ที่มา ประชาไท
“ลัทธิชาตินิยม” เป็นเรื่องของความรัก ความรักชาติ เป็นบวก เป็นพลังสร้างสรรค์ แต่ถ้าล้ำเส้นมันก็กลายเป็นความหลง พอหลงปุ๊บคลั่ง หลงปุ๊บตาบอด หลงก็คลั่ง แล้วมันอาจไปถึงขนาดทำอะไรก็ได้ กลายเป็นพลังลบ เป็นพลังทำลาย อันนี้คือทวิลักษณ์ของลัทธิชาตินิยม
เผยแพร่ครั้งแรกใน ไทยโพสต์แทบลอยด์ 15 พ.ย. 52
“ลัทธิชาตินิยม” นั้นเป็นอะไรก็ตามที่สามารถจะไปได้ไกลมากๆ คือ“ลัทธิชาตินิยม” เป็นเรื่องของความรัก ความรักชาติ เป็นบวก เป็นพลังสร้างสรรค์ แต่ถ้าล้ำเส้นมันก็กลายเป็นความหลง พอหลงปุ๊บคลั่ง หลงปุ๊บตาบอด หลงก็คลั่ง แล้วมันอาจไปถึงขนาดทำอะไรก็ได้ กลายเป็นพลังลบ เป็นพลังทำลาย อันนี้คือทวิลักษณ์ของลัทธิชาตินิยมเช่นเดียวกัน มีด้านที่เป็นบวกซึ่งดีมากๆ ถ้าเรารักชาติเราเสียสละ เราทำอะไรให้ชาติบ้านเมืองเราเจริญ ทำได้เยอะมาก
พลังของ 'ชาตินิยม' เป็นสิ่งที่อธิบายได้ไม่ง่ายนัก 'ชาติ' ทำให้เราขนลุก ทำให้เรารู้สึกว่าจะทำอะไรก็ได้ที่เป็นการเสียสละ ที่คนจำนวนเป็นล้านๆ ที่ต้องตายลงโดยสิ่งที่อธิบายได้ยากยิ่ง”
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิบายไว้ในงานเขียนเล่มล่าสุด 'ลัทธิชาตินิยม/สยามกับกัมพูชาและกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร'..แม้ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา คราวนี้จะไม่เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร แต่วาทกรรม “ชาตินิยม” ก็กำลังถูกปลุกกระแสไม่ต่างกัน แทบลอยด์เลือกสัมภาษณ์ อ.ชาญวิทย์ แม้จะรู้ดีว่าในกระแสรักชาติที่กำลังเชี่ยวเช่นนี้ การหยุดและฟังนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ยากก็ตามที
ทวิลักษณ์ชาตินิยม
"ชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์ เป็นอุดมคติที่สำคัญมากๆ สำหรับรัฐ หรือว่าประเทศสมัยใหม่ก็มีทุกประเทศ ผมคิดว่า“ชาตินิยม” ของประเทศเรานั้น ที่เป็นมาแต่เดิมเป็นลักษณะผสมระหว่างสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่าเป็น “ราชาชาตินิยม” กับสิ่งที่เรียกว่า “อำมาตยา-เสนาชาตินิยม” ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อพัฒนามาถึงปัจจุบันแล้วจะมีหัวใจอยู่ที่“สถาบันพระมหากษัตริย์” และในบางครั้งก็จะเอาเรื่องของ“เชื้อชาติ” อย่างเช่นพูดเรื่อง“ความเป็นไทย” เข้าไปบวกด้วย
เพราะฉะนั้น อันนี้ผมมองว่าเป็นลักษณะ“ดั้งเดิม” ของลัทธิชาตินิยมของเรา ซึ่งอาจจะบอกได้ว่าเป็นทวิลักษณ์ก็ได้ มีการประสานกันระหว่างสิ่งที่เป็น“ราชา” กับเป็น“อำมาตยา-เสนาชาตินิยม” ก็เป็นเวอร์ชั่นซึ่งรัฐ-ผู้ปกครองใช้มาอย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร เป็นระยะเวลาผมคิดว่าสักเกือบๆ 100 ปีมาแล้วก็ได้
"พอมาถึง ณ จุดนี้ ถามว่า “ลัทธิชาตินิยม” ฉบับดั้งเดิมจะมีผลหรือไม่ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการปลุกกระแส“ลัทธิชาตินิยม” ขึ้นมาอย่างที่เราเห็นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้หรือขัดแย้งกันเอง ในกลุ่มการเมืองภายในประเทศอย่างที่เราเห็นมาตั้งแต่ปี 2548-2549 ก็ยกประเด็น“ชาตินิยม” ฉบับดั้งเดิมนี้ขึ้นมา ว่าด้วย“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และเราก็เห็นว่ามีการตอกย้ำว่าด้วยเรื่อง“สถาบันกษัตริย์” อยู่ตลอดเวลา เรื่องของความ“ไม่จงรักภักดี” เรื่องของการ“ทรยศชาติ” เรื่องของการ“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ก็จะเห็นมาตลอดตั้งแต่ปี 2548 จนกระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2549 เราก็เดินมาอย่างนี้ 2550, 2551, 2552
และตอนนี้มันขยายออกไปอีกจากความขัดแย้งการเมืองภายในของ“เสื้อเหลืองกับเสื้อแดง” ผมว่ามันขยายไปอีกจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ คือ“ไทยกับกัมพูชา” ผมคิดว่าอันนี้จะมีบทพิสูจน์ว่า“ชาตินิยม” เวอร์ชั่นนี้ ที่ว่าด้วย“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” จะยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม
ผมคิดว่าอันนี้เป็นบทพิสูจน์นะครับ คือผมคิดว่าในด้านหนึ่งถ้าเรานิยาม“ชาตินิยม” อยู่ตรง“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็น 3 หลักใช่ไหม มันก็จบ ถ้าตกลงกันว่าแค่นี้ก็จบ แต่ผมคิดว่าใน 70-80 ปีที่ผ่านมา มันมีปรากฏการณ์อันหนึ่ง ก็คือการเติมคำว่า“และ...” เข้าไป คำว่า“และ...” นี่สำคัญมาก
อย่างเช่นในตอนแรกมีการเติมคำให้เป็น“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ” ซึ่งก็เปลี่ยนลักษณะของ “ลัทธิชาตินิยม” เก่า-ไป แน่นอนจากวิวัฒนาการประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเรา คำว่า“และรัฐธรรมนูญ” มันก็ยังไม่เป็นผล มันก็ยังไม่ลงหลัก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ และรัฐธรรมนูญฉบับไหนล่ะ จากฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2 ซึ่งยังเป็น“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” จนกระทั่งมาฉบับที่ 3 จนกระทั่งถึงฉบับปัจจุบัน คือฉบับที่ 18 เป็น “แห่งราชอาณาจักรไทย” แต่คำๆนี้“และรัฐธรรมนูญ” ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
"แต่มันมีอะไรบางอย่างที่ผมสะกิดใจนะ และก็สะดุดตา ก็คือว่าภายหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 สถานที่ราชการของทหารอย่างน้อย 2 แห่งที่ถนนราชดำเนินนอก เขียนไว้เหนือตึกกับเหนือประตูทางเข้าของโรงเรียนนายร้อย จปร.(เก่า) ว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน” ผมคิดว่าตรงนี้น่าสนใจมาก แปลว่ามันจะต้องมีอะไรบางอย่างนับตั้งแต่ปี 2535 “และประชาชน”
คำนี้น่าสนใจมาก เพราะว่ารัฐธรรมนูญเรายังมองเห็นได้ใช่ไหมครับ เราจับต้องได้ เป็นกระดาษ เขียนขึ้นมาอยู่ในสมุดไทยวางอยู่บนพานรัฐธรรมนูญอะไรก็ตาม แต่“และประชาชน” นี่ อะไรคือ“ประชาชน” คำนี้เป็นคำที่ผมว่าเป็น“นามธรรม” มาก
อย่างกรณีประธานาธิบดีลินคอล์น บอกว่า“ประชาธิปไตยคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ประชาชนนี่คือใคร ใครๆ ก็บอกว่าเป็น“ประชาชน” ได้ใช่ไหมครับ “ประชาชน” ในที่สุดแล้วมันจะไปพิสูจน์เอาในวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง คะแนน 51 ต่อ 49 ก็ถือว่าชนะแล้วในระบอบการปกครองประชาธิปไตยสมัยใหม่ ก็กลายเป็นเสียงข้างมากแล้ว 51 ต่อ 49 ก็อ้างว่าเป็น“ประชาชน” ได้
เพราะฉะนั้น ตรงนี้ผมคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันของการต่อสู้ ทั้งการเมืองภายในระหว่าง“สีเหลืองกับสีแดง” และคู่ต่อสู้มีทั้งทางฝ่ายของพรรครัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ มีทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ สีเหลือง มีทั้งฝ่ายสีแดง ซึ่งก็อาจจะพูดได้ว่าผู้นำก็คือคุณทักษิณกับคุณชวลิตนั่นเอง มันจะออกมาอย่างไรในการต่อสู้นี้ เพราะในที่สุดแล้วผมคิดว่าต้องมีเลือกตั้งไม่ช้าก็เร็ว และตรงนั้นแหละมันจะพิสูจน์ว่าคำว่า“และประชาชน” จะ 60 ต่อ 40 หรือ 55 ต่อ 45 จะอยู่กับข้างไหน จะอยู่กับวิธีการตีความและอ้างอิงของ“ชาตินิยม” เวอร์ชั่นเดิม หรือจะอยู่กับวิธีการและการตีความของเวอร์ชั่นใหม่ อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องจับตากันแบบไม่กะพริบเลย"
เท่ากับพิสูจน์ว่า ชาตินิยมแบบเก่ายังมีประสิทธิภาพแค่ไหน
"ตรงนั้นจะเป็นตัวบอกว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ ตรงนั้นจะเป็นตัวบอกว่าจะใช้ได้ผลไหม แต่ผมคิดว่าใกล้ๆ ตัวเราต้องดูว่าการชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ 15 (พฤศจิกา 52) จะเป็นอย่างไร จะมีคนมาแค่ไหน จะจบลงในวันเดียวเพื่อแสดงพลังหรือว่าจะขยายต่อไปอีก อันนี้ผมคิดว่าก็คงต้องตามดูอย่างตาไม่กะพริบเช่นกัน เพราะว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ"
ถึงกระนั้น หลังจากอภิสิทธิ์ตอบโต้กัมพูชากลับไป ก็ทำให้โพลล์ความนิยมเพิ่มขึ้นมาก นั่นแสดงว่าคนไทยก็ยังมีฐานความคิดชาตินิยมเก่าอยู่พอสมควร
"ชาตินิยม” ฉบับดั้งเดิมที่เราใช้กันมาเกือบ 100 ปีฝังรากลึกมากนะครับ กี่เจเนอเรชั่น ถ้าคิดถึงเจเนอเรชั่นที่โดนปลุกระดมอย่างรุนแรง คือเจเนอเรชั่นแม่ผม แม่ผมก็เติบโตเป็นสาวในสมัยประมาณช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณช่วงเปลี่ยนจาก“สยามเป็นไทย” มารุ่นผมซึ่งเป็นรุ่น“ขิงแก่” และหลังรุ่นผมนี่มีอีกกี่รุ่นล่ะ ผมก็นึกถึงรุ่นลูก หลาน และเหลนด้วยซ้ำบางที ประมาณ 4-5 เจเนอเรชั่น 4-5 ชั่วอายุคน
เพราะฉะนั้นมันฝังรากลึกมาก สะกิดปุ๊บมันก็ติด ต้องพูดว่า“จุดปุ๊บก็ติดปั๊บ” แต่มันก็มี“แต่” อีกว่ากระแสนี้จะรักษาได้ยาวเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ โพลล์ที่บอกว่า 3 เท่าตัวจะอยู่ไหม คือโพลล์ผมก็คิดว่ามันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา มันมีปัญหามีเทคนิคมีอะไรเกี่ยวกับโพลล์เยอะแยะ ซึ่งคงจะพูดไม่ได้ครอบคลุม แต่ผมคิดว่าเพียงเมื่อประมาณ 2-3 อาทิตย์ที่แล้ว โพลล์ก็บอกว่าคุณทักษิณนำคุณอภิสิทธิ์ แต่ตอนนี้โพลล์ของคุณอภิสิทธิ์ได้รับความนิยมถึง 3 เท่า แต่อันนี้จะอยู่ไหม และผมคิดว่าเผลอๆ มันไปพิสูจน์เอาเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้ ตัวตัดสินน่าจะอยู่ตรงนั้น"
ประวัติศาสตร์บาดแผล
การนัดชุมนุมของพันธมิตรฯ ในวันอาทิตย์นี้ก็น่าจะวัดได้ระดับหนึ่ง ว่ากระแส“ชาตินิยม” จะปลุกขึ้นได้เพียงใด อ.ชาญวิทย์ยังไม่แน่ใจนัก เพราะเงื่อนไขเวลานี้ต่างจากยุคสฤษดิ์-จอมพล ป.
"เพราะว่าเอาเข้าจริง ถ้าเราดูเรื่องการปลุกกระแส“ชาตินิยม” ในอดีต มันถูกปลุกโดยรัฐ ถูกปลุกโดยรัฐบาล แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีส่วนปลุกไม่เต็มที่ คือผมไม่คิดว่ารัฐบาลจะไม่ปลุกเลยนะ ผมคิดว่ารัฐบาลปลุกและก็รัฐบาลใช้เครื่องมือที่มีอยู่ โทรทัศน์บางช่องที่ออกมาเสนอ
“ประวัติศาสตร์บาดแผล” ประวัติศาสตร์“ฉบับพิกลพิการ” ว่าด้วย“พระยาละแวก” อะไรอย่างนี้
คือใช้วาทกรรมว่าพระนเรศวรนั้นล้างแค้นตัดหัวกษัตริย์กัมพูชาเอาเลือดมาล้างพระบาท ดูแล้วเหมือนกับพระนเรศวรนั้นใจดำอำมหิตมากเลย ล้างแค้นถึงขนาดหนัก แต่เอาเข้าจริงมันเป็นประวัติศาสตร์ซึ่ง“ถูกทำให้เชื่อ” ว่าพระยาละแวกถูกจับตัดหัว แต่ในข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น กษัตริย์กัมพูชาหรือพระยาละแวกหนีไปเมืองลาวได้ อันนี้เป็นงานประวัติศาสตร์ซึ่ง อ.จันทร์ฉาย ภัคอธิคม ทำการศึกษาค้นคว้า เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เธอทำการค้นคว้าเรื่องพิธีปฐมกรรมพระยาละแวก และเธอก็ได้เป็นศาสตราจารย์ไปเพราะว่างานค้นคว้ายอดเยี่ยมมาก และก็ได้พิสูจน์แล้วว่าพระนเรศวรตีเมืองละแวกได้ แต่ฆ่าพระยาละแวกไม่ได้
แต่ว่าเป็นประวัติศาสตร์หนึ่งที่โทรทัศน์ของรัฐเอาขึ้นมาใช้ปลุกระดม ซึ่งผมคิดว่าอันนี้น่าเป็นห่วง มันเป็นการใช้“ประวัติศาสตร์บาดแผล” มาตอกย้ำ ทำให้เกิดความบาดหมางกับกัมพูชาต่อไป ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้คนไทยรับข้อมูลผิดๆ สืบทอด“อคติ” ความคิดที่เป็นลบต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด"
"แต่ว่าประเด็นที่น่าพูดถึง ก็คือว่า การปลุกกระแส“ชาตินิยม” ส่วนใหญ่ตอนนี้ ก็คือทำโดยกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มเสื้อสีเหลือง ซึ่งไม่ใช่องค์กรของรัฐ ดังนั้นก็จะต่างกับสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่างจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันนั้นใช้เครื่องมือของรัฐโดยตรงเลย แต่ตรงนี้ต่างกัน เมื่อต่างแล้วก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่เคยเป็นมาในอดีต และมันต่างอีกตรงที่ว่าปัจจุบัน คือสมัยสฤษดิ์ กับสมัยจอมพล ป. ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีคู่ต่อสู้ทางการเมือง จึงเล่นได้ค่อนข้างสบายมาก เพียวๆ ไปเลย ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปลุกระดมเรื่องการแพ้คดีเขาพระวิหารนั้น พรรคฝ่ายค้านคือประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็เป็นทนายให้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ดังนั้นไม่มีคนคัดค้าน"
"ผมคิดว่าปัจจุบันมันมีกลุ่มการเมืองเยอะแยะที่ไม่เห็นด้วย คุณชวลิต คุณทักษิณนี่ชัดเจน และก็กลุ่มเสื้อแดง รวมทั้งยังมีความหลากหลายอีกเยอะแยะ ผมคิดว่ากลุ่มนักวิชาการถึงแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ เสียงไม่ดังมากเท่ากับนักวิชาการกระแสหลัก ก็ไม่เห็นด้วยไม่น้อย และผมคิดว่าข้อสำคัญโลกปัจจุบันมันเป็นโลกของอินเทอร์เน็ต คนจำนวนมากเลยที่มีความรู้มีสถานะ สามารถใช้สื่อทางเลือก ไม่พึ่งกับสื่อปกติ ไม่พึ่งอยู่กับโทรทัศน์วิทยุ
อย่างผมนี่ปกติผมจะไม่ค่อยดูโทรทัศน์ เพราะผมคิดว่าโทรทัศน์นั้นอ่านข่าวและวิจารณ์ข่าวไปในตัว ผมว่าทำให้เรากลายเป็นจำเลยของคนอ่านข่าว มันไม่ให้อิสระเราได้คิด เขาให้เราเลยว่ามันคืออะไร ผมคิดว่าการอ่านหนังสือพิมพ์หรือการอ่านข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต มันมีอิสระที่ว่าเราคิดได้ เรามีเวลาคิด เราค่อยๆ อ่านก็ได้ ผมคิดว่าโทรทัศน์นี่เป็นอันตรายมากๆ เพราะฉะนั้นตัวผมเองไม่ค่อยดู ตามอยู่บ้างแต่ว่าไม่ค่อยดู คิดว่ามันทำให้คนไม่สามารถสร้างความคิดอิสระได้ ไม่สามารถจะปลดปล่อย ตกเป็นทาส
เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้มันมีคนจำนวนหนึ่งที่หันไปหาสื่ออื่น ทำให้การปลุกระดมอย่างที่เคยทำมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยจอมพลสฤษดิ์ หรือสมัย 6 ตุลาก็ได้ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สมัย 6 ตุลา 19 มองกลับไป fax ยังไม่มีเลย โทรศัพท์มือถือก็ยังไม่มี พอมาพฤษภาเลือด 2535 มี fax มีโทรศัพท์มือถืออันใหญ่ๆ และก็มีกล้องวิดีโอ
ผมคิดว่าเทคโนโลยีสำคัญมากๆ ใครแพ้ใครชนะผมว่าบางทีเทคโนโลยีสำคัญมาก ฉะนั้น ในขณะนี้ใครไม่เล่นอินเทอร์เน็ต ใครไม่มีอี-เมล์เสียเปรียบมากนะ เจเนอเรชั่นผมส่วนใหญ่ไม่เล่นนะ พวก“ขิงแก่” นี่ไม่เล่น แต่ผมบังเอิญต้องไปสอนหนังสือเมืองนอกบ่อยๆ มันก็เลยมีความจำเป็นต้องใช้ เราก็ไม่อายที่จะให้เด็กมาสอน บางทีเราไปอยู่เมืองนอกเราไม่ค่อยอายเท่าไหร่ อยู่เมืองไทยอาจจะอาย ไม่กล้าบอกว่าเล่นอินเทอร์เน็ตไม่เป็น บางคนอาจจะต้องมี e-mail address ไว้แต่ไม่เคยเปิด เพราะฉะนั้นคนที่ไม่สามารถจับกุมเทคโนโลยีพวกนี้ได้เสียเปรียบมากๆ ก็แปลว่า ในอีกด้านหนึ่งคนจำนวนหนึ่งเขาหันไปหาสื่อทางเลือก ผมคิดว่าอันนี้จะเป็นประเด็นสำคัญมากในแง่ของการต่อสู้ในการเมืองครั้งนี้"
เมื่อเทียบกับยุคก่อน ความขัดแย้งของสองประเทศที่อ่อนไหวขนาดนี้ป่านนี้คงลุกลามไปไกลแล้ว
"มันมีคนออกมาทัดทานมีคนออกมาติง เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะไม่ร้อนแรงเท่าที่ควร แต่ก็ไว้วางใจไม่ได้นะครับ เพราะว่า“ลัทธิชาตินิยม” นั้นเป็นอะไรก็ตามที่สามารถจะไปได้ไกลมากๆ คือ“ลัทธิชาตินิยม” เป็นเรื่องของความรัก ความรักชาติ เป็นบวก เป็นพลังสร้างสรรค์ แต่ถ้าล้ำเส้นมันก็กลายเป็นความหลง พอหลงปุ๊บ ก็คลั่ง หลงปุ๊บ ก็ตาบอด หลงก็คลั่งแล้วมันอาจไปถึงขนาดทำอะไรก็ได้ กลายเป็นพลังลบ เป็นพลังทำลาย อันนี้คือทวิลักษณ์ของ“ลัทธิชาตินิยม” เช่นเดียวกัน มีด้านที่เป็นบวกซึ่งดีมากๆ ถ้าเรารักชาติเราเสียสละ เราทำอะไรให้ชาติบ้านเมืองเราเจริญ ทำได้เยอะมาก แต่ถ้าเราข้ามเส้นบางเส้นไป ซึ่งมันอยู่ตรงไหนเราก็ไม่รู้นะ"
เส้นที่ว่านั้นอาจต้องมีศัตรูของชาติเสียก่อน
"อันนี้แหละมันถึงมีวาทกรรมประหลาดๆ เข้ามา วาทกรรมว่าด้วย“พระยาละแวก” วาทกรรมว่าด้วย“ตะกวดลิ้นสองแฉก” วาทกรรมว่าด้วย“ขอมไม่ใช่เขมร” วาทกรรมว่าด้วย“แผนที่ของฝรั่งเศสฝ่ายเดียว” วาทกรรมว่าด้วย“ทางขึ้น-สันปันน้ำ” อยู่ทางด้านเรา มันเป็นการสร้าง“ทัศนคติที่เป็นลบ” เป็นการสร้าง“อคติ” อย่างรุนแรงมากๆ"
กระทั่งมาถึงวาทกรรมล่าสุดที่ว่า คลั่งชาติดีกว่าขายชาติ
"ไม่น่าเชื่อนะว่ามันมาจากคนซึ่งมีการศึกษา ส่วนใหญ่แล้ว“ชาตินิยม” มักถูกปลุกโดยคนเมืองเป็นส่วนใหญ่ เป็นคนกรุงเทพฯ เป็นคนเมือง เป็นคนที่อย่างน้อยต้องมี“ปริญญาตรี” ผู้นำของลัทธิชาตินิยม ดูกลับไปเถอะครับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์"
"สิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าวิตกมากก็คือ การเมืองภายในของความขัดแย้งที่ไม่ยอมจบไม่ยอมสิ้น ผมคิดว่าเมื่อล้มคุณทักษิณไปได้ด้วยการรัฐประหาร ก็ต่อต้านนอมินีของคุณทักษิณต่อ ก็คือคุณสมัคร สุนทรเวช กับคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในช่วงของการพยายามล้มคุณสมัครกับล้มคุณสมชาย มันมีเหตุบังเอิญเรื่องการขึ้นมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร มันกลายเป็นเหมือนกับสวรรค์บันดาล ส่งอะไรมาให้“จุดปุ๊บติดปั๊บ” เลย มันก็กลายเป็นเรื่องที่สามารถจะใช้ถล่มทั้งคุณสมัคร คุณสมชาย คุณนพดลได้
และผมคิดว่ามันก็บานปลายต่อไป ถึงได้คู่ต่อสู้ใหม่คือสมเด็จฮุนเซน บานปลายถึงตรงนั้นกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศไป และมันก็กระทบกว้างมากๆ เพราะมันไม่ใช่เรื่องในบ้านเรา และก็ไม่ใช่เพียงไทยกับกัมพูชา มันกลายเป็น“อาเซียน” มันกลายไปขึ้นเวทีโลก เป็นสิ่งซึ่งผู้คนทั้งหลายก็มองอย่างวิตกกังวล และเผลอๆ อาจจะค่อนข้างประหลาดใจและเผลอๆ ดูถูกดูแคลนด้วย ประเด็นมันคล้ายกับมันไม่มี“วุฒิภาวะ” หรืออย่างไร
ในวงการทูตที่ผมพบเจอในกรุงเทพฯ บรรดาข้าราชการการทูตของต่างประเทศเขาก็รู้สึก บางคนก็ประหลาดใจ ระคนกับการมองที่เหมือนกับว่าไอ้นี่มันอะไรนะ ทำนองนี้ ซึ่งในด้านหนึ่งมันก็น่าเศร้า อีกด้านหนึ่งเรื่องนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก คือน่าห่วง ผมคิดว่ามันมีสิทธิ์บานปลายมากๆ เลย"
"เลยกลายเป็นเรื่องของคุณทักษิณกับคุณอภิสิทธิ์ (หัวเราะ) ผมว่าดูๆ แล้วตกลงใครวางกับดักใคร คุณชวลิตไปพนมเปญกลับมาปุ๊บเป็นประเด็นเลย เรื่องจะมีบ้านพักหรูหราให้ และก็ตามมาด้วยฮุนเซน บอกว่าไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามมาด้วยคุณทักษิณไปบรรยายพิเศษ ตามมาด้วยคุณอภิสิทธิ์เรียกทูตกลับ มันว้าวุ่นไปหมดนะ
ผมคิดว่าการต่างประเทศ การทูตของไทยเราตกต่ำอย่างมากๆเลย คือ นักการทูตของเรากลายเป็นนักการเมืองไปหมดแล้ว การทูตที่เราเคยมีชื่อเสียงลือลั่นไปทั่วโลก ใน Southeast Asiaในอุษาคเนย์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงบัวแก้ว ผมคิดว่ายุคนี้ตกต่ำที่สุด นักการทูตไม่เล่นบทนักการทูต นักการทูตเล่นบทนักการเมือง อันนี้ คือสิ่งที่ผมว่ามันไม่น่าเชื่อนะ สิ่งที่เราเรียกว่ามารยาททางการทูต ความเป็นผู้ดี อะไรต่างๆ หายไปหมดเลย พอการเมืองขึ้นสมอง หายไปหมดเลย ความเป็นผู้ดี ความที่มีชาติวุฒิ คุณวุฒิ วัยวุฒิ มันหายไปหมดเลย”
มันน่าเศร้า ในแง่อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเก่า นะ ผมทำงานที่นั่นก่อนไปเรียนหนังสือเมืองนอก อันนี้ มันไม่ใช่ภาพของนักการทูต ที่เราเคยเห็นและที่มันอยู่ในอุดมคติของเราเลย ที่เคยเรียน สมัยก่อนธรรมศาสตร์ มีรัฐศาสตร์การทูต ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมรู้สึกเศร้าใจมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะตกต่ำไปถึงขนาดนี้”
สาม scenarios
สถานการณ์ขณะนี้ เราอาจต้องมองไปถึงขั้นปิดสถานทูต พรมแดน อ. ชาญวิทย์มองว่า ตอนนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน อาจจะออกมาในลักษณะ 3 scenarios
“scenarios ที่ (หนึ่ง) คือ อาจจะแรงกันไปแรงกันมา พอต่างฝ่ายได้ “แต้มคะแนน” อย่างที่ตัวเองคิดว่าตัวเองได้ ก็อาจจะเลิกรา พักรบชั่วคราว ผมหวังว่ามันจะออกมาอย่างนี้นะ พักรบชั่วคราว คือ สิ่งที่หวังอย่างนี้ ก็เพราะว่าเมื่อมองแล้ว ฝ่ายทหารของไทยก็ดี ฝ่ายทหารของกัมพูชาก็ดี ยังไม่เข้ามาเล่นในเกมนี้ อันนี้ เป็นเกมนักการเมืองเพียวๆ เลย ทหารยังไม่เข้ามาเล่น ดังนั้น เมื่อไม่มีกำลังสนับสนุนจากทหาร คือ “ลัทธิชาตินิยม” ในเวอร์ชั่นเดิม ต้องใช้กำลังกองทัพสนับสนุน นะครับ ไม่ว่าจะเป็นสมัยจอมพล ป. หรือจอมพลสฤษดิ์ กำลังกองทัพสนับสนุน ถึงจะเดินเกมได้ และมีประสิทธิภาพ มีเครื่องมือ มีอุปกรณ์ แต่ว่า ณ ปัจจุบัน เรายังไม่เห็น และหวังว่าคงไม่เห็น ที่ทหารจะเข้ามาเล่น
นั่นเป็น scenarios ที่ (หนึ่ง) แต่ผมก็ยังวิตกอีกว่า มันอาจจะมีสิ่งที่น่าวิตกไปกว่านั้น คือ scenariso ที่ (สอง) ก็คือ ฝ่ายคุณทักษิณบวกคุณชวลิต ฝ่ายสีแดง และยังบวกฝ่ายฮุนเซนอีก ก็แรงต่อ ดูแล้วแรงมากๆ จากการสัมภาษณ์ ก็ดี อย่างที่ได้เห็น ได้อ่านจากสื่อ แปลว่าทางฝ่ายนี้ อาจจะดันไปถึงกระทั่งคุณอภิสิทธิ์ ไม่มีทางเลือก ต้องยุบสภา ยกไปอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้าออกอย่างนี้ ให้ยุบสภา มันก็ยังเป็นวิถีทางประชาธิปไตยอยู่ ใช่ไหม ครับ
มันไม่น่ากลัวมากนัก บางคนอาจจะหวั่นวิตก เมื่อยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ในเมื่อการเมืองอย่างไรก็ตาม หนึ่งคน ต่อหนึ่งคะแนนเสียงอยู่นั่นแหละ คนที่จะไปหย่อนบัตร ที่อาศัยอยู่ 800 กิโลเมตร จากสามเหลี่ยมมรกต ที่ จ. อุบลราชธานี ไล่มาอีสานใต้ พนมดงรัก ไล่ลงไปภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด จะลงคะแนนเสียงให้ใคร ตรงนี้ สำคัญมากๆ นี่ยังไม่พูดถึง 3-4 จังหวัดภาคใต้นะ ยังไม่พูดถึงนครปัตตานี นะครับ
ซึ่งผมคิดว่าคุณชวลิตโดนใจชาวบ้าน ดังนั้น ผมว่าอันนี้น่าสนใจมากๆ จะพิสูจน์เรื่องที่ผมบอกว่า “และประชาชน” นี่เป็น scenarios ที่ (สอง) ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ต่อสู้กันไปตามวิถีทางประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การ form รัฐบาลใหม่ และก็ค่อยๆไปหาทางกันข้างหน้า คุณชวลิตก็มีสิทธิรีเทิร์น”
ส่วน scenarios ที่ (สาม) ผมคิดว่าอันนี้ ผมวิตก คือ ผมคิดว่าอย่างที่เคยพูดแต่แรกว่า “ลัทธิชาตินิยม” ฉบับดั้งเดิม ก็ใช้ได้ผลมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 100 ปี ก็อาจจะยังเป็นผลอยู่ก็ได้ในตอนนี้ มันไปโดนใจ ไปจี้จุดของความเป็นไทย ไปจี้จุดของชาติ ศาสนา พระมหากษัคริย์ ความจงรักภักดี ที่มีสิทธิบานปลาย มันก็เคยเป็นมาแล้ว ใช่ไหมครับ อย่าง “กรณี 6 ตุลา” ที่จุดประเด็น ปลุกระดมเกี่ยวกับเรื่องของสถาบันฯ แล้วเข้ามาฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ ก็มีมาแล้ว
เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ ถ้าบานปลาย ผลักดันกันไป จะโดยทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง หรือว่าบางส่วนมาจากรัฐบาล ก็ดี มันไปไกลกระทั่งร้ายแรงยิ่งๆ ขึ้น ก็คือ ปิดพรมแดน อันนี้ ในแง่เศรษฐกิจพัง เพราะว่าไทยกับกัมพูชานั้น มีการลงทุน ค้าขาย แลกเปลี่ยนกันมากมหาศาล
ประเด็นนี้ มิติทางเศรษฐกิจ ไม่มีในสมัยสฤษดิ์ ประเด็นนี้ไม่มีในสมัยจอมพล ป. ประเด็นนี้ มีเมื่อคุณชาติชาย ชุณหะวัณ เปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นตลาดการค้า เพราะฉะนั้น เขาบอกว่าตัวเลขคือ 4-5 หมื่นล้าน แต่พวกนักธุรกิจบอกว่า นั่นมันเป็นตัวเลขที่เห็นจะๆ แต่ว่าตัวเลข ที่อาจจะมองไม่เห็น อาจจะ 8 หมื่นล้าน ซึ่งหมายความว่ามากมายมหาศาล ไทยได้เปรียบดุลการค้า ดุลการชำระหนี้ประเทศเดียว รอบบ้าน คือ กัมพูชา ไทยเสียเปรียบดุลการชำระหนีกับทุกประเทศ อย่างกรณีลาว เราคิดว่าเราได้จากลาว ไม่ใช่ เราต้องเสียค่าซื้อไฟฟ้าจากลาวมากทีเดียว และเราก็ไม่ได้เปรียบกับพม่า เราไม่ได้เปรียบกับมาเลเซีย
เพราะฉะนั้น แปลว่ากรณีของธุรกิจการค้าในกัมพูชา จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงมาก สายการบินของคนไทยจะเอาอย่างไร ปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งมีรายได้ผลประโยชน์มหาศาลในกัมพูชา ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึงมีสาขาประมาณ 3-4 สาขาในกัมพูชา (แต่ไม่ใช้ชื่อ Siam Commercial Bank นะ เพราะคำว่า Siam หรือเสียม มัน sensitive ก็ใช้ชื่อว่า Cambodian Commercial Bank) จะเป็นอย่างไร เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง โรงแรมขนาดใหญ่ ธุรกิจการท่องเที่ยว export-import บริษัทพลาสติก เครื่องสำอาง
คนกัมพูชาใช้ของไทยเยอะมาก เพราะพรมแดนมันติดกัน ไทยเราเข้าไปก่อน คุณชาติชายเปิดปุ๊บเราเข้าไปเลย เราได้เปรียบมาก เวียดนามยังงุ่มง่ามๆ อยู่ แต่ตอนนี้เวียดนามกำลังยิ้มเลยล่ะ ยิ่งปัญหาไทยกับกัมพูชายาวเท่าไหร่เวียดนามยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น บนโต๊ะอาหารของในพนมเปญในเมืองใหญ่ๆ ก็ดี น้ำปลา ซอส อะไรก็ตาม ของเวียดนามกับของไทยตั้งคู่แข่งกันอยู่บนโต๊ะ และผมคิดว่าเวียดนามมีสิทธิจะผลักไทยตกโต๊ะได้
เพราะว่ากัมพูชาก็มี“ลัทธิชาตินิยม” เหมือนกัน เขาก็ปลุกระดมไม่ใช้สินค้าของ“พวกเสียมพวกไทย” อันนี้น่าวิตก แต่ผมคิดว่าที่มันน่าวิตกยิ่งกว่านั้นก็คือว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจการค้าเป็นเรื่องการค้าชายแดน มันข้ามไปข้ามมา แปลว่าคนที่จะถูกกระทบคือ คนระดับกลางระดับล่างรากหญ้า ระดับบนผมไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่หรอกเพราะสายป่านเขายาว บริษัทใหญ่ๆ ธนาคารสายป่านยาวมาก แต่ว่ากลางกับล่าง ยิ่งล่างเขาหาเช้ากินค่ำ 800 กิโลเมตรตามจุดผ่านแดนต่างๆ ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่จะพังพินาศทางเศรษฐกิจ คนเจ็บคือประเทศไทย"
ท่าทีฮุนเซนจึงได้ไม่ยี่หระ
“เขาก็ไปเอาทางเวียดนาม ถ้าใครเคยไปเที่ยวพนมเปญกับไซ่ง่อน ถนนจากไซ่ง่อนมาพนมเปญมันดีมากเลย ที่ด่านชายแดนกัมพูชากับเวียดนาม แค่ตรวจคนเข้าเมืองมันหรูหราฟู่ฟ่ามาก เทียบกับถนนมาบ้านเราตรงปอยเปตมาอรัญประเทศเทียบกันไม่ได้เลย นั่นแปลว่าเส้นทางสินค้าจากเวียดนามเข้ากัมพูชาสะดวกสบายมากๆ
อันนั้นด้านหนึ่งในแง่ของมิติเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าในแง่ของการเมืองถ้ามันขยายจากปิดพรมแดน และฝ่ายทหารถูกเกมการเมืองบีบบังคับให้ต้องลุกขึ้นมาเล่นเกม“รักชาติ” ด้วยมันก็นำไปสู่การปะทะปะทะประปรายเป็นสงครามเล็กสงครามน้อย ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเสียหายหนักมากๆ และผมก็ไม่แน่ใจว่าทางฝ่ายทหารไทยจะพร้อมในการรบแบบสงครามนอกรูปแบบเกมยาวๆ หรือไม่ เพราะว่าเท่าที่ทราบอย่างช่วงชายแดนศรีสะเกษ สุรินทร์ ติดกับพระวิหารของกัมพูชา ผมว่ารัฐบาลฮุนเซนย้าย “เขมรแดง” เก่ามาอยู่หมดแล้ว ผมคิดว่าพวกนั้นคือคนที่รู้จักพื้นที่ชำนาญพื้นที่ เคยอยู่ตรงนั้นประมาณ 10 ปีในสมัยที่รัฐบาลของคุณเปรม ติณสูลานนท์ ให้การสนับสนุนเขมร 3 ฝ่าย รวมทั้ง“เขมรแดง”
เพราะฉะนั้นอันนี้น่าห่วง ถ้าปะทะกันแล้วในแง่ของสงครามนั้นคนซวยคนตายก็คือทหารตัวเล็กๆ และก็ชาวบ้านแถวนั้น พวกเราที่อยู่กรุงเทพฯ ไม่มีปัญหา ผมว่าเราก็อาจจะนั่งอยู่ในห้องแอร์ต่อไป เปิดเครื่องอินเทอร์เน็ตอะไรทำนองนี้ แต่คนที่เดือดร้อนคือทหารตัวเล็ก ๆ ลูกชาวบ้าน ผมคิดว่าที่จะเจ็บหนัก ตาย ก็ตั้งแต่ปีที่แล้ว สองฝ่ายก็ตายไป 7-8 คนแล้ว และยังมีการเผาบ้านร้านค้าที่เชิงปราสาทพระวิหารอีก เมื่อเดือน เม.ษ. ที่ผ่านมา ผมว่าคนตัวเล็กๆ จะโดน กล่าวคือ“ลัทธิชาตินิยม” มันเป็นประโยชน์กับคนระดับกลางในเมืองกับคนชั้นสูง แต่มันไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับคนระดับล่างคนตัวเล็กตัวน้อยรากหญ้าเท่าไหร่“ลัทธิชาตินิยม” ที่ผ่านมา และผมคิดว่า“อาเซียน” จะทำอย่างไร ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จะทำอย่างไรคงกระอักกระอ่วน
ดร.สุรินทร์เคยพูดกับผมเมื่อสัมมนาครั้งหนึ่งที่นครศรีธรรมราช อ.สุรินทร์บอกปราสาทเขาพระวิหารเป็นปราสาทฮินดู-พราหมณ์ ของพระศิวะ ประเทศพุทธ 2 ประเทศขัดแย้งกัน แย่งกัน จะให้ผมซึ่งเป็นมุสลิมมาแก้ (หัวเราะ) ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะตัวเองเป็นพุทธใช่ไหมครับ ขอให้ ดร.สุรินทร์ซึ่งเป็นมุสลิมมาช่วยแก้ อ.สุรินทร์แกก็อึกอักๆ บอกขอให้ทุกคนมีขันติ”
เสียมโป๊ยก๊ก
นี่เป็นครั้งแรกที่การเมืองไทยถูกแทรกแซงจากเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ ด้านหนึ่งเป็นผลมาจากความอ่อนแอของการแบ่งสีแบ่งขั้วอย่างยืดเยื้อ จน อ.ชาญวิทย์เปรยว่า เราอาจลืมไปแล้วว่าตอนที่เขมรแตกเป็นหลายฝ่าย คนไทยสนับสนุน“เขมรแดง” อยู่หลายปี ตอนนี้เราจีงเผชิญกับสถานการณ์ที่เขมรสนับสนุน“ไทยแดง”
“ทางออกของวิกฤติบ้านเมืองเราคือผู้นำต้องประนีประนอม ถ้าไม่ประนีประนอมก็ไม่จบ ผมก็เสนอเอาไว้ว่าถ้าจะแก้ปัญหาที่เราเจออยู่ขณะนี้ ความแตกแยกในสังคมไทยแบ่งเป็นเสื้อตั้งไม่รู้กี่สี ผมเรียกตามแบบพวก“งิ้วธรรมศาสตร์” เรียกเป็น“เสียมโป๊ยก๊ก” คือมีอยู่ 8 ก๊ก ไม่ใช่ 2 ก๊ก
ไม่ใช่มีแค่เหลืองกับแดง มีชมพู มีน้ำเงิน ฟ้า เขียว มีกากี ขาว อันนี้มันเป็นความแตกแยกอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในสังคมไทย ยกเว้นตอนหลังเสียกรุงศรีอยุธยา นั่นเป็น“ก๊ก” ต่างๆ เยอะแยะ กว่าพระเจ้าตากจะปราบก๊กเหล่านั้นได้ต้องใช้เวลาหลายปี ฉะนั้นตอนนี้ก็น่าวิตก ความแตกแยกของสังคมเราซึ่งเป็น“เสียมโป๊ยก๊ก” ผมคิดว่าถ้าสมาน-สามัคคี-ปรองดอง หรือขอใช้คำจีน คนกรุงเทพฯ จะได้เข้าใจ คือ“เกี้ยเซี้ย” ถ้าเกี้ยเซี้ยกันไม่ได้ ผมว่าอนาคตของเราก็น่าห่วง”
“ในประเด็นที่ (สอง) ผมคิดว่าถ้าเราไม่สามารถจะ“ปฏิรูป” แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่เขียนขึ้นมาในลักษณะที่เราเห็นปัจจุบันมันเป็นฉบับสำหรับ“กลุ่มคน” หรือ“หมู่คณะ” ถ้าเราแก้อันนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยน “วาทกรรม” ให้เป็นรัฐธรรมนูญแห่ง“สยาม” ยังเป็น“ไทยๆ” อยู่อย่างนี้ บ้านเมืองก็น่าห่วง
ประเด็นที่ (สาม) ผมคิดว่าถ้าเราไม่ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุด เป็นสถาบันกลาง พอเหมาะพอควรกับระบอบประชาธิปไตย เพื่อการยึดถือเคารพบูชาของประชาชนโดยส่วนรวม ไม่ถูกเอาไป“อ้าง” เอาไป“อิง” เพื่อประโยชน์ของ“กลุ่มคน” กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ “หมู่คณะ” ถ้าเราทำอันนี้ไม่ได้ บ้านเมืองของเราก็แย่
ประเด็นที่ (สี่) ผมคิดว่าถ้าเราไม่ทำให้สถาบันทหาร ตำรวจ พลเรือน ตุลาการ เป็นสถาบันที่ปราศจากการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่สามารถจะทำให้มีความคิดที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเราทำไม่ได้ สถาบันเหล่านี้ก็จะถูกใช้เพื่อประโยชน์“กลุ่มคน” หรือ“หมู่คณะ” ใดคณะหนึ่ง บ้านเมืองก็มีปัญหาอีก นี่เป็น 4 ข้อที่ผมมองไว้ ถ้าแก้เรื่อง“เกี้ยเซี้ย” ไม่ได้ แก้เรื่องรัฐธรรมนูญไม่ได้ แก้เรื่องสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ แก้เรื่องสถาบันข้าราชการ-ทหาร-ตำรวจ-ตุลาการไม่ได้ ก็มีปัญหาฉะนั้นผมมองว่ามันมีสิทธิจลาจลเป็น“กาลียุค” ผมใช้คำนี้อยู่บ่อยๆ มีสิทธิเป็น“กาลียุค” เพราะฉะนั้นก็น่าเป็นห่วงมากๆ สำหรับอนาคตของบ้านเมืองเรา”
(เขา)รู้เรา-ไม่รู้เขา
จากการได้รับทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ ภายใต้โครงการของ Center for Khmer Studies (CKS) ทำให้ อ.ชาญวิทย์ เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างไทย-กัมพูชา อยู่กว่า 6 เดือนเมื่อปีที่แล้ว เพื่อสอนหนังสือคนหนุ่มสาวที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นช่วงเวลาที่ ฮุน เซน ชนะการเลือกตั้งท่วมท้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อ.ชาญวิทย์เล่าว่า ในช่วงเวลานั้น ผู้นำพรรค Cambodian People’s Party (CPP) ใช้กระแสปราสาทพระวิหารปลุก “ลัทธิชาตินิยม” จากชาวกัมพูชา จนได้รับคะแนนเสียงถึง 58.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ไปออกเสียงเลือกตั้ง
“ผมคิดว่าความมั่นใจของ ฮุน เซน ก็คือการเลือกตั้งเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว หลังจากที่ไทยประท้วงเรื่องปราสาทพระวิหารขึ้นมรดกโลก เขาก็ได้ขึ้นทะเบียนไป เพราะฉะนั้นปลายเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว พรรคประชาชนกัมพูชา Cambodian People’s Party ชนะเลือกตั้งขาดลอย เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลฮุน เซน ไม่ต้องเป็นรัฐบาลผสม ไม่ต้องสนใจพรรคอื่นๆ ไปเลย พรรคของสม รัง สี ยังอยู่ส่งเสียงได้บ้างเป็นครั้งคราว แบบคราวเรื่องไปถอนหลักเขตที่สวายเรียง ติดกับเวียดนาม ก็ไม่มีความหมายทางการเมือง
และฮุน เซน ก็ถือว่าปราสาทพระวิหารเป็น“วาระแห่งชาติ” ในแง่ที่ว่าสามารถจะปลุกความรู้สึกนึกคิด“ชาตินิยม” ได้อย่างดี คุณไปลงเครื่องบินที่เสียมเรียบก็ดี ที่พนมเปญก็ดี ป้ายมหึมาเป็นรูปปราสาทพระวิหาร คุณออกจากสนามบินพนมเปญ ถนนวิ่งเข้าเมืองไปพระบรมมหาราชวัง ไปริมน้ำโขง เต็มไปด้วยป้ายปราสาทพระวิหาร ผมไปนอนโรงแรมบางโรงแรมในกัมพูชา ในห้องเอารูปปราสาทพระวิหารมาติดไว้ใหญ่ท่วมหูท่วมตาเลย ธนบัตรใบละ 2,000 เรียล ซึ่งเป็นใบที่ใช้กันเยอะเป็นรูปปราสาทพระวิหาร”
“กัมพูชามีมรดกโลก 2 แห่ง คือ นครวัด-นครธม กับปราสาทพระวิหาร ในธนบัตรกัมพูชาเกือบจะทุกใบ เกือบจะทุกราคา ต้องมีรูปปราสาท ผมเรียกว่า “ปราสาทศิลาชาตินิยม” ของเรามี“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เขาก็มี“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปราสาท” ซึ่งขลังมากๆ จำได้ใช่ไหมกรณีปล่อยข่าวกบ-สุวนันท์ ปราสาทหินนครวัด นี่มัน“จุดปุ๊บติดปั๊บ” นะ
ในกัมพูชา และเขาก็เน้นมากๆ ไม่ว่าจะเป็นธนบัตร โปสเตอร์ เพลง เราคิดว่าไทยมีเพลง“ขี้ตู่กลางนาขี้ตาตุ๊กแก” เรื่องคดีปราสาทพระวิหาร เขาก็มีเยอะเลย ในแสตมป์ก็มี คุณไปไหนในกัมพูชา คุณหนี“ปราสาทพระวิหาร”ไม่ได้เลย ทางหลวง ไฮเวย์เป็นป้ายมรดกโลกเต็มไปหมด และตราของยูเนสโก เขาเล่นเกม nationalism กับ internationalism เขาเล่นเกมเอาตรายูเนสโกติดทั่วไปหมด เรามีมรดกโลก 5 แห่ง มีมากกว่าเขาอีก เราไม่เห็นเลยว่าเอามาทำอะไรต่ออะไรให้เห็นเตือนใจ”
อ.ชาญวิทย์ยังเล่าว่า นักศึกษากัมพูชาเป็นผู้พาเดินทางขึ้นไปถึงปราสาทพระวิหารทางด้านเขมร ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเราคิดแต่ว่าทางขึ้นอยู่ฝั่งไทย แต่จากรูปถ่ายที่ อ.ชาญวิทย์บันทึกไว้ แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาตัดถนนขึ้นตรงถึงปราสาท หลักฐานชิ้นนี้ทางทหารไทยยังต้องติดต่อขอจากอาจารย์(ดูเรื่องและภาพในนิตยสาร “สารคดี” ฉบับเดือนตุลาคม 2552)
“เราคิดว่าเรารู้จักเขาดี เรามีปัญหากันเองภายในก็แล้ว ของ “โป๊ยก๊ก” ก็ยังไปมีปัญหากับข้างบ้านอีก และข้างบ้านก็ไม่ใช่ข้างบ้านธรรมดาๆ เสียด้วย เป็นข้างบ้านซึ่งผ่านประสบการณ์การเมืองมาอย่างโชกโชน ผ่านความหายนะเจ็บปวดมาอย่างรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีฮุน เซน นอกจากเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนานมากๆ 20 กว่าปี ยังเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเพียงคนเดียวที่ได้พบนายกรัฐมนตรีของสยามประเทศไทยมาแล้วเป็นสิบคนได้มั้ง จากคุณชาติชาย คุณชวน คุณบรรหาร คุณชวลิต คุณทักษิน คุณสมัคร คุณสมชาย คุณอภิสิทธ์ ดังนั้นถามว่านายกฯ เรารู้เขา หรือนายกฯ เขารู้นายกฯ เรา คือเขาต้องมีประสบการณ์ที่มหัศจรรย์มาก เขาเจอมาแล้วเป็นสิบคน รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ฮอร์ นัมฮง พบรัฐมนตรีของไทยมาแล้วประมาณ 15 คน ผมคิดว่าแสดงว่าคลังข้อมูลและประสบการณ์ของเขาคงสูงมากๆ ของเรามันตุปัดตุเป๋”