สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ ทีดีอาร์ไอ ที่มีชื่อย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า The Thailand Development Research Institute เสวนาเรื่อง "ข้าวแพง วิกฤติหรือโอกาสชาวนาไทย" ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยมี นายอัมมาร สยามวาลา เป็นผู้ออกมากล่าวโจมตีรัฐบาล ระบุว่า “นโยบายเฮงซวย”
“ข้าวธงฟ้าของรัฐบาลทำให้เกิดความปั่นป่วน เพราะทำให้ข้าวในท้องตลาดมี 2 ราคาที่แตกต่างกันมาก ทำให้คนแย่งกันซื้อ ต้องขอยืมคำของนายกรัฐมนตรีมาใช้ว่าเป็น ‘นโยบายเฮงซวย’ และจนถึงขณะนี้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลต้องการให้ราคาข้าวถูกหรือแพงกันแน่ เพราะแก้ปัญหาแบบฝันกลางวัน สิ่งที่ดีที่สุดคือ การปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หากจะขึ้นก็ไม่ควรเกินร้อยละ 50 และควรจำกัดทั้งปริมาณและผู้ซื้อ”
หลายคนอาจจะงุนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรื่องราคาข้าวของประเทศไทย ที่มีการขยับตัวสูงขึ้น อันเนื่องจากผลกระทบจากตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุด หลายคนรู้ว่าราคาข้าวผันผวนนั้น เกิดจากประเทศเพื่อนบ้านของเราพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ จึงมีการเก็งกำไรระยะสั้นเกิดขึ้น
แต่ มีการนำเรื่องราคาข้าวมาเป็นประเด็นที่จะชักจูงให้คนรากหญ้าเข้าใจว่า “รัฐบาลไร้ฝีมือ” ในการบริหารจัดการราคาสินค้าภาคการเกษตร
ก่อนหน้านี้ นักวิชาการมักจะออกมาตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลชุดต่างๆ ตลอดเวลา พาให้คนนึกฝันไปว่า คนกลุ่มนี้นี่แหละเก่งกาจสามารถ แต่ถ้าติดตามการทำงานแล้ว น่าจะมีการตั้งคำถามตัวโตๆ กับนักวิชาการของทีดีอาร์ไอ ว่า ได้ดำเนินการเรื่องอะไรให้กับประเทศไทยเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง
ถามจริงๆ ว่า ทีดีอาร์ไออับอายไหม ให้คนของตัวเองมานั่งเป็น ขุนพลเศรษฐกิจ ใน รัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนทั้งประเทศ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารชาติบ้านเมือง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบใดๆ โดยเฉพาะใน ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยู่เกือบปี
ถ้าจะจำกันได้ คนคนนั้นคือ ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ นี้แหละ มีใครเห็นฝีไม้ลายมือ มีใครเห็นผลงานอะไรเป็นรูปธรรมจับต้องได้ชัดเจนบ้าง
ไม่ต้องนับรวมไปถึง ชาวโลก ที่เขาถามไถ่ว่า ได้แสดงฝีไม้ลายมือในการบริหารประเทศชาติบ้านเมือง อย่างไร แค่ไหน
หาก ทีดีอาร์ไอ มี “ขุนพลเศรษฐกิจ” ที่ไม่ใช่ นักพูด แต่เป็น นักปฏิบัติ ประเทศไทยของเราคงไม่ ป่นปี้ ไปในช่วงเวลา 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา
หลายคนบอกว่า หากเราอยู่กับที่ เท่ากับว่าเราถอยหลัง
ถามว่า 1 ปีเศษๆ ที่นักวิชาการของ ทีดีอาร์ไอ เข้ามานั่ง ปฏิบัติงาน อยู่นั้น ได้ ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ มากน้อยเพียงใด
คนจนร่ำรวยขึ้นไหม เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปากบ้างไหม ในยุคที่พรรคพวกเครือข่ายของนักวิชาการ เหล่านี้ ได้ไปมีอำนาจ หรือว่าจะเป็นเฉพาะพวก ธุรกิจรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์ ที่พบว่านักธุรกิจเหล่านั้นไปซบแนบแอบอิงกับ อำมาตยาธิปไตย และ โจรปล้นประชาธิปไตย
การพูดวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ ด่าทอคนอื่น มันง่ายกว่าการปฏิบัติ ใช่ไหม? การได้โอกาสทำงานแล้วไม่เห็นผลงาน จะเข้าข่ายว่า เก่งแต่ปาก ได้หรือไม่? ที่ผ่านมาประชาชนตัดสินไปแล้วใช่ไหมว่า ทีดีอาร์ไอ หรือ ใครกันแน่ ที่...เฮงซวย