ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ
ที่มา : ประชาไท http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=14869&Key=HilightNews
ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ดิฉันจะเสริมต่อจาก อ.วรเจตน์ แต่ก็มีประเด็นที่คิดต่างออกไป ดิฉันคิดว่าที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 3-4 ประเด็น ซึ่งจะทำให้เรามาฉุกคิดว่าการเมืองไทยจากนี้ต่อไปจะมีการหักเหอย่างมาก ซึ่งต้องคิดมากกว่าที่เป็นอยู่
ประการแรก คือระดับของความสนใจและการเข้าร่วมในการเมืองของสังคมไทยได้มากขึ้นจนสังเกตได้ และประเด็นนี้เกิดขึ้นจากความต่างของสังคม ซึ่งมีลักษณะของความแตกแยกอยู่ด้วย แต่ได้ถูกบดบังไปจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างสูง และเกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และในช่วงเศรษฐกิจบูมในสมัยคุณชาติชาย ความต่าง 3 เรื่องที่สำคัญที่สั่งสมมากคือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ คนจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในขณะที่คนที่รวยที่สุดมีส่วนแบ่งมากกว่าครึ่ง ทำให้เรามีลักษณะใกล้เคียงกับละตินอเมริกามากขึ้นทุกวัน
ประการที่ 2 การพัฒนาของชาวเมืองพัฒนาไปแบบแตกแยกกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วก็คนเมืองกลุ่มน้อยที่ร่ำรวยขึ้นจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ก็ทำให้ชาวชนบทถูกมองว่าเป็นพวกล้าหลัง เป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญ ถูกดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็นคนที่คิดไม่เป็น ออกเสียงเลือกตั้งทีไรก็มีการซื้อเสียง และความต่างประการสำคัญประการที่ 3 คือ ความเห็นต่างว่าประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร หรือกระบวนการที่จะนำไปสู่รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศควรจะเป็นอย่างไร เราพบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ มีการจัดสรรทรัพยากรจากส่วนกลาง มีการเสียภาษี จึงเกิดการซาบซึ้งในระบบของรัฐสภาประชาธิปไตย กลุ่มคนที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยกลับถอยหลัง และอยากจะเปลี่ยนกติกา จากหนึ่งคนหนึ่งเสียง กลับมีข้อเสนอให้มีการแต่งตั้ง 70 เปอร์เซ็นต์ เลือกตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ การพยายามที่จะปรับกติกาหรือย้อนหลังไปแบบนี้ เพื่อให้กลุ่มคนที่น้อยกว่านี้ได้มีบทบาทเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่กระแสแรงต้านจากกลุ่มที่มีหลักการประชาธิปไตยอยู่กับความเสมอภาค
เราจึงได้เห็นกระบวนการต่างๆ เกิดขึ้น ขณะที่การเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางไทยในระยะ 30 ปีที่ผ่าน กลุ่มเสื้อแดงที่ได้เห็นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และของใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นคือระดับของการอภิปรายถกเถียง วิธีคิดได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน เราจะได้ฟังชาวบ้านร้านถิ่นเข้ามาแลกเปลี่ยนทางการเมืองแบบถึงพริกถึงขิงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และอดคิดไม่ได้ว่าวาทกรรมที่ว่าด้วยความสมานฉันท์ ซึ่งเป็นวาทกรรมกระแสหลักตกกระแสไปเลย ในขณะที่คนจำนวนมากก็พยายามจะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย ประท้วง และการใช้วิทยุชุมชน
ข้อสังเกตประการที่ 3 คือ ระดับความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นมากๆ ดิฉันไม่สนใจว่าใครเป็นผู้กระทำความรุนแรง ใครเริ่มก่อน แต่ในประสบการณ์ทางการเมืองตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ความรุนแรงทางการเมืองเกิดจากการกระทำของภาครัฐมาโดยตลอดไม่ได้มาจากฟากที่เป็นผู้ประท้วง อาจจะมีการปะทะกันบ้าง แต่ไม่เคยมีความรุนแรงก่อตัวขึ้นจากผู้ประท้วง แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เราได้เห็นว่าพันธมิตรฯ ได้ให้ภาพของขบวนการเป็นสงคราม ใช้คำว่าสงคราม การ์ดมีการติดอาวุธและมีการดำเนินการเหมือนการรบ เป็นประสบการณ์ค่อนข้างใหม่ และที่ผ่านมา ความรุนแรงได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการประท้วงบนท้องถนนอย่างที่ไมเคยปรากฏมาก่อน มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองขณะนี้ไปแล้ว
ข้อสังเกตประการที่ 4 ความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐหายไป เราได้เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจ รัฐบาลและยังได้เห็นบทบาทของกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินไปเป็นคนละทางหรือคนละฝ่ายกับฝ่ายบริหาร ปรากฏการณ์นี้เป็นของใหม่อีกเรื่องหนึ่งที่ในวิกฤติการเมืองที่ผ่านๆ มา เราไม่เห็นความแตกแยกของสถาบันมากเท่านี้
โดยสรุป ขณะนี้เราอยู่ในภาวะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังต้องการหลักการ 1 คน 1 เสียง และต้องการมีพื้นที่ทางการเมืองแน่นอนชัดเจน แต่คนกลุ่มน้อย อภิชนกลับอยากจะทวนเข็มนาฬิกา และต้องการให้บทบาทของประชาชนลดลง และต้องการให้เกิดช่องว่างในกลุ่มอภิชนเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้ และเป็นรากฐานของความโกลาหลทางการเมืองและยังมีอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่คนกลุ่มน้อยและอภิชนไม่ยอมรับความจริงว่าการเมืองไทยขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง และสันติสุขก็จะเกิดขึ้นได้โดยการเปลี่ยนทัศนคติของฝ่ายตรงข้ามหลักการเสมอภาค อยู่กับหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่อยู่บนหลักการที่ว่าฝ่ายอภิชนต้องเป็นใหญ่
อ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์
วิกฤติการเมืองยิ่งนาน ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ต้องเป็นนักวิเคราะห์ก็จะมีภาพว่าอะไรเป็นอะไร นี่เป็นผลพวงที่หลายฝ่ายไม่ได้ตั้งใจให้ออกมาเป็นเช่นนี้ แต่ยิ่งนานทุกฝ่ายก็ยิ่งต้องออกแรงเยอะ ต้องใช้ทรัพยากรและออกตัวมากขึ้น ในวันนี้มี 4 ประเด็นที่จะนำเสนอ คือ 1.ตามหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า การเมืองสยามประเทศ (ไทย)-หลังรัฐบาลใหม่ และหลังรัฐธรรมนูญ 2550 จะเป็นอย่างไรนั้น หลังรัฐบาลใหม่จะได้ระบบการเมืองเก่า หลังรัฐธรรมนูญ 2550 เราได้ระบบการเมืองก่อนทักษิณ ไม่มีรูปไหนเป็นสัญลักษณ์ได้ชัดเท่าภาพคุณเนวินและคุณอภิสิทธิ์กอดกัน ซึ่งเป็นการเมืองเก่าที่เปลี่ยนขั้ว สลับไปมา แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับฟอร์มรัฐบาล
พูดให้ละเอียดขึ้น หลังรัฐธรรมนูญ 2550 ระบบพรรคการเมือง สถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตยจะอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด พรรคการเมืองยิ่งจะสูญพันธุ์ไปทุกวัน แม้โดยส่วนตัวจะไม่ได้นิยมชมชอบนักการเมือง พรรคการเมือง แต่เราต้องหัดเรียนรู้และพัฒนาตามครรลอง ไม่ใช่ทำให้มันสูญพันธุ์หรือมีกติกาที่ต่อต้านนักการเมือง พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ 2550 อยู่บนสมมติฐานว่านักการเมืองชั่ว อาจเป็นอย่างนั้นจริง แต่คำตอบย่อมไม่ใช่การห้ามไม่ให้มีนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ระบบพรรคตอนนี้อ่อนและคลอนแคลนมาก ดูจากการให้เอกสิทธิ์ ส.ส. ก็ต่างกับรัฐธรรมนูญ 2540 โดยสิ้นเชิง สมัยก่อน ส.ส. ต้องเอาตามพรรค ไม่เช่นนั้นพรรคขับออกได้ ซึ่งมีตรรกะของมันอยู่เพื่อให้สนองตอบ สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การยุบพรรคใหญ่ๆ เราก็ได้เห็นมาแล้ว ขณะที่อีกพรรคหนึ่งไม่ได้รับผลกระทบเลย แม้จะโดนกล่าวหาว่า บิดา ส.ส. ท่านหนึ่งให้ตั๋วหนังคนดูฟรี รัฐธรรมนูญนี้ทำให้เกิดรัฐบาลผสมเป็นระบบเก่า ขอแค่ปริ่มเกินครึ่งนิดหน่อย แต่ก็จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ ฝ่ายบริหารจะอ่อนมาก ขณะที่สถาบันอำนาจเก่าแข็งแกร่งขึ้น ได้อำนาจคืนมาและเพิ่มขึ้นไปอีก ไม่ว่ากองทัพ ตุลาการ สถาบันพระมหากษัตริย์
ฉะนั้น ประเด็นแรก หลังรัฐบาลใหม่จะเป็นระบบเก่า พรรคการเมืองรวมถึงฝ่ายบริหารอ่อนแอลง ตรงข้ามกับรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นลักษณะการตอบโต้ช่วงรัฐบาลทักษิณ
ประเด็นที่สอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คำถามต่อไปคือจะยั่งยืนไหม จะปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นมา 8-10 ปีได้ไหม 3 ปีที่ผ่านมาเคยคิดในใจว่าเขาจะทำได้จริงหรือ ถึงวันนี้คิดว่าเขาทำได้และกำลังทำอยู่ มาถึงตอนนี้ถามตัวเองใหม่ว่าแล้วจะไปรอดไหม คำตอบคิดว่าไปไม่รอด การเอาระบบการเมืองกลับไปในอดีต ไม่ใช่แค่ก่อนทักษิณอย่างเดียว แต่น่าจะถอยกลับไปไกลเท่าที่จะสามารถถอยไปในอดีตได้ จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขหรือข้อเสนอของพันธมิตรฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง คือต้องการรัฐบาลเฉพาะกาลนอกรัฐธรรมนูญ เป้าหมายหลักคือ ต้องการแก้กฎกติกา แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิเสธระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง ตรรกะมันก็ง่ายๆ เพราะถ้าหนึ่งคนหนึ่งเสียง คนกลุ่มน้อยจะแพ้อยู่วันยันค่ำ จึงต้องหาวิธีอื่น เช่น การแต่งตั้ง มีการเปลี่ยนกติกาเพื่อแต่งตั้งมาครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ ต้องการให้มีการแต่งตั้ง สรรหามากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถ้าเป็นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วคงรอด แต่ปัจจุบันนี้ยังวาดภาพไม่ออก การเดินไปเช่นนั้นน่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งตึงเครียดใต้น้ำมากขึ้นๆ ในที่สุดแล้วจะไปไม่รอด สาเหตุที่ไปไม่รอด เพราะ 2 ประการใหญ่ คือ 1) ความตื่นตัวของคนทั่วไป โดยเฉพาะในชนบทสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน เขามีความคิดมากกว่าคนที่ให้ค่าเขา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยขยายตัวมากอย่างรวดเร็ว และการกระจุกตัวก็สูงขึ้น โดยเราได้ละเลยตรงนี้มาโดยตลอดอย่างที่ อ.ผาสุกได้กล่าวไว้ 2) ตอนนี้เป็นช่วงอัสดงของรัชสมัยที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ฝังรากลึก และประสบความสำเร็จสูงสุด ช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้ถึงอย่างไรก็เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยอยู่ดี
ประเด็นต่อมา เรื่องระบบการเมือง ตัวแสดงทางการเมือง ขณะนี้ประชาธิปัตย์กำลังเป็นต่อในการจัดตั้งรัฐบาล ลึกๆ แล้วเขาไม่สมควรจัดตั้ง ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ไม่ชอบ ถ้าดูความสามารถทางด้านการคลัง การต่างประเทศ เขามีบุคลากรที่ตอบสนองตรงนี้ได้ดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะคู่ต่อสู้ถูกห้ามเล่นการเมืองไปแล้วเป็นจำนวนมาก กติกาก็เข้าข้างตัวเอง กรรมการก็ดูเหมือนเข้าข้างตัวเอง คู่ต่อสู้ก็ถูกมัดมือมัดเท้า ถ้าไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหนแล้ว เหตุผล 3 ประการที่เป็นต่อสำหรับประชาธิปัตย์ คือ 1.มีความกดดันจากกองทัพคอยหนุนช่วย กองทัพอุ้มแต่อุ้มเข้าประตูหลัง และมีคนคอยเปิดประตู ปูทางไว้ให้โดยตลอด 2.ระบบตุลาการดูเหมือนมีการวีโต้ ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์หรือยึดอำนาจ ถ้ายึดอำนาจต้องเอาคนที่ตนอยากให้เป็นรัฐบาลมาเป็นได้เลย แต่ตอนนี้ทำได้แค่ปฏิเสธคนไม่อยากให้เป็นเท่านั้น 3.การสร้างเงื่อนไขกรรโชกของพันธมิตรฯ ถ้าเป็นรัฐบาลเดิมอีกก็จะทำอย่างเดิมอีก จึงอยู่ในภาวะจำยอม การไม่มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพยิ่งทำให้ประเทศเสียหายหนัก โดยเฉพาะกรณีอาเซียน การต่างประเทศไทยไม่เคยตกต่ำถึงขนาดนี้ เมื่อก่อนแม้การเมืองมีเสียหลักบ้าง แต่ก็มีความแยบยลสูงในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศแต่ตอนนี้ตกต่ำมาก ทำให้หลายคนจำยอม คิดว่าให้ประชาธิปัตย์ลองเป็นรัฐบาลดูก็ได้ แม้ว่าเขาจะไม่มีวิญญาณประชาธิปไตย เพราะเคยมีการเรียกร้องมาตรา7 คว่ำบาตรการเลือกตั้ง มีการเอื้อพันธมิตรฯ มี ส.ส. ตัวเองเป็นแกนนำ การสมรู้ร่วมคิดกันเหมือนประชาธิปัตย์อยู่ในสภา พันธมิตรฯ อยู่นอกสภา แม้ว่าเขาจะติดลบจริยธรรมเอามากๆ จากพฤติกรรมที่ผ่านมา แต่ก็อาจต้องจำยอมให้เขาได้เป็นรัฐบาล จะได้ผ่านตรงนี้ไปได้ เขาอาจจะเจอเสื้อแดงประท้วง ซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่าเสื้อแดงอาจจะโดนปราบ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวสำหรับประชาธิปัตย์คือเสื้อเหลืองต่างหาก เขาอาจจะตีกันเอง เพราะพันธมิตรฯ มีธงที่ชัดเขน เมื่อประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วจุดร่วมของพวกเขาอาจจะเริ่มแตกต่างกัน พันธมิตรฯ ต้องการออกนอกกติการะบบเดิม อีกทั้งแนวนโยบายประชาธิปัตย์จะมีลักษณะสมัยใหม่มากกว่าพันธมิตรฯ อาจมีการขัดแย้งกันได้ และอาจจะเหมือนกับกรรมตามสนอง
ประเด็นสุดท้าย พันธมิตรฯ เดินมาไกลมาก ไม่นึกว่าจะมาไกลได้ขนาดนี้ จากการประท้วงการคอร์รัปชั่นธรรมดาๆ ทักษิณเป็นคนขี้โกง มีการทุจริต มีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน แต่ขณะเดียวกันขบวนการของเสื้อเหลืองและผู้หนุนหลังทั้งหลายจะมาได้ไกลขนาดนี้ วันที่เป็นจุดเปลี่ยนคือ วันที่คุณทักษิณกลับมาเมืองไทยเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ปกติคนที่โดนยึดอำนาจต้องหนีไปเมืองนอก อาจไปเสียชีวิตที่เมืองนอก แต่เมื่อคู่ต่อสู้เห็นกลับมาอย่างนี้จึงต้องเอาให้ถึงที่สุด เรียกได้ว่า ประชาธิปไตยตอนนี้เป็นประชาธิปไตยในการอารักขาของกลุ่มอำนาจเก่า มีตุลาการคอยวีโต้ มีกองทัพอุ้มชู และพันธมิตรฯ คอยกำหนดวาระ สร้างเงื่อนไข
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเราคิดว่าเสื้อเหลืองเป็นหัวหอกของฝ่ายขวา เสื้อแดงก็ตีเสียว่าเป็นฝ่ายซ้าย เพราะตอบสนองต่อคนจน ทำไมอภิชน คนชั้นกลางถึงมาหนุนพันธมิตรฯ กันเกือบหมด ครูบาอาจารย์ อธิการทั้งหลายก็เป็นในแนวทางนี้ โจทย์นี้คิดมาหลายเดือน และได้งานเขียนของนักวิชาการ 2 ท่านที่ช่วยฉายแสงให้ความสว่างคือ บทความของ อ.เบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) ปี 1977 ซึ่งพูดถึงภาวะของการลงแดงทางการเมือง เรื่องพลวัตของชนชั้น อีกคนหนึ่งคือ อ.เดวิด ไวแอด (David Wyatt) เขาถามคำถามหนึ่งที่สอดคล้องกับความสงสัยเรื่องนี้ว่า ทำไมคนที่ประท้วงเมื่อ 14 ตุลาคม มาหนุนขวาพิฆาตซ้ายใน 6 ตุลาคม คำตอบเบื้องต้นคือ สังคมไทยเป็นสังคมแนวตั้ง สังคมชนชั้น อภิชนตรงกลางเขามีแรงถีบแรงส่งให้สามารถขึ้นสูงได้ ถ้าทักษิณอยู่ต่อไปเรื่อยๆ สังคมจะอยู่ในแนวนอนมากขึ้น และจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของพวกเขา จึงน่าจะเป็นคำตอบได้ว่ามาถึงวันนี้ไม่สามารถบอกว่าพันธมิตรฯ ถูกได้อีกแล้ว แต่ก็ยังมีคนให้ท้าย ส่วนการใช้ความรุนแรง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่าโดยมากมาจากรัฐ แต่ช่วง 6 ตุลาคม ความรุนแรงก็มีมาจากคนไม่ใช่รัฐ เช่น นวพล ตอนนี้พันธมิตรฯ ก็กำลังไปในแนวนั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าเขาวิจารณ์ทักษิณก็วิจารณ์ไป ทักษิณก็วิจารณ์กลับ หรืออาจให้สรรพากรมาตรวจสอบบัญชี ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบในมหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยรู้สึกอันตรายเหมือนการวิจารณ์พันธมิตรฯ อย่างไรก็ตาม 6 ตุลาคม กับปัจจุบันต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องการตื่นตัวในคนทั่วไป และตอนนั้นคนที่เป็นเหยื่อคือคนกลุ่มน้อย โดยมีคนกลุ่มใหญ่เป็นคนกระทำ แต่ตอนนี้ตรงกันข้าม คนกลุ่มน้อยเป็นคนกระทำ และคนกลุ่มใหญ่เป็นเหยื่อ
สรุปว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ประชาธิปไตยเป็นมาตรฐานสากล เป็นเกณฑ์อันใหม่ การยึดอำนาจมีความแยบยลขึ้น ไม่สามารถทำอย่างโจ๋งครึ่มได้อย่างสมัยก่อน วิธีที่ดีที่สุดคือ ปฏิเสธคนที่เราไม่ชอบ และดันคนที่เราชอบไปให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องใช้รถถัง แค่กดดัน มีการวีโต้ มีการสร้างเงื่อนไขขู่กรรโชกไป แต่อย่างไรก็คิดว่าแนวทางนี้ไปไม่รอด เพราะมีพลังประวัติศาสตร์ขับเคลื่อนอยู่ จะถอยกลับไปอีกคนคงไม่ยอมรับ
โจทย์ของประเทศไทยคือแล้วเราจะหาทางออกอย่างไร คงต้องเริ่มจากการยอมรับซึ่งกันและกัน ถ้าเราลองคิดว่าเราอยู่หลังพันธมิตรฯ เราก็ต้องกลัวว่าถ้าปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาการของสังคม การเมือง เศรษฐกิจไป เขาจะสูญเสียผลประโยชน์ อำนาจ และอภิสิทธิ์ไป แต่ถ้าเราลองพยายามโน้มน้าวว่าเสียน้อยเสียยาก ยังไงก็ต้องปรับไปตามยุคสมัย และก้อนเค้กเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การแบ่งกันบ้างก็ไม่ได้เสียมาก แต่เข้าใจว่าเขาต้องกลัว เพราะมันเป็นลักษณะของการไหล ต้องยอมไปเรื่อยๆ แล้วจะต้องยอมไปถึงจุดไหน มันเป็นภาวะลักลั่นที่ไม่มีใครเจตนาให้เกิด หลังจากนี้ต้องมีการปรับตัวกันเกิดขึ้น ต้องยอมรับกันและกัน จะปฏิเสธยุคสมัยมันยาก แต่เราจะพาวิธีโน้มน้าวแบบใดที่ไม่มีอคติ เป็นปรปักษ์อะไร แต่ตระหนักการมีอยู่ซึ่งกันและกัน ทั้งกลุ่มอำนาจเก่าที่ยื้อและดึงกลับไปกับอนาคตที่เราต้องเดินต่อไป ถ้าเราไม่สามารถหาทางตรงกลางออกมาได้สังคมจะสั่นสะเทือน ลำบากมากๆ และสังคมจะอยู่ในภาวะที่ อ.เบน เคยว่าไว้อีกครั้งหนึ่ง คือ ลงแดง
หมายเหตุ เรียบเรียงจากงานอภิปราย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2551 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ และหลักสูตรควบ 5 ปี ตรี/โท คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ร่วมจัดเสวนาหัวข้อ การเมืองสยามประเทศ (ไทย) –หลังรัฐบาลใหม่และหลังรัฐธรรมนูญ 2550 โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย รศ.พิภพ อุดร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์