ที่มา ไทยรัฐ
การหยิบยกข้อมูลมาวิพากษ์วิจารณ์และพาดพิงถึงผู้อื่นหรือผลประโยชน์ของประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายนั้น ในสังคมที่ไม่ค่อยพัฒนา จะไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่นัก ข้อเท็จจริงจะผิดจะถูกไม่เป็นไร ทำให้สังคมเห็นดีเห็นงามด้วยเป็นพอ
เป็นสังคมแห่งการสร้างภาพ
พูดกันอย่างตรงไปตรงมา นโยบายไทยเข้มแข็ง โครงการเศรษฐกิจชุมชนพอเพียง ฉาวโฉ่จนเข้าขั้นโคม่าขนาดนี้ ปรากฏความผิดชัดเจน อะไรไม่ว่าโครงการที่ทุจริตก็เป็นโครงการที่ต้องไปกู้เงินมาทำโครงการถึง 8 แสนล้าน
รัฐบาลก็ยังลอยนวล
นักประท้วงที่บอกว่าจะออกมา ต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน ก็แกล้งทำเป็นไม่เห็นเอาดื้อๆ เลยเสื่อมความนิยมไปทันตาเห็น สมมุติถ้าเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้วๆมา พัวพันถึงบุคคลสำคัญในรัฐบาล
น่าจะรอดยาก
สังคมไทยก็แปลก เหมือนสังคมตาบอดสี การบิดเบือนข้อมูลสารพัดวิชามาร หรือการปั้นน้ำเป็นตัว ดีใส่ตัวชั่วใส่คนอื่น ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ มักจะเกิดขึ้นในรัฐบาลใดต้องไปค้นข่าวเก่าๆดู
ประเทศไทยหลังชนฝาจนขนาดนี้ ก็ยังดำดินไปโทษคนโน้นคนนี้ได้ลงคอ เหตุที่ผู้นำเขมรไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้ ขอย้ำว่าเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ เพราะอะไรเพราะใคร ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้เมื่อยตุ้ม
กรณีอ้างว่าทั้ง ทักษิณ-ฮุน เซน-บิ๊กจิ๋ว ได้ผลประโยชน์ร่วมกันในการหาเรื่องไทยครั้งนี้ เพราะเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นหลังบิ๊กจิ๋ว ไปเยือนกัมพูชา
กำปั้นทุบดิน
โน่นอ้างไปถึงการทำธุรกิจร่วมกัน อาศัยการบิดเบือนข้อมูล บริษัทชินคอร์ปและครอบครัวชินวัตร ขายหุ้นมูลค่า 7 หมื่น 3 พันล้าน ให้กับกองทุนเทมาเส็กเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2549 เป็นการขายหุ้นหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ให้บริษัทคนต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทกิจการโทรคมนาคมจาก
ร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49
ดูเหมือนจะเข้าเค้า แต่ถ้าพิจารณาให้ดีชินคอร์ปไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และไม่ได้เป็นเจ้าของสัมปทานดาวเทียม การถือหุ้นของชินคอร์ปมีสัดส่วน 49.99 มาตั้งแต่ปี 2542 แต่การแก้ไขกฎหมายมาทำในปี 2543 ถ้าจำไม่ผิดเป็นสมัยรัฐบาลนายกฯชวนด้วยซ้ำ
ในปี 2546 บริษัทกิจการโทรคมนาคม ทีทีแอนด์ที ดีแทค และทรู ได้ผลักดันให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขสัดส่วนต่างๆ สมัยนั้นยังไม่แยกไปเป็นกระทรวงไอซีที ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเจาะลึกลงไปก็จะเห็นการบิดข้อมูลเอามาเป็นประโยชน์ ประชาชนก็เลยได้ข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆไป
มองเห็นกงจักรเป็นดอกบัว.
หมัดเหล็ก