WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, May 16, 2008

มองชายแดนใต้ผ่านเลนส์ช่างภาพมือรางวัล...จรูญ ทองนวล

ชายคนนี้ “จรูญ ทองนวล” เข้ามาสัมผัสพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างจริงจังด้วยอาชีพ “ช่างภาพ” ตั้งแต่เริ่มเรื่องราวเหตุการณ์ความไม่สงบต้นปี 2547 นานมาจนถึงทุกวันนี้ และคาดว่ายังคงทำหน้าที่ของเขาไปตราบจนกว่าจะสิ้นแรง

ด้วยใจรักและมุ่งมั่นในการงานที่ตัวเองรักทำให้เขาได้รับโอกาสและรางวัลต่างๆ ด้านการถ่ายภาพในมุมมองที่โดดเด่นมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นเป็นการถ่ายภาพที่เขาภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสในการแสดงฝีมือด้านการถ่ายภาพพร้อมช่างภาพชั้นแนวหน้าของโลกอีกหลายสิบคน ในโครงการ Thailand 9 days in the Kingdom

จรูญในวันนี้กับหน้าที่การงานคือ ช่างภาพอาวุโส เครือเนชั่น เล่าเรื่องราวที่ภูมิใจเมื่อต้นปีที่แล้วว่า “โครงการ Thailand 9 days in the Kingdom เป็นการรวมพลสุดยอดช่างภาพมือหนึ่งของโลกจำนวน 55 คนมารวมตัวกัน ลั่นชัตเตอร์บันทึกภาพทั่วเมืองไทยเพื่อถ่ายภาพเฉลิมพระเกียรติที่จัดทำขึ้นในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14-22 มกราคม 2550 จัดพิมพ์เป็นหนังสือ Thailand 9 days in the Kingdom จำนวน 304 หน้า เพื่อให้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อและสื่อข้อความไปยังผู้คนทั่วโลก เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ช่างภาพที่มีเอกลักษณ์และเทคนิค ในการถ่ายภาพพิเศษทั้งมุมมองและการนำเสนอผ่านภาพถ่ายได้แสดงฝีมือไว้ในหนังสือเล่มนี้”

ช่างภาพ 55 คน 18 ชาติ เป็นช่างภาพชาวไทย 11 คน คือ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ มานิต ศรีวานิชภูมิ นัท สุมนเตมีย์ ไกรวิทย์ พันธุ์วุฒิ วรนันท์ ชัชวาลทิพากร ณัฐ ประกอบสันติสุข ดาว วาสิกศิริ อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง ดวงดาว สุวรรณรังสี สุเทพ กฤษณาวาริน และ จรูญ ทองนวล

“เมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมามีการนำเสนอ Thailand 7 days in the Kingdom ไปครั้งหนึ่ง ส่วนครั้งนี้ผมได้รับการติดต่อจากประธานสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์คือคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เขาต้องการหาช่างภาพให้หลากหลาย ช่วงนั้นเหตุการณ์ทางนี้ยังแรงอยู่หัวหน้าคือคุณทวีชัย เจาวัฒนา บรรณาธิการศูนย์ภาพเครือเนชั่น ก็เสนอชื่อผมไปว่าสามารถลงพื้นที่ถ่ายได้สะดวก เขานัดพูดคุยและเอาภาพตัวอย่างไปให้ดู เขาก็ตกลง

“ ผมถ่ายวิถีชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอยากเสนอมุมมองอารมณ์ วิถีชีวิตของวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นที่น่าสนใจ เป็นเอกลักษณ์ในแง่มุมที่ไม่มีใครเคยเห็นและสัมผัสว่าไม่ได้มีแต่ความรุนแรงอย่างเดียว แต่มีเวลาถ่ายน้อยมาก มีช่างภาพต่างประเทศที่เขามีชื่อเสียงมาถ่ายกับผมด้วย ตอนถ่ายเครียดหลายเรื่องทั้งต้องติดต่อแหล่งที่จะไปถ่าย ไม่ใช่ว่าขับรถไปแล้วถ่ายได้เลย อย่างถ่ายภาพหมอตำแยทำคลอดนัดว่าจะเข้าไปถ่ายตอนคลอด พอจะเข้าไปเขาคลอดแล้วตอนกลางคืน ภาพนั้นที่ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา ได้ไปเห็นและถ่ายตอนเขานอนอยู่ไฟ ตอนแรกผมส่งไป 250 รูป เขาคัดไป 50 รูปแล้วได้พิมพ์ประมาณ 11-12 รูป ผมภูมิใจว่าผมแค่ช่างภาพระดับภูธรแต่เขาเป็นช่างภาพระดับโลกกันทั้งนั้น”

จรูญถือได้ว่าเป็นช่างภาพมือทองกับรางวัลภาพถ่ายจากมุมมองที่ไม่มีใครเหมือนของเขา รางวัลที่เขาได้รับอาทิ ปี 2545 รางวัลชมเชยภาพข่าว ภาพการจับแกนนำม็อบท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย จ.สงขลาจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / ปี 2546 รางวัลชนะเลิศ ภาพข่าวการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมยึดที่สวนปาล์ม จ.กระบี่จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / ปี 2547 รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ภาพข่าวการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมยึดที่สวนปาล์ม จ.กระบี่จากสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน / ปี 2549 รางวัลชนะเลิศภาพข่าวยอดเยี่ยม ภาพข่าวตำรวจ ทหารเข้าควบคุมตัวกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ จ.ยะลา จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / ปี 2550 รางวัลชมเชยอันดับ 2 ภาพข่าวนำเด็กทารกมาชุมนุมกดดันเจ้าหน้าที่รัฐ จ.ยะลาจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / ปี 2550 รางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต สาขาภาพข่าวหนังสือพิมพ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งนิทรรศการภาพถ่าย Life Like Light เป็นนิทรรศการของช่างภาพ 15 คน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ซึ่งเป็นการเปิดตัวมูลนิธิภาพถ่ายแห่งประเทศไทย

จรูญเริ่มต้นเดินทางสายอาชีพนี้มาตั้งแต่เรียนจบสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒภาคใต้ (ม.ทักษิณ ในปัจจุบัน) ปลายปี 2532 เริ่มเป็นช่างภาพสายการเมืองที่ นสพ.มติชน จนถึงปี 2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขาได้มีส่วนร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ในฐานะการเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์อย่างเต็มตัว จนปี 2536 ไปเป็นช่างภาพ เครือเนชั่น ที่สามารถถ่ายภาพ เขียนข่าวในมุมมองที่ตนเองสนใจ เป็นแหล่งบ่มเพาะการเป็น “ช่างภาพมืออาชีพ” อย่างแท้จริง จากนั้นเขาเริ่มเดินทางบันทึกเหตุการณ์ข่าว สกู๊ป สารคดีทั่วเมืองไทยเป็นเวลาสิบกว่าปี จนถึงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ของเขาจึงเริ่มต้นขึ้นอีก

ตั้งแต่ต้นปี 2547 ถึงปัจจุบัน เขาได้ลงมาประจำการในพื้นที่เพื่อบันทึกภาพข่าว วิถีชีวิต วัฒนธรรมของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ ด้วยเหตุผลที่ชอบการถ่ายภาพของเขาคือ “ภาพข่าวมันจบในตัว ไม่ต้องอธิบายมาก เราต้องหาคอนเซ็ปต์ของงานว่าต้องการนำเสนอในรูปแบบไหน เป็นการเอาข่าวมาเป็นความคิดรอบยอดในภาพภาพเดียว เป็นการทำข่าวด้วยภาพ ซึ่งต่างจากการถ่ายภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์”

เมื่อก้าวออกจากมหาวิทยาลัยแล้วมาทำงานหนังสือพิมพ์ ต้องเริ่มต้นใหม่หมด ซึ่งที่เรียนมาส่วนใหญ่จะเป็นการทำข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์มากกว่า ในตอนนั้นยังไม่มีกล้องดิจิตัล การใช้กล้องฟิล์มทำให้กว่าที่จะกดชัตเตอร์ในแต่ละรูปต้องมีการวางแผน เหมือนพูดเล่าเรื่องความหลัง แต่สมัยนี้นักศึกษาด้านนี้ไม่รู้เรื่องการอัดภาพในห้องแล็บแล้ว เขาข้ามขั้นตอนไปเยอะ พอเป็นกล้องดิจิตัลเป็นการก้าวกระโดดไปเป็นว่าใครๆ ก็ถ่ายภาพได้กดชัตเตอร์ก็ติด แต่ถ่ายได้กับถ่ายเป็นไม่เหมือนกัน”

ประสบการณ์ในการถ่ายภาพในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตเช่นในทุกวันนี้ เขาบอกว่า สมาธิและมุมมองเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดปลอดภัย และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ที่เป็นอยู่

“การถ่ายภาพข่าวมีตัวแปรเยอะ การเดินทางต้องมีการวางแผน ต้องประเมินหลายด้าน ไม่ใช่พอเกิดเหตุแล้ววิ่งเข้าไปหาข่าว ก็จะเป็นเหมือนอย่างที่โดนกันมา ต้องเซฟตัวเองด้วย เมื่อทราบเหตุต้องประเมินว่าน่าจะมีความรุนแรงขนาดไหน จะไปยังไง เส้นทางไหน มีกำลังจนท.เข้าไปในพื้นที่หรือยัง สำคัญคือต้องมีสมาธิที่จะเข้าไปบันทึกภาพ

เมื่อเห็นศพหรือซากรถเกลื่อนถนนจะเข้าไปจ้องแต่จะถ่ายเอามันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องถามตัวเองว่าถ่ายมุมนี้มากี่ครั้ง ผมเลิกถ่ายมุมที่ต้องเห็นปืนหรือสภาพอุจาดตาหรือศพนอนมีทหารถือปืนจังก้าไปนานเป็นปี เป็นมุมที่น่าเบื่อ คนดูก็เบื่อแต่นักข่าวในพื้นที่เขายังถ่ายเป็นสูตรตายตัวว่าเมื่อส่งภาพเช่นนั้นไปต้นสังกัดต้องเอาลงแน่ก่อนหน้านี้ ต้องหามุมใหม่มาเล่น เอาตัวเราตัดสิน อย่าไปบิดเบือนความจริงของเหตุการณ์ ไม่เคลื่อนย้ายสิ่งใดๆ เพื่อจะถ่ายภาพ ต้องเคารพหน้าที่ของตัวเองและผู้อื่นซึ่งมุมกล้องเป็นเรื่องที่ช่วยได้ เมื่อเข้าไปแล้วต้องตัดสินใจเร็ว อย่าอยู่นาน หาคำตอบให้เร็วที่สุด”

ก่อนหน้านี้การถ่ายภาพไม่มีปัญหาเช่นทุกวันนี้ที่ต้องตามให้ทันยุทธวิธีของฝ่ายที่สร้างเหตุการณ์ “เมื่อก่อนข่าวไม่มีตัวแปรมากเหมือนปัจจุบันที่มีตะปูเรือใบ ระเบิดลูกสอง ซุ่มยิงหรืออีกหลายเรื่องที่เขามีการพัฒนา เราต้องตามให้ทันยุทธวิธี อาจมีคนโดนก่อนเป็นบทเรียน ผมแค่โดนระเบิดพอหูอื้อมาบ้าง ส่วนทางการมีการพัฒนาอย่างเดียวคือการส่งกำลังลงมาเพิ่ม”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเขามองว่าทางรัฐไม่ควรปฏิเสธหรือปกปิดความจริง ต้องหาแนวทางที่จะให้ประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับทางรัฐในทุกด้านอย่างเร็วที่สุด

“ผมกลัวอย่างเดียวว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ไปนานๆ แล้วชาวบ้านมองเป็นเรื่องธรรมดาที่มีทุกวัน เมื่อก่อนมีคนตายคนเดียวเป็นเรื่องใหญ่โต แต่เดี๋ยวนี้ถูกฆ่าตายหลายศพเป็นข่าวแค่ 2 วันก็เงียบแล้ว กลายเป็นเรื่องชินชาไปสำหรับคนในพื้นที่ สื่อเองก็ลดความสำคัญและลดพื้นที่ในการเสนอข่าวทั้งที่ความสูญเสียไม่ได้ลดลงเลย คนตายคนเดียวแต่ครอบครัวญาติพี่น้องเขาต้องสูญเสียไปเท่าไร ผลกระทบมันส่งไปหมดเท่ากับมีคนตายสิบคน

ทางการจะคอยให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่แล้วจึงจะมีมาตรการป้องกันหรือ ถึงไม่มีเหตุการณ์แต่มาตรการหรือการเยียวยาก็ต้องมีและทำความเข้าใจกับประชาชน ทางการบอกว่าเหตุลดลงทุกวันแล้วชาวบ้านคิดอย่างไร หันมาให้ความร่วมมือมากกว่าปีก่อนนี้แค่ไหน ผมว่ายังหนักกว่าเดิม เขาปฏิเสธความจริง อ้างแค่ตัวเลขหรือความถี่น้อยลง ความสูญเสียลดลงแต่สภาพจิตใจของประชาชนเขาไม่เคยประเมินได้ ในความรู้สึกส่วนลึกความหวาดระแวงที่มีต่อกันยังไม่จางลง ยากที่จะปรับเข้าหากันได้ หากต่างฝ่ายต่างไม่สามารถสื่อ “ความเข้าใจถึงกันและกันได้”

กองกำลังที่ส่งเข้ามาเพิ่มหรือสับเปลี่ยนกันทำให้บางครั้งเกิดปัญหาในการทำงานที่ไม่ต่อเนื่องกันของแต่ละหน่วยงานหรือบุคลากร จรูญมองว่าสิ่งที่เป็นอยู่เป็นแค่การแก้ปัญหารายวันของทางรัฐบาล

“ผมมองว่าที่เหตุลดลงเพราะมีกองกำลังทหารลงมาเยอะแค่นั้นเอง และมีคนถูกจับไปเยอะเป็นการแก้ปัญหารายวัน ลองคิดดูว่ามีกำลังทหารลงมาในพื้นที่นี้เท่าไร ขนาดบ้านผมอยู่ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ไม่เคยมีทหารมาตั้งด่านแต่วันนี้มี ในสายตาผม อย่างถนนสาย 410 สายยะลา-ปัตตานี มีด่านตรวจเป็นสิบด่านแต่เหตุร้ายยังไม่ลด นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญกว่าคือมีการรุกเข้าไปหรือยัง รุกเข้าไปในใจผู้คนในพื้นที่ได้หรือยัง”

เขาในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่งซึ่งเข้าใจและคลุกวงในอยู่กับพื้นที่ มองเห็นความเป็นไปของการนำเสนอข่าวสารของเพื่อนพ้องสื่อมวลชนด้วยกัน เขามีความคิดเห็นในเรื่องการนำเสนอข่าวสารของพื้นที่แห่งนี้ว่า

“สื่อควรนำเสนอเรื่องราวมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่แค่คนตายแล้วจบไป เมื่อพื้นที่ในสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง ต่อไปข่าวของพื้นที่นี้ก็จะกลายเป็นข่าวซุก ข่าวย่อยอยู่หน้าใน กลัวว่าสื่อส่วนกลางจะมองพื้นที่นี้เป็นเรื่องปกติ และผมไม่อยากให้องค์กรเอกชนเข้ามาชี้นำมาก หรือนักข่าวอยู่ในคราบของเอ็นจีโอ เอ็นจีโออยู่ในคราบนักข่าว เพราะเนื้อหาการนำเสนอจะเอียงและสร้างความสับสนให้สังคม”

เขามองว่าในขณะที่หน่วยงานรัฐระดมทั้งกำลัง เงิน บุคลากรลงมา หรือทางศอ.บต.ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ในพื้นที่ใช้งบประมาณไปมากมายแต่ทั้งหมดยังไม่ได้เข้าถึงปรัชญาของในหลวงทั้งสามข้อ

“สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาคือการศึกษา การศึกษาเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องกล้าลงไปเล่นตั้งแต่ระดับตาดีกา อนุบาล ตั้งแต่เริ่มเรียนอัลกุรอาน ทำไมรัฐไม่เริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้ กว่าจะหมดไปสักช่วงอายุคนเป็นเวลานาน ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่เด็กเกิดมาพ่อแม่พูดเข้าหูทุกวันเป็นสิ่งที่ใครก็ไม่สามารถเข้าถึงจุดนั้นได้ สิ่งที่ทำอยู่เป็นการพัฒนาแบบสะเปะสะปะ”

“ตอนนี้ผมยังชอบและมีแรงที่จะทำ แต่บางครั้งก็ล้า ผมถ่ายไว้หลายหมื่นภาพ ปีหน้ามีโครงการจะรวมเล่มภาพที่ถ่ายมาหลายปี ยังอยากเป็นสื่อกลางสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นที่นี่เป็นภาพข่าวอย่างไม่ย่อท้อ” เป็นสิ่งที่จรูญบอกทิ้งท้ายในอาชีพที่เขารัก

สื่อมวลชนเป็นวิถีชีวิตที่หากใครเข้ามาสัมผัสด้วยใจและความมุ่งมั่น รับประกันได้ว่าจะหลงรักและถอนตัวไม่ขึ้น แม้จะมิใช่หนทางทำมาหากินที่รุ่มรวย หากในมโนสำนึกของผู้คนในวิชาชีพนี้ยังต้องมีคุณธรรมและคุณสมบัติอื่นอีกมาก โดยเฉพาะถ้าอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ต้องเพิ่มคำว่า “สติและไม่ประมาท” ไว้ประจำใจ

เลขา เกลี้ยงเกลา
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศราฯ