WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, November 17, 2009

รอยร้าว"ไทย-เพื่อนบ้าน" ลางบอกเหตุ"รบ.อภิสิทธิ์"

ที่มา มติชน



จำต้องพึ่งพากาวใจอย่าง "สุศีโล บัมบัง ยุทโธโยโน" ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มาช่วยไกล่เกลี่ย รับฟังความทั้งสองข้าง กับ ศึกความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา

"ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย" ผู้นี้ ทำหน้าที่รับฟังข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย ก่อนจะสั่งความให้รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนิเซีย เป็นธุระติดตามประสานแก้ปัญหาร้อนแรงนี้ กับรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งไทยและกัมพูชา ต่อไป

ในวันนี้ ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา กลายเป็นภาพออกสู่สายตาโลกไปแล้ว แม้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีไทย จะยืนยันมาตลอดว่า เป็นเรื่องพหุภาคี และไม่ให้กระทบต่ออาเซียนส่วนรวมก็ตาม

เป็นเชื้อ เป็นแผล ที่แม้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี จะบินออกจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กลับดูไบไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ลบเลือนหรือจางหาย

ร่องรอยความร้อนระอุ และความขัดแย้ง จะยังคงอยู่ต่อไป แต่จะนานแค่ไหน?

แต่เศษซากที่ทิ้งเอาไว้ คือ ไทยและกัมพูชาไม่มีเอกอัครราชทูตระหว่างกัน ไม่มีเลขานุการเอกอัครราชทูตระหว่างกันช่วยทำหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องการช่วยเหลือดูแลคนของแต่ละประเทศ รวมถึงการประสานการค้าการลงทุน

นอกจากนี้ ทั้งไทยและกัมพูชาได้ตัดสินใจกดปุ่มหยุดความคืบหน้าในด้านการค้าด้านต่างๆ ทั้งเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีป ซึ่งมีประโยชน์ร่วมกันด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล

และเอ็มโอยูไหล่ทวีปนั่นเอง ในอดีตช่วงที่มีการตกลงกัน มีส่วนหนึ่งลาวได้ประโยชน์ด้วย โดยมีการตกปากรายงานผู้หลักผู้ใหญ่ระหว่างไทย-ลาวกันไปแล้ว ในยุค "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" เป็น รมว.การต่างประเทศ

จุดนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์อาจไม่รู้มาก่อน

ที่ต้องชะงักไปอีกส่วนคือ ความร่วมมือในการให้ซอฟต์โลนแก่กัมพูชา สำหรับสร้างถนนและเส้นทางคมนาคมในกัมพูชา ซึ่งอีกนัยหนึ่ง คือ เส้นทางสำหรับลำเลียงสินค้าจากฝั่งไทยทะลุไปยังกัมพูชา และเวียดนาม นั่นเอง

ด้านมูลค่าการลงทุนและส่งออกในแต่ละปีระหว่างกันที่ได้รับผลกระทบ จากการเก็บตัวเลขสถิติ ฝ่ายไทยกำเงินจากกัมพูชาได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่กัมพูชากำเงินกลับไปจากไทยแค่ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ทั้งนี้ บรรดานายทุนขาใหญ่ของไทย ที่เข้าไปลงทุนในกำพูชาจำนวนมหาศาล ย่อมหายใจไม่ทั่วท้อง โดยเฉพาะธุรกิจสื่อสาร ด้านการเกษตรกรรมแบบครบวงจร หรือ แม้กระทั่งธุรกิจน้ำเมาระดับ 5 เสือเมืองไทย ซึ่งกำลังขยายฐานได้อย่างสวยงาม กลับต้องตกในภาวะเสี่ยง

ในทางการเมือง ทราบกันดีกว่าธุรกิจเหล่านี้ เป็นนายทุนสำคัญของหลายพรรคการเมือง หากทุนเหล่านั้นได้รับผลกระทบ แรงกดดันก็จะสะวิงกลับมาที่ฝ่ายการเมือง นั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แผลร้ายที่ใหญ่ที่สุดที่เหลือไว้ คือ ความเคลือบแคลงใจระหว่างกัน ที่ยากที่จะเห็นภาพกลับสู่จุดเดิมได้อย่างไร และปมแก้ปัญหาชายแดนเขาพระวิหาร การปักปันเขตแดน ที่หล่นกลับมาที่ศูนย์อีกครั้ง

วันนี้ ยังนึกไม่ออกเลยว่า จะหาเหตุใดที่ทั้งสองประเทศจะสามารถคืนเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ทางการทูต แก่กันได้ เพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ

เอแบคโพลล์สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง ท่าทีรัฐบาลไทยและนายกรัฐมนตรีต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,344 ครัวเรือน

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.9 เห็นว่า ท่าทีของรัฐบาลไทยที่ควรแสดงออกคือ ใช้ความนิ่งสงบ และมุ่งทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป ร้อยละ 51.9 เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีท่าทีที่เหมาะสมแล้วในการโต้ตอบรัฐบาลกัมพูชา

เป็นผลสำรวจที่สะท้อนเเต้มบวกของรัฐบาล ที่มีวิจารณญานในการแก้ปัญหา เป็นผลแห่งคะแนนนิยมภายในประเทศ

แต่ทว่า ธรรมชาติประเทศไทย ไม่มีกระแสใดยั่งยืนยาวนาน ทุกกระแสที่เกิดขึ้นพร้อมพลิกกลับหน้ามือเป็นหลังมือเสมอ

ฝ่ายที่ตกเป็นผู้ร้าย นานไปก็ได้เป็นพระเอก ส่วนพระเอก ถ้าอยู่เฉยๆ คอยกินบุญเก่า ก็อาจกลับเป็นผู้ร้าย

ดังนั้น สิ่งท้าทายต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในวันที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" บินจากไปแล้ว คือ การดำรงสถานะและคะแนนนิยมภายในประเทศเอาไว้ให้ได้ ควบคู่ไปกับการหมุนความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และประโยชน์เกื้อกูลระหว่างสองประเทศกลับคืนมา

และทำให้สังคมรู้แจ้งเห็นจริงว่า สาเหตุแห่งปัญหานี้ มาจากสิ่งใด หรือ ใคร?

ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมานี้ กรณีที่ประเทศไทยมีปัญหาขัดแย้งขุ่นข้องหมองใจกับประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาค ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากการเดินทางเยือนของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ในหลายครั้ง อย่างไม่น่าเชื่อ

กรณี "สิงคโปร์" เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2550 ในยุครัฐบาล คมช. หลัง "พ.ต.ท.ทักษิณ" บินเดี่ยวบุกสิงคโปร์ พบปะนักธุรกิจ โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

ทำให้รัฐบาล "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" ในเวลานั้น นั่งไม่ติด เพราะถือเป็นการถูกตบหน้า เพราะกำลังมีเรื่องเล่นงานการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กำลังดำเนินการอยู่พอดี

จึงไม่มั่นใจว่า ที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ไปพบนั้น มีนอกมีในอะไรหรือไม่?

"นิตย์ พิบูลย์สงคราม" รมว.การต่างประเทศ ในขณะนั้น สั่งเรียกทูตสิงคโปร์มาตักเตือน พร้อมกับรัฐบาล ที่ส่งสัญญาณเรื่องการทบทวนความร่วมมือต่างๆ ระหว่างไทย-สิงคโปร์ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการทหาร การซ้อมรบร่วม และ การให้เช่าพื้นที่สำหรับจอดเครื่องบินรบ

แต่กระนั้น เมื่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ" บินจากไปแล้ว ร่องรอยความเสียหายก็ยังคงอยู่ เกือบไปแล้วที่ไทยจะสูญเสียประโยชน์จากการซื้อขายเครื่องบิน หรือ การค้าการลงทุนกับสิงคโปร์

แต่ที่เสียไปแล้วก็คือ ความบาดหมางที่เป็นเชื้อรอปะทุ หากมีเหตุการณ์อ่อนไหวเกิดขึ้นภายหน้า

คำถาม คือ รัฐบาลไทยหรือคนไทย จะวางตัวอย่างไรกับเกมความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน ล่าสุด แม้กรณีความขัดแย้งในการช่วยจัดซีเกมส์กับประเทศลาว ก็นิ่งเฉยๆ ไม่ได้เช่นกัน เพราะยังมีเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปซ้อนอยู่อีกชั้น

และเป็นที่รู้กันว่าผู้ใหญ่ไทยกับผู้ใหญ่ลาวนั้น สัมพันธ์ซาบซึ้งกันมาช้านาน

ส่วนกรณีไทย-กัมพูชาคงไม่ต้องยกตัวอย่าง

ถือเป็นลางบอกเหตุ ถือเป็นบทเรียนที่ท้าทายยิ่งต่อ "อภิสิทธิ์"

เพราะหลังทำเรื่องกันไว้แล้ว ไม่ว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ" จะเสียหรือได้แต้ม

แต่เขาก็ได้รู้ว่า เดิมที่เคยคิดใช้โลกล้อมประเทศ ด้วยการจ้างล็อบบี้ยิสต์ เมื่อครั้งอยู่อังกฤษ ฮ่องกง จีน หรือ ดูไบ กลับได้ผลสู้บินมาตีกอล์ฟเล่นๆ แถวเพื่อนบ้านปลายจมูกไทย ไม่ได้เลย...