* สรุปคดี23พ.ค.-จ่อเรียก ‘จารุวรรณ’สอบ กรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงความไม่ชอบมาพากลใน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จากการที่ บริษัท ออดิต แอนด์ แมเนจเม้นท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ผูกขาดการจับอบรมให้กับบุคลากรของ สตง. มูลค่านับสิบล้านบาท และบริษัทดังกล่าวยังเช่าอาคารพาณิชย์ ของ นายทรงเกียรติ เมณฑกา สามี คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่า สตง. ที่ส่อเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน โดยก่อนหน้านี้จากการสอบสวนพยานทั้งพยานเอกสาร และพยานบุคคลหลายปากของดีเอสไอ ยังพบประเด็นพิรุธและน่าสงสัยหลายประการนั้น
“ดีเอสไอ” โวย สตง. ใช้วิชามาร ส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่เข้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ สวนหมัดคดีสอบ “จารุวรรณ” ฮั้วจัดจ้าง บ.ออดิตฯ และผลประโยชน์ทับซ้อนเช่าตึกผัวทำสำนักงาน
แฉมีพิรุธ กระทรวงยุติธรรม มีเป็นสิบกรมแต่ไม่ตรวจสอบ ระบุสู้กันตามเนื้อผ้าดีกว่าออกมาข่มขู่กัน มั่นใจ 23 พ.ค.นี้ บรรจุเป็นคดีพิเศษได้แน่ พร้อมเดินหน้าเรียก “หญิงเป็ด” สอบสวนทันที
ล่าสุดในวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่า สตง. ได้ออกมาแสดงความไม่มั่นใจว่า ดีเอสไอจะมีอำนาจในการสอบสวนเรื่องดังกล่าวหรือไม่
กรณีดังกล่าว นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ยืนยันว่าดีเอสไอมีอำนาจสอบเต็มที่ ตามที่มีผู้ร้องเรียนมา แล้วจึงนำมาพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการดีเอสไออีกครั้งว่าจะสามารถบรรจุเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ และการสืบหาพยานหลักฐานที่ผ่านมาและการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนและตามกรอบอำนาจของดีเอสไอทุกอย่าง
ส่วนความคืบหน้าของคดีนั้นขณะนี้มีทั้งพยานเอกสาร และพยานบุคคลมากพอ จนมั่นใจว่าจะสามารถบรรจุเป็นคดีพิเศษได้ ซึ่งคณะกรรมการจะมีการประชุมชี้ขาดเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ และหากมติของคณะกรรมการเป็นไปตามที่คาด ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนเรียกตัวคุณหญิงจารุวรรณ มาสอบสวนทันที
“ผมมั่นใจว่าหลักฐานที่มีอยู่ จะสามารถนำเรื่องนี้ขึ้นเป็นคดีพิเศษได้อย่างแน่นอน และหลังจากมีการผลสรุปออกมาแล้ว เราก็จะดำเนินการต่อไปโดยเร็ว”
ขณะเดียวกัน นายธาริต เปิดเผยด้วยว่า ในระหว่างการสอบสวนเรื่องดังกล่าว กลับปรากฏว่าทาง สตง. ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ เข้ามาตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณของดีเอสไอ ซึ่งดูแล้วเหมือนเป็นการพยายามสวนหมัด ทั้งๆ ที่กรมต่าง ๆ ในกระทรวงยุติธรรมมีเป็นสิบ ก็ไม่เห็นจะไปตรวจสอบ แต่กลับเน้นที่จะมากสอบดีเอสไอเป็นพิเศษ ตรงนี้มองดูเหมือนเป็นการตอบโต้หรือขู่กันมากกว่า
“ที่จริงแล้วน่าจะแสดงความชัดเจนในเนื้อหาที่มีการสอบสวนมากกว่า ไม่น่าจะนำเรื่องแบบนี้มาต่อรองหรือมาตอบโต้กัน ต้องถามว่าทำอย่างนี้มันถูกต้องแล้วหรือ” นายธาริต กล่าว