฐบาลไทยที่ถูกล้มด้วยการรัฐประหารมีผลประโยชน์ร่วมกับผู้นำรัฐบาลกัมพูชา จนถูกสร้างให้เป็นเรื่องถึงขั้นมีการแลกปราสาทพระวิหารกัน ซึ่งการนำประเด็นเช่นนี้มาจุดกระแส เห็นชัดเจนว่าต้องการสร้างกระแสชาตินิยมให้เกิดขึ้นให้ได้
ดังนั้นหากมองการสร้างกระแสชาตินิยมในปี 2551 ในบริบทของการเมืองไทยแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าชาตินิยมถูกจุดขึ้นเพื่อรองรับต่อการหวนคืนของกระแสขวาจัด ที่ก่อรูปอย่างชัดเจนจากความสำเร็จของการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณด้วยการรัฐประหาร แต่ดังที่รับรู้กันโดยทั่วไปก็คือ รัฐประหารประสบความสำเร็จเพียงการโค่นรัฐบาลพลเรือน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมระบบการเมืองหลังจากนั้น ประจักษ์พยานที่ชัดเจนก็คือ เสียงสนับสนุนในตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงมีอยู่อย่างเหนียวแน่น และพรรคไทยรักไทยที่แม้จะต้องถูกทำลายลง ก็ไม่ได้หมดสภาพไปแต่อย่างใด กลับมีการสืบทอดทิศทางและนโยบายจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งในอีกด้านหนึ่งของปัญหาจากความสำเร็จในการล้มรัฐบาลทักษิณ ก็นำไปสู่การก่อตัวของการต่อต้านระบอบอำนาจนิยมของทหารที่มีการยึดอำนาจเป็นแกนกลาง พร้อมๆ กับการก่อตัวของการต่อต้านระบอบการเมืองเก่าที่ถูกมองว่าตกอยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นนำและชนชั้นสูง
ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีปราสาทพระวิหารขึ้น ซึ่งแม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2550 อันเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลรัฐประหารยังคงอยู่ในอำนาจ แต่ก็ไม่เป็นประเด็นในเวทีสาธารณะเท่าใดนัก และน่าสนใจว่า ถ้ารัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังคงดำรงอำนาจอยู่จนถึงปี 2551 แล้ว รัฐบาลดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไรในกรณีปราสาทพระวิหาร และกระแส “ชาตินิยมขวาจัด” ที่มีฐานการสนับสนุนรวมศูนย์อยู่กับชนชั้นนำที่เป็นชนชั้นสูง ชนชั้นกลางในเมือง สื่อกระแสหลัก ปัญญาชน ผู้นำเอ็นจีโอและอดีตนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย จะกดดันรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ อย่างไร
คำถามดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะผลจากการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2550 นั้น ส่งผลให้พรรคการเมืองของฝ่ายที่ถูกโค่นล้มอำนาจด้วยการรัฐประหารนั้น กลับเข้ามามีอำนาจอีก รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช มีท่าทีประนีประนอมในกรณีปัญหาปราสาทพระวิหาร เพราะตระหนักถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ การเมือง และข้อจำกัดทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว ซึ่งท่าทีเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนจากแถลงการณ์ไทย-กัมพูชา-ยูเนสโก หรือที่เรียกกันภายในว่า “แถลงการณ์นพดล”
แต่ท่าทีเช่นนี้ได้กลายเป็นโอกาสอันดียิ่งให้แก่กลุ่มขวาจัดที่ด้านหนึ่งจะสามารถใช้กระแสชาตินิยมในการเป็น “ธงนำ” ของการเคลื่อนไหว เพราะในขณะที่กลุ่มชนชั้นล่างและคนในชนบทยังคงให้การสนับสนุนกลุ่มทักษิณโดยผ่านความชื่นชมในนโยบายประชานิยมนั้น สิ่งที่จะนำมาใช้เป็นอาวุธในการทลายพลังอำนาจของประชานิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพก็น่าจะเป็น “ลัทธิชาตินิยม” และกรณีปราสาทพระวิหารก็เป็นรูปธรรมอันดียิ่งที่ถูกนำมาเป็นประเด็นของการสร้างกระแสเช่นนี้
ในด้านหนึ่งผู้คนในสังคมไทยไม่มีความทรงจำในประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่เท่าใดนัก ความทรงจำที่ตกหล่นหายไปกับกาลเวลาเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในการกำเนิดของ “สยามรัฐ” ที่ถูกกำกับด้วย “พรมแดนวิทยาศาสตร์” (scientific frontier) หรือเส้นเขตแดนเช่นในปัจจุบัน อันเป็นผลจากข้อตกลงที่พระมหากษัตริย์สยามกระทำกับเจ้าอาณานิคมในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1893 1904 และ 1907 (พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2450 ตามลำดับ) และการต้องคืนดินแดนที่สยามยึดมาในปี 2484 ให้แก่เจ้าของเดิมในปี 2489
ขณะเดียวกันก็ไม่รับรู้ผลที่เกิดจากคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศในปี 2505 และความไม่รับรู้เช่นนี้ ยังรวมไปถึงการไม่ตระหนักถึงข้อจำกัดทางกฎหมายที่เกิดขึ้น ดังประสบการณ์ในปี 2489 หรือในปี 2505 ที่เป็นผลลบแก่รัฐบาลไทยมาแล้ว หรือบางทีเราก็ไม่อยากได้ยินว่าในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ก็ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาในวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ที่การปักปันเขตแดนจะถือเอาสนธิสัญญา 1893 อนุสัญญา 1904 สนธิสัญญา 1907 และพิธีสารแนบท้าย และแผนที่ปักปัน 1904 และ 1907 เป็นเอกสารหลัก
ความไม่รับรู้อดีตการกำเนิดของสยามรัฐและปัญหาเส้นเขตแดนสยามเป็นช่องว่างให้กระแสชาตินิยมก่อตัวได้ง่าย อีกทั้งการปลุกระดมที่เกิดขึ้นยังเป็นผลจากทัศนะ (perception) ของผู้คนในสังคมไทยในการมองประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว หรือกัมพูชา ด้วยความเชื่อว่า ไทยเป็นใหญ่เหนือชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะในกรณีลาวและกัมพูชาแล้ว เราชอบถือว่าไทยเป็น “พี่ใหญ่” ที่เคยปกครองพวกเขามาแล้ว ประกอบกับก็มีประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างให้เกิดความหมองใจและความหวาดระแวงต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของสงคราม และการยึดครองที่เกิดขึ้น และด้วยเงื่อนไขทางจิตวิทยาเช่นนี้ เราก็สร้างความทรงจำในประวัติศาสตร์จนถึงขนาดพระมหากษัตริย์อยุธยาจับเจ้าผู้ครองกัมพูชาตัดศีรษะเอา “เลือดล้างเท้า” มาแล้ว (บางทีก็น่าฉุกคิดว่า กษัตริย์อยุธยากระทำการเช่นที่เราสร้างเรื่องราวให้ภูมิใจและใช้ข่มประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้จริงหรือ อดคิดไม่ได้ว่า พระมหากษัตริย์ของเราอาจจะไม่คิดและกระทำอะไรหยาบเช่นนั้นเลยก็ได้ แต่เราก็เชื่อเอาเองมาโดยตลอด!)
ผลของการปลุกกระแสชาตินิยมแบบสุดขั้วในปี 2551 เกือบจะนำพาไทยเข้าสู่สงครามกับกัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหารมาแล้ว แต่สำคัญกว่านั้นก็คือ กระแสเช่นนี้มีส่วนโดยตรงต่อการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลสมัคร และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมืออย่างดีในการต่อสู้กับการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่มผู้สนับสนุน ตลอดรวมถึงกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้สนับสนุนทักษิณโดยตรง แต่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลในกรณีความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา และกรณีปราสาทพระวิหาร ก็จะถูกทวงถามด้วยวาทกรรมชาตินิยมว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า?” หรือถูกประณามด้วยวลีเก่าๆ ว่า “ขายชาติ” หรือ “คนไทยใจเขมร” เป็นต้น
ฉะนั้นเมื่อผู้นำรัฐบาลกัมพูชาให้สัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงกรณีการแต่งตั้งให้ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลกัมพูชาแล้ว ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่า จะยิ่งทำให้กระแสชาตินิยมขวาจัดในไทยอยู่ในภาวะ “แทบจะอกแตกตาย” และจะต้องยิ่งใช้แนวทางตอบโต้แบบ “สะใจ” เพราะตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่างก็มาจากกลุ่มเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารคืน และทั้งยังมีท่าทีต่อต้านกัมพูชาด้วย ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลนี้กำเนิดขึ้น อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการเล่นการเมืองและการสนับสนุนของกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นชนชั้นสูงและทหาร และอีกส่วนก็มาจากกลุ่ม “เสื้อเหลือง” ที่มีลักษณะ “สุดขั้ว” ในปัญหาพระวิหาร จนดูเหมือนว่าทิศทางนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลก็คือ นโยบายต่างประเทศของกลุ่มเสื้อเหลือง ซึ่งก็คือนโยบายที่ถูกขับเคลื่อนด้วยลัทธิชาตินิยมสุดขั้ว และการ “ไล่ล่าทักษิณ” โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น
การดำเนินนโยบายแบบ “สะใจ” ที่เรียกทูตกลับ (การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต) และเตรียมยกเลิกบันทึกช่วยจำฉบับต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 17 ฉบับ (การยกเลิกเรื่องที่ทำความตกลงไว้แล้วในอดีต) อาจจะช่วยในการสร้างกระแสตอบรับรัฐบาล อย่างน้อยอาจจะทำให้รัฐบาลกัมพูชาและ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็น “แพะ” สำหรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาคอร์รัปชั่นในโครงการไทยเข้มแข็ง ปัญหาการแต่งตั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอื่นๆ
การดำเนินนโยบายที่ใช้กระแสชาตินิยมเป็นเครื่องมือ อาจจะทำให้คนไทยเป็นเอกภาพได้บ้าง แต่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด เว้นแต่ผู้นำรัฐบาลจะเชื่อผลโพลล์ และเชื่อว่า “รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว” แต่ก็คงจะต้องระมัดระวังว่า ถ้าดำเนินนโยบายในลักษณะเช่นนี้แบบไม่มีข้อจำกัดแล้ว กระแสชาตินิยมก็อาจจะเกิดขึ้นในอีกฝั่งหนึ่งของเส้นพรมแดนได้เช่นกัน
ถ้ากระแสชาตินิยมชนกับกระแสชาตินิยมในแต่ละฟากฝั่งของเส้นเขตแดนแล้ว คำตอบสุดท้ายมีแต่เพียงประการเดียวก็คือ “สงคราม” และถ้าเช่นนั้นสงครามจะกลายเป็นเครื่องมืออย่างดีในการต่อสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และส่งเสริมให้ฐานะของรัฐบาลที่มีวิกฤตต่างรุมเร้าอย่างมากนั้นดีขึ้นมาก อย่างน้อยสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านมักจะทำให้ผู้คนในประเทศลืมเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ และที่สำคัญก็คือ ลืมความล้มเหลวของรัฐบาลในเรื่องอื่นๆ อีกทั้งยังอาจจะทำให้ “เด็กน้อย” บางคนกลายเป็น “ผู้ใหญ่” ที่ทรงอำนาจ (ถ้าเขาอยู่รอดได้ !)
หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: สร้างเอกภาพด้วยสงคราม! ปัญหาวิกฤตไทย-กัมพูชา