“สมัคร” เป็นประธานประชุม กขช.-คชก. ร่วมหารือการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยตรง และวิธีการส่งออกข้าวด้วยระบบพิเศษ ด้าน ธ.ก.ส. เผยที่ประชุมอนุมัติให้เป็นแหล่งเงินทุนรับซื้อข้าวจากชาวนา เบื้องต้นใช้เงินหมื่นล้านบาท พร้อมให้เงินสนับสนุนเสริมสภาพคล่องโรงสี
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) โดยมี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณารายละเอียดการหารือการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร และวิธีขั้นตอนการรับซื้อ
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้รับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ 19,000-20,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 14,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว 9,000 บาทต่อตัน โดยมีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15
ทั้งนี้ การรับซื้อดังกล่าวจะแตกต่างจากการรับจำนำข้าว เพราะเป็นการรับซื้อที่เกษตรกรไม่สามารถไถ่ถอนได้ โดยกรณีดังกล่าว นายมิ่งขวัญยืนยันว่า การรับซื้อข้าวเปลือกนี้จะนำมาสีและส่งออกต่างประเทศ แต่ไม่ได้เป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ โดยจะมีระบบพิเศษ
ด้าน นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว หรือ กนข. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของรัฐบาล เข้าซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา พร้อมทั้งสนับสนุนเงินเสริมสภาพคล่องให้แก่โรงสี และเครือข่ายต่างๆ เพื่อเป็นการพยุงราคาข้าว
ทั้งนี้ ยังไม่ได้กำหนดวงเงินงบประมาณในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดขั้นตอนและแนวทาง โดยเบื้องต้นจะเป็นการรับซื้อข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้าวหอมมะลิ ทั้งนี้เห็นว่าแนวทางการซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงจะได้เงินหมุนเวียนกลับสู่เข้าธนาคารเร็วกว่าการรับจำนำข้าว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นตัวแทนรัฐบาลในการจัดซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา โดยใช้เงินของ ธ.ก.ส.
“วันนี้คุยกันสั้นๆ เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เป็นแหล่งเงินทุนของรัฐบาลในการเข้าซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ซึ่งยังไม่ได้ตัวเงินที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นประมาณว่า 1 ล้านตัน เท่ากับหมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยตันละ 10,000 บาท และที่เลือกใช้วิธีนี้เนื่องจากว่าน่าจะหมุนเงินได้เร็วกว่าการรับจำนำข้าวเปลือก”