ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
15 พฤศจิกายน 2552
องค์กรนักศึกษาทั่วประเทศ นำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย องค์กรสหภาพแรงงาน องค์กรภาคประชาชน นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งคัดค้านการจัดชุมนุมของพันธมิตรฯในวันนี้ โดยชี้ว่าเป็นการชุมนุมของกลุ่มคลั่งชาติ ใช้สถาบันชาติและกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง และสร้างความแตกแยกกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเรียกร้องให้ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รวมถึงการสร้างการเมือง-สังคม-เศรษฐกิจที่เป็นธรรม สนับสนุนรัฐสวัสดิการ
จดหมายเปิดผนึกถึงสังคมไทย
กรณีการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยและทางออก
สืบเนื่องมาจาก ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย ระหว่างฝ่ายนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายนิยมอำมาตยาธิปไตย ที่นับว่ายาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคสมัยปัจจุบัน และมันมีแนวโน้มหมิ่นเหม่ที่จะนำสู่ความรุนแรงในสังคมไทยได้
และการประกาศจัดชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภายหลังจากแกนนำได้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ขึ้นมา ในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน นี้ โดยกล่าวอ้างว่าเพื่อปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้น
เรามีความคิดเห็นด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ และมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้จะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ควรอ้าง ความรักชาติเพียงฝ่ายเดียวและกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามไม่รักชาติ ขายชาติ ทรยศต่อชาติ และไม่รักสถาบัน เสมือนทำตัวผูกขาดรักชาติเพียงฝ่ายตนฝ่ายเดียว ตลอดทั้งในสังคมประชาธิปไตยควรเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ในสังคม และไม่ควรสร้างความเกลียดชังให้กับผู้คนโดยกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีปั้นข่าวแต่งเติม จนทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือคิดต่างเป็นดั่งศัตรู ไม่เป็นเพื่อนร่วมชาติ เหมือนเช่น เหตุการณ์ก่อนและหลัง 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้เกิดการเข่นฆ่าสังหารผู้นำชาวนา กรรมกรและนิสิตนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย ตลอดทั้งเกิดโศกนาฎกรรมทางการเมืองโดยการล้อมปราบนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงในใจกลางเมืองหลวงประเทศไทย
2. การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการสร้างกระแสปลุกระดมบิดเบือนเพื่อให้เกิดความคลั่งชาติในหมู่ประชาชน ให้เกลียดเพื่อนร่วมภูมิภาคบ้านใกล้เรือนเคียง กรณีประเทศกัมพูชา ในยุคที่ประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้ากันแล้ว เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตน
3. เราขอเรียกร้องให้องค์กรประชาชน องค์การสิทธิมนุษยชน องค์กรสื่อมวลชน ไม่ควรสนับสนุนการชุมนุมที่จะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ แต่กลับเป็นการเคลื่อนไหวลักษณะถอยหลังเข้าคลอง และอาจเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารได้เหมือนเช่น 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา
4.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงนั้น นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ควรยุบสภาคืออำนาจให้ประชาชน และเราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา เพื่อยกระดับการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องยืนยันหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรว่าเป็นหัวใจของประชาธิปไตย เพราะแม้ระบบการเลือกตั้งอาจไม่เท่ากับประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่ก็มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและมีวาระการเลือกตั้งที่แน่นอนต่อผู้ปกครองผู้บริหารประเทศ
5 ในช่วงสถานการณ์การเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น พรรคการเมืองต่างๆ ควรชูธงว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 หรือไม่ ? ว่าจะแก้ไม่แก้ไขอย่างไร ? เพื่อเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยพิจารณาเลือก และประชาชนกลุ่ม สาขาอาชีพต่างๆ ก็ควรจัดตั้งตนเอง มีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆเพื่อให้ประชาธิปไตยพัฒนาก้าวหน้าขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีหลักการเพื่อลดทอนอำนาจนอกระบบเพิ่มอำนาจประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ และให้ประชาชนต้องยอมรับผลการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อยอมรับกติกาประชาธิปไตยในสังคมไทย
6 เราขอเรียกร้องให้ผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทั้งหลาย นอกจากต้องให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยทางการเมือง แล้ว ควรต้องให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางสังคม จึงต้องมีนโยบายที่สำคัญ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การมีรัฐสวัสดิการโดยมาตราการภาษีที่ก้าวหน้า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น การเคารพวัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ที่หลากหลาย การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรประชาชนระดับล่าง เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มคนจนเมือง กลุ่มเกษตกรรายย่อย กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มสิทธิเกย์ กลุ่มสื่อทางเลือก ฯลฯ
ด้วยความเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตย
องค์กรและบุคคลที่ลงนามในแถลงการณ์
อนุธีร์ เดชเทวพร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
พงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา สถาบันเพื่อการพัฒนาเยาวชนประชาธิปไตย
ฉัตรสุดา หาญบาง กรรมการบริหาร สนนท.( มรฏ.สวนดุสิต)
อัมรีย์ เด กรรมการบริหาร สนนท. (ม.กรุงเทพธนบุรี)
รอมซี ดอฆอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
อาเต๊ฟ โซะโก ประธานเครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชน รามคำแหง
วิศรุต บุญยา เลขาธิการเครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชน รามคำแหง
ยุทธนา ดาศรี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)
ศุภกร บุญขาว รองเลขาธิการ สนนอ. (ฝ่ายนักศึกษา) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ยุทธนา ลุนสำโรง รองเลขาธิการ สนนอ. (ฝ่ายประชาชน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
จักราวุธ ปินะเก กรรมการบริหาร สนนอ. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภานุวัฒน์ แง่พรม กรรมการบริหาร สนนอ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ลลิตา มานะสาร ชมรมกลุ่มเพื่อนวันสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
มนัส ทองชื่น ชมรมวรรณกรรมเยาวชน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภาคม
กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม อีสาน(กสส.)
ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตยท้องถิ่น ภาคเหนือตอนล่าง
แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.)
สถาบันกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการปกครองตนเอง
ชมรมศิลปินเพื่อความยุติธรรม
กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
กลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย
บุญผิน สุนทราลักษ์ สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก
พรมมา ภูมิพันธ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.)
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.)
สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์
สหภาพแรงงานสหกิจวิศาล
สมศักดิ์ ภักดิเดช กรรมการชมรมนักข่าวเพื่อเสรีภาพไทย
วัฒนะ วรรณ องค์กรเลี้ยวซ้าย
วันชาติ กุหลาบสี เจ้าของร้านอาหาร ต้นโอชา
สงครามชีวิต พันธุกรรม ผู้จัดการร้าน สาขา ตั้งฮั่วเส็ง กลุ่มบริษัท SSCAMERA
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
อาณัติ สุทธิเสมอ
ประสาท ศรีเกิด
พิชิต พิทักษ์
ณิชาดา จินดาวิชัย
พิษณุ ไชยมงคล
วิโรจน์ ดุลยโสภณ
เจษฎา โชติกิจภิวาทย์
วัฒนา สุขวัจน์ คอลัมนิสต์ นสพ.Voice of Taksin
สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์ นักศึกษาปริญญาโท เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย