WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, May 12, 2008

บันทึกจาก ‘ย่างกุ้ง’ หลังมรสุม

5 พฤษภาคม 2551 ประมาณบ่ายโมง ฉันกับเพื่อนๆ เดินทางด้วยสายการบินท้องถิ่นจากเมืองมัณฑะเลย์มาถึงเมืองย่างกุ้ง เพื่อเดินทางต่อมายังประเทศไทย ด้วยสายการบินไทยเที่ยวบิน TG 306 ที่กำหนดออกจากย่างกุ้งเวลา 19.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น วันนี้เป็นวันแรกที่ฟ้าเปิด สายการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอาศัยโอกาสหลังพายุไซโคลนผ่านพ้น เร่งขนถ่ายผู้โดยสารที่ตกค้างเที่ยวบินมาหลายวัน

ก่อนมาถึงกรุงย่างกุ้ง ฉันทราบเรื่องพายุแต่เพียงเลาๆ ในคืนวันที่ 4 พฤษภาคม จากช่องสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศซึ่งรายงานว่ามีพายุไซโคลนชื่อ “นาร์กีส” ขึ้นฝั่งที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีของพม่าตั้งแต่เช้าวันที่ 3 พฤษภาคม และฉันก็ไม่ทราบอะไรอีกเลย รู้แต่เพียงว่าโทรศัพท์ใช้การไม่ได้มาหลายวันแล้ว และระหว่างที่อยู่มัณฑะเลย์ก็ไม่มีฝนหรือลมพายุใดๆ เลย เพราะมีเทือกเขาอาระกันโยมาขวางเอาไว้ และห่างจากย่างกุ้งที่อยู่ทางทิศใต้ราว 650 กิโลเมตร

เมื่อเครื่องบินกำลังร่อนลงจอดในสนามบินนานาชาติมิงกะลาดงของย่างกุ้ง ฉันจึงเห็นความเสียหายจากพายุนี้กับตาตัวเอง บ้านเรือนล้มระเนระนาด โคลนเต็มถนน โคลนสีน้ำตาลขุ่นขังอยู่บริเวณแอ่ง และที่ลุ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนจากทางอากาศ ยิ่งเครื่องบินบินลงต่ำเท่าไร ภาพความเสียหายที่ปรากฏตรงหน้าก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

เวลา 14.00 น. สายการบินท้องถิ่นที่ฉันโดยสารมาถึงสนามบิน ฉันกับคณะออกเดินสำรวจรอบๆ สนามบิน โชคดีที่อาคารผู้โดยสารสนามบินจะไม่เป็นอะไรมาก แต่ต้นไม้รอบๆ ก็ล้มชนิดถอนรากออกมาทั้งต้น โครงเหล็กที่ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่ป้ายโฆษณาหักโค่นลงมา และพบเศษสังกะสี เศษกระเบื้องกระจายอยู่ทั่วไป

เพื่อให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญเพื่อฆ่าเวลาระหว่างรอเที่ยวบินไปกรุงเทพฯ เพื่อนของฉันชวนเข้าไปดูสภาพกลางเมืองย่างกุ้ง ซึ่งไม่ทันที่เขาจะเอ่ยปากชวนจนจบ ฉันก็ตอบรับในทันที เราเหมาแท็กซี่คันหนึ่งขับจากสนามบินไปทางทิศใต้ เพื่อเข้าไปในเมือง เราผ่านถนนแปร ถนนโบจกอองซาน และถนนสุเลพยา เพื่อเดินดูร้านรวงใกล้กับพระเจดีย์สุเล ศาลาว่าการเมืองย่างกุ้ง และแถบจัตุรัสเอกราช ก่อนขับกลับมายังสนามบิน

ภาพที่ฉันเห็นก็คือ สองข้างทางของถนนในเมืองย่างกุ้งที่เคยร่มรื่นไปด้วยต้นสะเดา ต้นราชพฤกษ์ ต้นทองกวาว ต้นปาล์ม ฯลฯ บัดนี้มีจำนวนมากที่ล้มระเนระนาดเต็มไปหมด บางต้นล้มชนิดถอนรากถอนโคนแทบจะพลิกฟุตบาธขึ้นขวางลำกลางถนน

และต้นไม้ประเภทที่ล้มทั้งต้นแล้วโค่นเสาไฟฟ้าพ่วงด้วย หรือรากของต้นไม้ขุดท่อประปาขึ้นมากลางถนนนี่เอง คงเป็นสาเหตุทำให้ทั้งเมืองไม่มีกระแสไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา และสายโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตถูกตัดขาดมาตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม และขณะที่ฉันเขียนบันทึกอยู่นี้ (7 พ.ค.) ข่าวที่ฉันทราบก็คือ ชาวเมืองย่างกุ้งก็ยังต้องทนอยู่แต่ในความมืด ขาดน้ำสะอาด และยังคงขาดจากการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก

รถแท็กซี่ขับผ่านถนนแปร พาพวกเราผ่านสวนสาธารณะประชาชน ที่ครั้งหนึ่งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง แลเห็นพระมหาเจดีย์ชเวดากองทางทิศตะวันออก บัดนี้ต้นไม้ในสวนสาธารณะล้มระเนระนาดไปหมด สภาพดูยุ่งเหยิงราวกับสวนร้างมานานปี

เมื่อรถเข้าถนนโบจกอองซาน ผ่านโรงพยาบาลกลางกรุงย่างกุ้ง ที่นั่นต้นไม้ใหญ่หักโค่นเต็มไปหมด ถนนคงเพิ่งใช้สัญจรได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าคงไม่มีปัญญาจะเก็บกวาดบรรดาต้นไม้ที่ล้มระเนระนาดในจำนวนมหึมา พวกเขาทำได้เพียงจัดการบรรดาต้นที่ขวางถนนเท่านั้น ลากมันไปข้างทาง ตัดกิ่งไม้ที่เกะกะ แล้วทิ้งมันไว้แบบนั้น ภาพต้นไม้นอนเรียงรายตามแนวบาทวิถีพบเห็นได้ทั่วไปในกรุงย่างกุ้ง ชาวบ้าน พระสงฆ์ ที่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ไหวต่างพากันออกมาแผ้วถางเศษซากที่เกลื่อนถนนและบริเวณบ้านเรือนของตน

ที่ย่านถนนสุเลพยา ใกล้กับพระเจดีย์สุเล ฉันพบว่าแถบนี้ตัวอาคารไม่เป็นอะไรมาก หนักหน่อยก็เป็นต้นไม้ที่ล้มทับเสาไฟฟ้า ย่านการค้าสำคัญของเมืองแห่งนี้ โดยมากยังปิดทำการ มีเพียงแผงลอยเล็กๆ ไม่กี่สิบร้านที่ออกมาขายของ

ฉันเดินเขามาในถนนเล็กๆ ข้างถนนสุเลพยา และมีโอกาสสนทนากับเจ้าของตึกแถวบางห้องที่เปิดบ้านแง้มไว้ ลูกหลานพวกเขาออกมาวิ่งเล่นกลางถนน หลังจากที่ต้องหลบภัยพายุในอาคารหลายวัน พวกเขาบอกว่าต้องดูแลตัวเอง จุดเทียนในเวลากลางคืน และซื้อน้ำกิน บ้างก็ไปขอแบ่งน้ำจากโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงกันนั้น บางบ้านที่พอมีฐานะก็ซื้อน้ำมันเพื่อเติมให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ออกจากถนนสุเลพยาเพื่อกลับสนามบินมิงกะลาดง ระหว่างทางย่านถนนกะบะอะเยพยา รถยนต์จอดเลนขวาชิดข้างทางยาวเหยียดเป็นกิโลเพื่อรอเติมน้ำมัน คนขับรถเล่าให้ฟังว่า มีการจำกัดโควตาให้แต่ละคันเติมน้ำมันได้วันละ 3 ลิตรเท่านั้น เนื่องจากการขนส่งถูกตัดขาดทำให้น้ำมันขาดแคลน ขณะนี้ราคาน้ำมันในพม่ายังคงสูงลิ่ว แค่น้ำมันดีเซลก็ตกลิตรละ 1,500 จ๊าด หรือ 45 บาท และหากน้ำมันยังมีจำหน่ายจำกัดจำเขี่ยแบบนี้ ราคาคงยิ่งสูงลิ่วไปอีกแน่นอน

ระหว่างทางกลับ เราผ่านทางแยกไปสู่ถนนมหาวิทยาลัย คนขับรถแท็กซี่ชี้ให้เราดู เขาพูดเสียงเบาว่า “นี่บ้านของเลดี้” เขาหมายถึงสถานที่กักบริเวณนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า “เลดี้” ที่เขาเรียกนั้นแทนตัวนางออง ซาน ซูจี อันเป็นการเรียกอย่างให้เกียรติของชาวพม่า ที่นั่นต้นไม้ล้มระเนระนาดไปหมด แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือ มีตำรวจเฝ้าหน้าบ้านเธอเหมือนเดิม!

ไม่นานเรากลับมาถึงสนามบินเพื่อรอเดินทางต่อ ที่นี่ยังมีไฟฟ้า มีน้ำประปาใช้ เหมือนโรงแรมใหญ่ๆ หรือบ้านนายพลบางหลังในเมือง ในขณะที่ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง และถูกทอดทิ้งให้อยู่กับความมืด ขาดแคลนน้ำสะอาด และตัดขาดจากโลกภายนอก

ไม่รู้ว่าความช่วยเหลือจากนานาชาติจะมาถึงเมื่อไร และตัวเลขความสูญเสียจะพุ่งไปถึงหลักไหน ในขณะที่รัฐบาลทหารก็ยังเล่นแง่ ไม่อนุมัติวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์จากต่างประเทศง่ายๆ และไม่รู้ว่าจะมีใครได้เข้ามาตรวจสอบบ้างหรือไม่ว่า ทรัพย์สินข้าวของที่ประเทศข้างเคียงส่งมาช่วยเหลือจะตกถึงปากท้องประชาชนแค่ไหน

นี่คือย่างกุ้งที่ฉันเห็น

โก่ เหว่ จ่อ