พปช. เดินหน้าดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน หรือร่าง รธน.40 ก. เข้าถกร่วมกับร่างของ ส.ส. เพื่อหาข้อยุติส่งร่างใดเข้าสู่สภาภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่พันธมิตรฯ ไม่หยุด ก่อหวอดที่สงขลา 2 จุด ด้าน “อ.คณิน” ออกพ็อกเก็ตบุ๊กหนา กว่า 70 หน้า ชำแหละละเอียดยิบ เหตุผลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำหรับสถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หยุดชะงักไปชั่วขณะ เพื่อรอให้มีการแต่งตั้งประธานสภาฯ คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ หลัง นายชัย ชิดชอบ ได้ผ่านมติของสภาผู้แทนฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น การเคลื่อนไหวต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เริ่มเดินหน้าในทันที โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้า พรรคพลังประชาชนจะมีการนำร่างทั้งของ ส.ส. และของภาคประชาชน เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาความเหมาะสม เสนอร่างใดเข้าสู่สภา
โดย นายจุตพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สัดส่วน พรรคพลังประชาชน (พปช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้รอเพียงการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ เพื่อหนุนกระบวนการในการแกไขรัฐธรรมนูญต่อไปเท่านั้น ซึ่งต้องถือว่า
การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีกระบวนการเริ่มต้นมาจากภาคประชาชน คือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ที่นำรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง 150,000 ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามา เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งถือเป็นจำนวนถึงสามเท่าของจำนวนรายชื่อที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550 คือ 50,000 รายชื่อ ซึ่งคงต้องรอผลการตรวจสอบรายชื่อว่ามีตัวตนอยู่จริงและมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ต่อไป
ส่วนกระบวนการของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จะดำเนินการในรัฐสภาโดยการเสนอร่างขอแก้ไขที่เป็นของ ส.ส.โดยใช้สิทธิ 1 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมดในสภา ซึ่งขณะนี้ มี ส.ส จากพรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกตั้งบางส่วน ลงชื่อครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ แล้วคือ 96 คน
ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชนผู้นี้ เปิดเผยด้วยว่า ภายในสัปดาห์หน้า พรรคพลังประชาชนจะมีการนำร่างของ ส.ส. ที่คงหมวด 1 หมวด 2 ไว้ นอกนั้นนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใส่ทั้งหมด และร่างของภาคประชาชนคือ พ.ร.บ.40 ก. มาประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่าจะใช้วิธีการในรูปแบบใดต่อไปด้วย
“ตอนนี้ถือว่า กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เพราะกำลังจะมีประธานรัฐสภา ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถดำเนินการอย่างไรได้ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประธานวุฒิสภามีความแห็นที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เรื่องดังกล่าวต้องขยายระยะเวลาออกไป และคิดว่าจะได้ข้อสรุปทันการปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนี้อย่างแน่นอน” นายจตุพร กล่าว
นอกจากนี้นายจตุพร ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ทุกฝ่ายที่ติดตามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับความคิดเห็นที่ขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในสังคม และไม่ต้องห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะได้มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลจะให้สภาเป็นคนดูแลและดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่รัฐบาลจะเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าต่อไป
นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน กล่าวยอมรับเช่นเดียวกันว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อจากนี้ คือ หลังจากที่ได้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภาแล้ว พรรคพลังประชชนจะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.40 ก. ของภาคประชาชนมาพิจารณา เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
ขณะในวันเดียวกันนี้ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้จัดเวทีขึ้น 2 จุด คือ ในช่วงเช้า ที่ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดสัมมนาเรื่อง “เรื่องฝ่าวิกฤติรัฐธรรมนูญ” โดยมีชื่อของ มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน เข้าร่วมจัดอยู่ด้วย ส่วนจุดที่ 2 เริ่มในนช่วงเย็น ที่ ลานรถไฟหาดใหญ่ จัดเวทีเสวนาเรื่อง “รีบแก้รัฐธรรมนูญ...เพื่อใคร? “ มี นายพิภพ ธงไชย ศ.ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ นักวิชาการอิสระ และ นายอุทิศ ชูช่วย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 เป็นตัวชูโรง
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต สสร.ปี 40 ได้ออกหนังสือขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นหนึ่งเล่มความหนากว่า 70 หน้า ในชื่อเรื่องว่า “รัฐธรรมนูญ 2550 ทำไมต้องแก้” โดยเนื้อหาทั้งหมดเปิดเผยให้เห็นถึงรายละเอียดเหตุผลจำเป็นที่ประชาชนคนไทยต้องออกมาช่วยกันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างหมดเปลือก ซึ่งได้แบ่งหัวข้อต่างๆ ไว้ถึง 21 หัวข้อ
เริ่มต้นร่ายเรียงตั้งแต่น้ำหนักของรัฐธรรมนูญฉบับบนี้ ที่หนักถึง 5 กิโลกรัม ตามด้วยองค์กรเทวดาเต็มไปหมด ราชการนำการเมือง คณะรัฐมนตรีถูกมัดตราสัง สภาลูกผสม คณะบุคคลเพียง 7 คน เลือก ส.ว.ได้ 74 คน แปลกแต่จริง : ส.ว.สรรหาปลดนายกฯ ก็ได้ “สิ่งแปลกปลอม”เยอะไปหมด สวมหมวกสองใบในเวลาเดียวกัน รัฐบาลไร้เสถียรภาพ เลือกตั้งกันทีก็ย้ายพรรคกันที พรรคการเมืองอ่อนแอ “องค์กรอิสระ” หรือ “รัฐอิสระ” กันแน่? กระบวนการยุติธรรมน่าเป็นห่วง ระบบศาล กับ “อำนาจที่สี่” บทเฉพาพกาลที่ “ไม่เฉพาะกาล” กล่องดวงใจของใครบ้างเอ่ย? ยุคทองของผู้พิพากษาและอัยการ? นิรโทษกรรมล่วงหน้า? คนเดียวสวมหมวก 5 ใบ และบทสรุปรัฐธรรมนูญ 2550 : ทำไมต้องแก้
ทั้งนี้ ในบทสรุปดังกล่าวท้ายเล่ม นายคณิน ระบุว่า มาถึงเวลานี้ คงไม่ต้องถามแล้วว่า ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคำตอบมีอยู่แล้ว คือ ต้องแก้ และต้องแก้ทั้งฉบับ ไม่ใช่แก้เฉพาะบางมาตรา ด้วยเหตุผลถึง 15 ข้อ คือ
1.รัฐธรรมนูญ 2550 คือรากฐานที่ต่อยอดมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ของ คมช. รวมทั้งประกาศต่างๆ ของ คปค. ที่มีนักกฎหมายมือ “เซียน” เป็นผู้ร่างให้ ซึ่งปราศจากความชอบธรรม และร่างขึ้นภายใต้อารมณ์เกลียดชัง ซึ่งหากขืนดันทุรังบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ จะสร้างความเสียหายถึงขั้น มิคสัญญี ให้แก่ประเทศชาติ ประชาชนและประชาธิปไตย
2.โครงสร้าง องค์ประกอบ และกระบวนการทางการเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เห็นชัดว่าเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลและการเมืองอย่างเลือดเย็น และเมื่อเสถียรภาพดังกล่าวระส่ำระสาย หลีกไม่พ้นที่ชาติบ้านเมืองจะต้องเสียหายล่มจมไปด้วย
3.รัฐธรรมนูญ 2550 เปรียบเสมือนสมรภูมิรบทางการเมือง ที่แบ่งแยกคนไทยออกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย ที่ต้องทำลายล้างกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มคนคีย์แมนเพียงไม่กี่คน
4.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกแบบและวางแผนไว้เพื่อให้กลุ่มคณะบุคคลที่ร่วมกันก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีทั้งพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชนและกลุ่มแนวร่วม ได้เข้ามสู่อำนาจครอบครองประเทศโดยใช้กลไกที่ออกแบบไว้ จึงกลายเป็นระเบิดเวลาที่ต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
5.เงื่อนไขต่างๆ ทำให้ภาวะผู้นำ ศักดิ์ศรี และความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำประเทศ ตกต่ำ และกลายเป็นเบี้ยล่างของผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำ ผู้พิพากษา และตุลาการ
6.รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญทางเดียว สอดประสานกับยุติธรรมทางเดียว ที่ให้คณะรัฐประหารรวมทั้งพวกพ้องเป็นโจทก์ และพยานโจทก์ และให้ฝ่ายตุลาการมาพิจารณาพิพากษาตามแนวทางที่กำหนดไว้
7. เป็นรัฐธรรมนูญที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่มากมาย
8.บทบัญญัติหลายมาตรา คือ กับระเบิด ที่รัฐบาลจะไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชนได้ ซึ่งที่สำคัญๆ มีถึง 12 มาตรา
9.องค์ประกอบ ที่มา อำนาจ หน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ถือเป็นสิ่งแปลกปลอม ที่ลักลั่น ไร้ความชอบธรรม
10.กระบวนการตุลาการภิวัตน์ ที่เป็นเสมือนตัวแทนของระบอบอำมาตยาธิปไตย ถูกจัดวางให้นำหน้า ซึ่งจะไม่เกิดผลดีต่องเสถียรภาพทางการเมือง
11. ต่อเนื่องไปถึงทำให้ สถาบันตุลาการ กลายเป็นอำนาจที่หนึ่ง ฝ่ายบริหารเป็นอำนาจที่สอง และฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอำนาจที่สาม ที่เป็นการขยายอาณาเขตอำนาจของศาลออกมานอกสถาบันตุลาการ
12.รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ประดิษฐกรรมอำพราง” ในกระบวนการทางรัฐสภามากมายหลายอย่าง ซึ่งผิดเพี้ยนไปหมด อาทิ ให้ศาลและองค์กรอิสระสามารถเสนอกฎหมายได้เอง โดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ฯลฯ
13.ยกระดับองค์กรอิสระ เช่น กกต. ป.ป.ช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้กลายเป็นรัฐอิสระ 14.แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐบัญญัติไว้อย่างกว้างขวาง ละเอียดยิบ เสมือนจับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปมัดตราสังจนทำอะไรไม่ได้ และ 15.มาตราที่ควรแก้ไขอันดับแรกคือ บทเฉพาะกาล