ที่มา ไทยรัฐ
สถานการณ์ระหว่าง ไทย-กัมพูชา จะบานปลายแค่ไหนก็ไม่ถึงกับไม่มีทางออก ยกเว้นแต่ว่าคนไทยจะช่วยกันออกมาจุดไฟเผาเมืองซะเอง ที่เห็นตื่นเต้นก็จะมีแต่รัฐบาลไทย นี่แหละ บ้านเราชักเพี้ยนๆชอบกล เกิดสุญญากาศขึ้นในบ้านเมือง ไม่มีเอกภาพ
นอกจากเรื่องที่ ส.ส.-ส.ว.จะเห็นดีเห็นงามขึ้นเงินเดือนตัวเองในขณะที่ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนแล้ว ยังมีเรื่องซุกอำนาจอีกกระทอก ดูอย่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินนั่นปะไร
เก็บอาการอยากไม่อยู่
ฟังถ้อยแถลงของ คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.ที่มาจากการลากตั้ง ในฐานะคนสนิทของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าฯ สตง.ที่เจอข้อครหาสำคัญทำนองว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองเอาไว้อื้อ ออกมาระบุถึงกรณีข้อโต้แย้งการระบุอำนาจหน้าที่จะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 252 นั้นไม่น่าจะมีปัญหา
เพราะมีการกำหนด อำนาจหน้าที่ของ คตง.และ สตง. ไว้ชัดเจน ดังนั้น การให้อำนาจในการตรวจสอบและสืบสวนจึงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
เนื่องจากองค์กรอิสระในปัจจุบันจะมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบ จนถึงที่สุดคือ สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลยุติธรรมเองได้ แต่ คตง. ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงจะเป็นการยกระดับการทำงานของ คตง. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เบื้องหน้าเบื้องหลังต้องย้อนกลับไปดู กระบวนการสรรหาคตง.และผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 301 เรื่องนี้ค้างมากว่าปีแล้ว หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยกรณีการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและการสรรหา สตง.ก็นำไปเทียบเคียงกับกรณีดังกล่าว
ทั้งนี้ วุฒิสภาได้นำเรื่องทั้งหมดมาพิจารณาว่าเริ่มต้นกระบวนการ สรรหาได้เลยหรือไม่ ในที่สุดมีความเห็นถึงประธาน ส.ว.ว่าไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ผลก็คือ ถ้า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไม่มีการแก้ไขในมาตรา 116 ก็ จะเป็นประโยชน์กับอดีตกรรมการ คตง.ทั้ง 10 คน สามารถที่จะเข้ารับการสรรหาได้ต่อไปอีก ในจำนวนนั้นก็มีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อยู่ด้วย
เกิดการผูกขาดในองค์กรอิสระ
แล้วผู้ว่าฯ สตง.จะไปไหนเสีย ขบวนการลับลวงพรางก็ต่อยอดกันไปไม่มีที่สิ้นสุด สุดท้ายต้นตอของปัญหา ก็จะวนกลับมาอยู่ที่เก่า นั่นคือ ความไม่ชอบธรรม อย่างที่เกิดขึ้นอยู่กับสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ถ้าคิดจะแก้วิกฤติก็ต้องตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม อำนาจการตรวจสอบจะต้องไม่ผูกขาด โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ.
หมัดเหล็ก