WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, November 19, 2009

วิวาทะไทย-กัมพูชา ๒๕๕๒

ที่มา thaifreenews

วิวาทะไทย-กัมพูชา ๒๕๕๒

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วรพล พรหมิกบุตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำแทนที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน (ที่ถูกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑) และพรรคประชาธิปัตย์แต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ (อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและนักปราศรัยบนเวที พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยเรียกเปรียบเปรยสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ว่า กุ๊ยข้างถนน) ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการทูตระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะของไทยค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาวะอ่อนไหวล่อแหลมต่อการเกิดความขัดแย้งได้ตลอดเวลา

จนกระทั่ง ความอ่อนไหวดังกล่าวได้พัฒนาถดถอยมาสู่เหตุการณ์ วิวาทะในเวทีการประชุมอาเซียน ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สมเด็จฮุนเซ็น ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ แล้วถดถอยต่อเนื่องมาสู่การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่ริเริ่มอย่างแข็งกร้าวโดยฝ่ายรัฐบาลไทยซึ่งประกาศเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกลับประเทศไทย อันส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาตอบโต้ทางการทูตในระนาบเดียวกันโดยมีคำสั่งเรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับกัมพูชา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ในพัฒนาการถดถอยทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเปิดแถลงผ่านสื่อมวลชนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็น ความขัดแย้งระหว่างนายอภิสิทธิ์กับผม (สมเด็จฮุนเซ็น) โดยแท้ซึ่งมีนัยว่าในทัศนะของสมเด็จฮุนเซ็นเห็นว่าความขัดแย้งดังกล่าวมีขอบเขตจำกัดระหว่างบุคคลที่เป็นผู้นำประเทศเท่านั้น และไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนชาวไทยกับประชาชนชาวกัมพูชา

แต่นายกรัฐมนตรีไทยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนไทยด้วยทัศนะที่แตกต่างออกไปโดยการเรียกร้องประชาชนให้ ความร่วมมือ ในการรักษาปกป้อง ผลประโยชน์ของชาติ ที่อาจกระทบกระเทือนจากกรณีความขัดแย้งซึ่งนายกรัฐมนตรีไทย (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อ้างว่าเป็นเพราะสมเด็จฮุนเซ็นเป็น เบี้ย ให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเดินหมากเกมการเมืองกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ (รายละเอียดดูจากรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ เช่น ไทยรัฐ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เป็นต้น ; กระแสรายงานข่าวและคอลัมน์การเมืองที่เสนอข้อมูลเชิงลบต่อพ.ต.ท. ทักษิณ มากกว่านั้นปรากฏทั้งก่อนและหลังการเกิด วิวาทะไทย-กัมพูชา ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยโพสต์ เป็นต้น

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนอบทวิเคราะห์ว่า การที่นายกรัฐมนตรีไทย (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เรียกร้องประชาชนชาวไทยให้ ร่วมมือกับรัฐบาล ในอันที่จะ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติตามคำให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนั้นจะประสบผลสัมฤทธิ์หรือมีความสำเร็จเพียงใดในทางปฏิบัติ

ความชอบธรรมทางการเมืองของ รัฐบาลไทยปัจจุบัน ในสายตาคนไทยปัจจุบัน ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาเป็นเพียงอันดับ ๒ น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคจัดตั้งใหม่ของอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน) ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนแล้วว่าเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เช่น ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าวต้องอาศัยอิทธิพลสนับสนุนจากบุคคลากรระดับสูงในกองทัพที่พัวพันกับคณะรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ มาก่อนแล้ว

ข้อวิจารณ์ที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางหลายวาระทั้งในแวดวงสมาชิกรัฐสภา และบนเวทีปราศรัยในที่ชุมนุมประชาชนเครือข่าย นปช. (คนเสื้อแดง) ได้แก่ ข้อวิจารณ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะมีนักการเมือง เนรคุณ ถอนตัวออกจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ (เช่น พรรคภูมิใจไทยและนักการเมืองที่เรียกกันว่า กลุ่มเพื่อนเนวิน) แล้วเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลผสม แทนที่จะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย (พรรคการเมืองจัดตั้งใหม่สืบแทนพรรคพลังประชาชน) จัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย (จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังคงสูงเป็นอันดับหนึ่ง) เป็นแกนนำตามครรลองที่น่าจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการที่พรรคอันดับสอง (ซึ่งควรเป็นฝ่ายค้าน) จะแย่งชิงการจัดตั้งรัฐบาลเสียเอง

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองที่กล่าวแสดงความเห็นต่อสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างเจาะลึกลงไปถึงรากฐานข้อเท็จจริงมากที่สุดน่าจะเป็นนายเสนาะ เทียนทอง นักการการเมืองอาวุโส ที่ระบุว่าการเนรคุณของ กลุ่มเพื่อนเนวิน ไม่ใช่เป็นเพียงการเนรคุณต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่ถูกอำนาจรัฐประหารทำให้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เท่านั้น แต่แท้ที่จริงเป็นมากกว่านั้น คือ การเนรคุณประชาชน ที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้นักการเมือง กลุ่มเพื่อนเนวิน ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่มีพรรคการเมืองสำคัญ ๒ พรรคแข่งขันกันเอาชนะคะแนนเสียงเพื่อช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งมีสมาชิกทั้งเครือญาติและเครือข่ายคณะรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ สนับสนุน) และพรรคพลังประชาชน (ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยส่วนที่ยังไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองตามคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐) โดยผลการเลือกตั้งทั่วประเทศปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนชนะพรรคประชาธิปัตย์อย่างท่วมท้น แต่ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็ก เช่น พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นต้น โดยพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในรัฐสภา

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ (ซึ่งยังคงมีประเด็นข้อถกเถียงทั้งในทางข้อเท็จจริงและในการบังคับใช้ข้อกฎหมายของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ (รัฐธรรมนูญ ฉบับ คมช.) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดระยะเวลาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่ถูกยุบสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น ๆ ได้โดยยังคงสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น อดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่จึงพร้อมใจกันสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเพื่อเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลใหม่สืบแทนพรรคพลังประชาชน เว้นแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชาชนที่เรียกกันว่า กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการประชุมลงมติจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับร่วมกันลงมติสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แล้วรวบรวมนักการเมืองกลุ่มดังกล่าวก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ คือพรรคภูมิใจไทย ในเวลาต่อมาถึงปัจจุบัน

แม้ว่าจะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกอย่างน้อย ๒ พรรค สืบแทนพรรคพลังประชาชน คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย (ยังไม่นับรวมพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งมีอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยร่วมก่อตั้งดำเนินการด้วยเช่นกัน) แต่สมาชิกภาพความเป็นผู้แทนราษฎร ทุกคน ในพรรคการเมืองทั้งสองตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นสมาชิกภาพที่แต่ละคนได้มาจาก การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกบุคคลดังกล่าวในวันนั้น มีเจตนาชัดแจ้ง ในการเลือกสมาชิกพรรคพลังประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน ให้ไปเป็น ผู้แทนราษฎร ร่วมกับสมาชิกพรรคพลังประชาชนคนอื่น ๆ ทั่วประเทศเป็นสำคัญ (กล่าวคือ ไม่ใช่เลือกเพื่อให้ไปร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือในเวลาต่อมา) ดังนั้น ผู้แทนราษฎรที่ยังคงร่วมกันสังกัดพรรคเพื่อไทยจึงมิได้บิดพลิ้ว สัญญาประชาคม ระหว่างตนเองกับประชาชนผู้มีอุปการะคุณเลือกตั้งพวกเขาเข้าสู่สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎร แต่ผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคพลังประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ แล้วบิดพลิ้วไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นผู้แทนราษฎรที่มีรากฐานข้อเท็จจริงชัดแจ้งบ่งชี้ว่า เนรคุณประชาชน จำนวนมากในแต่ละเขตเลือกตั้งที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกพวกเขาให้ได้เป็นผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบ

ภาวะการ เนรคุณประชาชน ภายในรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว รวมทั้งภาวะการจัดตั้งรัฐบาลอย่างมี อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ สนับสนุนตามที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศและโดยชาวต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขาดหรือบกพร่องความชอบธรรมในอันที่จะใช้สถานะความเป็นรัฐบาลของตนเรียกร้อง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ร่วมมือกับตนเองในการต่อสู้กับความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างนายอภิสิทธิ์กับสมเด็จฮุนเซ็น

ภาวะบกพร่องความชอบธรรมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในสายตาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ความจริงได้ปรากฏร่องรอยให้สังเกตเห็นมาก่อนแล้วหลายเดือนโดยมีแต่แนวโน้มขยายตัวมากขึ้นตามลำดับเวลาที่ผ่านไป และไม่มีแนวโน้มจะลดลง เช่น กรณีรองเท้าแตะ กรณีปลาร้า กรณีตีนตบ ฯลฯ ต้นทุนทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต่ำ หรือการขาดภาวะความชอบธรรมเช่นนั้นจะทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธ์ได้รับความร่วมมือจากประชาชน น้อย อย่างมีสหสัมพันธ์กัน ทั้งในกรณีวิวาทะส่วนตัวกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาหรือกรณีความพยายามดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจการเมืองต่าง ๆ ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ชาติ กับ ผลประโยชน์ของชาติ ในคำเรียกร้องของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

นอกเหนือจากความพยายามของนายกรัฐมนตรีไทยในการเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชนชาวไทยในการต่อสู้ตอบโต้กัมพูชาแล้ว นายกรัฐมนตรีไทย (และกลุ่มผู้สนับสนุน เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, สื่อมวลชนไทย, ผู้นำทางทหาร, บุคคลากรระดับสูงในสภาความมั่นคงแห่งชาติ และภาคธุรกิจเอกชนบางส่วน) ยังกล่าวเรียกร้องให้คนไทยตระหนักในสำนึกความเป็น ชาติ เดียวกันและการมี ผลประโยชน์แห่งชาติ ร่วมกันในการตอบโต้ความขัดแย้งกับรัฐบาลกัมพูชา

การอ้าง ชาติ และ ผลประโยชน์แห่งชาติ โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในโอกาสนี้ยิ่งทำให้สาธารณชนไทยและชาวต่างประเทศสามารถจะมองเห็น นิยามความเป็นชาติ และ การผูกขาดความเป็นเจ้าของผลประโยชน์แห่งชาติ ในความคิดของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าน่าตระหนกตกใจและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประชาชนส่วนรวมของประเทศเพียงใด (หากใช้ความละเอียดลออบนพื้นฐานข้อมูลจริงในการพินิจพิจารณา) ดังนี้ ;

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐบาลพรรคพลังประชาชนพยายามคลี่คลายปัญหาการใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมมวลชนในการนำของเครือข่าย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บุกยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิโดยเป็นที่ปรากฏชัดแจ้งว่า การกระทำของกลุ่มมวลชนดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินสาธารณะ รายได้ของประเทศ และศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ (ของใคร) เป็นจำนวนมากจนประเมินค่ามิได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นไม่ถือว่าความเสียหายเหล่านั้นเป็น ผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งต้องเสียหายไปเพราะการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ร่วมก่อการ (นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์) และมีบุคคลซึ่งต่อมาจะดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกษิต ภิรมย์) ในรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบันร่วมก่อการ

ในปีเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน (นายนพดล ปัทมะ) ทำหนังสือแถลงการณ์ร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา เป็นการสงวนสิทธิประโยชน์ของไทยที่อาจพึงมีในพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลกัมพูชากำลังดำเนินการขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก้ แต่พรรคประชาธิปัตย์และขบวนการนักวิชาการที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าการทำแถลงการณ์ร่วมนั้นเป็นความผิดและทำความเสียหายต่อ ผลประโยชน์ของชาติ เช่น การสูญเสียอำนาจอธิปไตยในที่ดินใต้ปราสาทพระวิหาร เป็นต้น

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถือในขณะนั้นว่า ผลประโยชน์ ของประชาชนชาวไทยโดยส่วนรวมในขณะนั้นเป็น ผลประโยชน์ของชาติ แต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมชัดแจ้งในเรื่องรายได้ของประเทศไทยโดยส่วนรวมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดน้อยหายไปเพราะการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ, ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมชัดแจ้งจากความเสียหายที่กลุ่มมวลชนพันธมิตรฯ กระทำต่อทรัพย์สินสาธารณะของประชาชนทั้งประเทศที่ติดตั้งอยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ, หรือผลประโยชน์ที่เป็นนามธรรมเช่นศักดิ์ศรีของรัฐบาลไทยในสายตาประชาชน และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเวทีการประชุมนานาชาติ เป็นต้น

แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับถือในขณะนี้ว่ารูปแบบของผลประโยชน์คล้ายคลึงกับที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้นนั้นเป็น ผลประโยชน์แห่งชาติ ที่ประชาชนควรมีสำนึกความเป็น ชาติร่วมกันในการให้ ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการต่อสู้ปกป้องหรือตอบโต้กับรัฐบาลกัมพูชา (เช่น ผลประโยชน์รูปธรรมทางการเงินหรือเศรษฐกิจ และผลประโยชน์นามธรรมเรื่องศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของรัฐบาลไทยในเวทีการประชุมนานาชาติ)

การพินิจพิจารณาโดยละเอียดบนพื้นฐานข้อมูลข้างต้นทำให้พอจะเห็นได้ว่า ;

(๑) ในช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็น ผลประโยชน์แห่งชาติ ที่ประชาชนชาวไทยควรร่วมมือกับรัฐบาลในขณะนั้นในการปกปักรักษา และพรรคประชาธิปัตย์สามารถสนับสนุนประชาชนให้ร่วมมือกันขัดขวางการทำงานของรัฐบาลพรรคอื่นที่กำลังพยายามคลี่คลายปัญหาอันอาจกระทบเสียหายต่อผลประโยชน์แห่งชาติ

(๒) ในช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็น ผลประโยชน์แห่งชาติ ควบคู่กับ การดำรงตำแหน่งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ (หากพรรคประชาธิปัตย์พ้นจากตำแหน่งรัฐบาล สิ่งเดียวกันนั้นไม่ถือเป็น ผลประโยชน์แห่งชาติ) และตราบเท่าที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงป็นรัฐบาล ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์จะเรียกร้องประชาชนให้ ความร่วมมือกับรัฐบาลในอันที่จะช่วยกันรักษา ผลประโยชน์แห่งชาติที่มีความหมายควบคู่กันไปกับ ผลประโยชน์ทางการเมืองจากการดำรงตำแหน่งรัฐบาล ของพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้น ความหมายของ ชาติ ตามที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการช่วยพรรคประชาธิปัตย์ปกปักรักษาเสมอมา ได้แก่ ชาติ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจควบคุมการบริหารผลประโยชน์ของประเทศ

เมื่อไรก็ตามที่พรรคการเมืองอื่นเป็นรัฐบาลโดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (เช่น ช่วงเวลาที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๙ และช่วงเวลาที่พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาลในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๑) ภาวะความเป็น ชาติเดียวกันของคนไทย หรือสำนึกความเป็น ชาติ ไทยร่วมกัน (ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพยายามเรียกร้องจากคนไทยในเวลานี้) กลับไม่มีความหมายสลักสำคัญอะไรสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙

***************************************

คมช. เป็นคำย่อจาก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งคือคณะรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่เรียกตนเองในช่วงแรกว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) แล้วต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คมช. ดังกล่าว