ชำแหละจุดหมายปลายทาง‘โจรพันธมาร’สวมวิญญาณบ่างช่าวยุ ตีแผ่ซอกหลืบแห่งหายนะประเทศบนความไม่รู้ตัวของประชาชนตาดำๆที่ถูกเดินเกมแลกผลประโยชน์
มติล่าสุดของกลุ่มพันธมิตรฯที่ต้องการให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้น เป็นเพียง “ฝันร้าย” ที่มิอาจเป็นไปได้ เมื่อ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ออกมาย้ำนักย้ำหนาชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า ข้อเสนอของ 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯครั้งล่าสุด ที่ต้องการให้ “ทหารออกมาใช้อำนาจ” นั่นเป็นเพียงฝันกลางวัน ฝันลมๆแล้งๆ เท่านั้น
ถึงแม้ว่า ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯจะใช้ถ้อยคำที่กำกวมว่า “ขอเรียกร้องให้ทหารทำหน้าที่ของตัวเองและทำตามคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อธงชัยเฉลิมพลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”ซึ่งการกระทำของโฆษกกลุ่มพันธมิตรฯที่มีขึ้นทุกครั้ง แม้กระทั่งการยิ้ม ทางฝั่งโฆษกกองทัพบกก็มองเห็นถึงเหงือก ทะลุปรุโปร่งไปถึงลำไส้ใหญ่กันเลยทีเดียว
แม้ว่าโฆษกกลุ่มพันธมิตรฯจะใช้ถ้อยคำที่กำกวมเช่นไร ก็มิอาจรอดพ้นสายตาและความคิดของโฆษกกองทัพบกไปได้
การเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯครั้งนี้ทหารคงไม่หลงเชื่อเหมือนอย่างยุคของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ตัดสินใจยึดอำนาจโดยกระบวนการรัฐประหาร เมื่อครั้งวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้ดังเช่นแต่ก่อน
ซึ่งปัจจัยหลักที่กลุ่มพันธมิตรฯต้องการให้เกิดการยึดอำนาจโดยการรัฐประหารนั้นมีอะไรซ่อนเร้นอยู่เป็นแน่ เพราะการระดมพลของกลุ่มพันธมิตรฯ เพียงเพื่อปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับรัฐประหารเท่านั้น
เนื่องจากที่ผ่านมา “มหา 5 ขัน” จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ที่เคยพ่ายแพ้มาแล้ว แม้ว่าจะออกมาชี้ชัดว่า พลพรรค มีไม่เพียงพอ จึงทำให้พลาดพลั้ง ไม่ชนะอย่างที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามภายใต้ความสำเร็จของการอยู่รอด กลับต้องมาแลกด้วยอาการหืดขึ้นคอ เพราะวิ่งแก้เกมกันไม่ทัน เนื่องจากภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวที่อ่านทะลุ คือ ความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งอาจรวมไปถึงความ “ไม่กล้า” ออกมาทำรัฐประหาร
แต่อย่ามองข้าม เพราะคำพูดของ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ผบ.ทบ. ที่บอกว่า กำลังหาช่องทางแก้วิกฤตการเมืองอยู่ ซึ่งนั่งอาจหมายถึงมีนัยยะสำคัญอยู่
แล้วความกระเหี้ยนกระหือรือ โหยหารัฐประหารของกลุ่มพันธมิตรฯจะเป็นจริงหรือไม่
แต่กลุ่มพันธมิตรฯอย่าเพิ่งเป็นกิ้งก่าได้ทองไป ถึง “ผบ.ทบ.” จะพูดมีนัยยะสำคัญ แต่หารู้ไหมว่าสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นและท่าทีสนับสนุนของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มผู้ไม่สนับสนุนพันธมิตร ปรากฏว่า ลดลงจากร้อยละ 47.7 และร้อยละ 42.9 ในการสำรวจช่วงหลังเกิดเหตุ 7 ตุลาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 26.3 และร้อยละ 29.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด แต่กลุ่มประชาชนส่วนมากกลับไปอยู่จุดยืนทางการเมืองจุดเดิม คือ ขออยู่ตรงกลางร้อยละ 44.1
นั่นหมายความว่า ประชาชนรู้ซึ้งในเรื่อง “ผิด ชอบ ชั่ว ดี” รู้ซึ้งว่าเข้าร่วมชุมนุมก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่รั้งจะทำให้บ้านเมืองเสื่อมเสีย เหมือนดังเช่นคำพูดของ “ดิสธร วัชโรทัย” ที่ประกาศชัดเจนว่า เป็น “ตัวจริง-เสียงจริง” ที่รับพระราชกระแสมา ขอให้ทุกคนที่รักในหลวงอยู่บ้าน ไม่ต้องออกมาแสดงพลัง
ทั้งนี้คำพูดของ “ดิสธร วัชโรทัย” ยิ่งเป็นเหมือนการสาดเลือดเข้าตา “สนธิ ลิ้มทองกุล” ที่ยังออกมา ฉะ แฉ แม้จะไม่ระบุชื่อ แต่ก็เป็นการตอบโต้ ที่ไม่ยอมรับความจริงอย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบท่าทีของ กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้แสดงออกถึงความต้องการ “สันติ” อยู่แล้ว
ซึ่งจากที่ดูแล้ว อาการของสองฝ่าย ยิ่งพุ่งเข้าหา ความรุนแรงเปรียบเสมือน“กลิ่นเหม็นไหม้ เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นล้วนมีแนวโน้มไปสู่สิ่งไม่ดี”เป็นคลื่นแทรกจาก “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ออกมาจี้ให้ สมชายวงศ์สวัสดิ์ ปรับครม.เป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ภายใน 2 วัน แต่แล้ว ไอเดียของ “บิ๊กจิ๋ว” ก็เป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่ง เพราะรัฐบาลแห่งชาติจากมือของ “สมชาย” ยากที่จะเกิดขึ้นได้นอกจากวนไปสู่การโหยหาการปฏิวัติ
กระนั้น “เสธ.อู้” พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช วิเคราะห์ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยังคงไม่เกิดขึ้นในอีก 1- 2 เดือนข้างหน้า แต่อาจจะมีผลหลังจากการตัดสินคดียุบพรรค “หากจะเกิดความรุนแรงช่วงนี้จนถึงเดือนธันวาคมคงไม่มีอะไรและคงไม่เกิดก่อนงานพระราชพิธี อย่างแน่นอน”แต่ “เสธ.อู้” ก็ทิ้งปมเอาไว้ว่า ถ้าเกิดจลาจลถึงขั้นนองเลือด จำเป็นจริงๆทหารก็ต้องออกมา
กระนั้น สถานการณ์ในขณะนี้ก็ยังไม่มีเบาะแสใดบ่งบอกว่าจะมีการปะทะและขัดแย้งเกิดขึ้นอีกระหว่างกองทัพกับรัฐบาล แม้ว่าจะมีความพยายามจากบางฝ่ายทำให้เกิดขึ้นและมีขึ้นก็ตาม
เป็นอันว่ารัฐบาลชุด “สมชาย 1” ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงน่าจะผ่านเดือนพฤศจิกายน 2551 ไปได้อีก 1 เดือน