ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : แวดวงจักรดาว
ตีนตะขาบ
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ทหารไทยจะเข็ดขยาดต่อการทำปฏิวัติรัฐประหาร เพียงเพราะแค่บทเรียนแห่งความล้มเหลวจากการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 เท่านั้น
ขนาดว่าในช่วงวิกฤติการเมืองที่ยาวนานหลายเดือนที่ผ่านมา มีเงื่อนไขต่างๆ มากมายพอที่จะเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจได้ แม้แต่ล่าสุดกระแสการปลด บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยความอดทน
จนทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ และบิ๊กทหารที่คุมกำลังในกองทัพ ถูกมองอย่างปรามาสว่า ไม่กล้า หรือกลัวการทำปฏิวัติ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปลุกเร้าให้ทหารปฏิวัติอยู่ทุกวันตลอดการชุมนุม เพื่อหวังไปสู่การเมืองใหม่ หรือรัฐบาลแห่งชาติ
หรือแม้แต่ความอึดอัดของประชาชนจำนวนไม่น้อย ต่อบทบาทของผู้นำทหาร โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ปล่อยให้เกิดสงครามกลางเมือง ปล่อยให้พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาล จนถึงสถานที่สำคัญ จนถึงสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ
ด้วยเพราะทุกคนล้วนอยู่ในอำนาจ โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ นั้น ครองเก้าอี้ ผบ.ทบ. อยู่แล้ว และส่อเค้าที่อยากจะนั่งจนเกษียณ 2553 จึงไม่จำเป็นที่ต้องเอาอนาคตมาเสี่ยง ต่างจากตอนเข้าร่วมปฏิวัติ 19 กันยายน ที่เวลานั้นมีเก้าอี้ ผบ.ทบ. เป็นเป้าหมาย
เพื่อหลีกเลี่ยงการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพที่จำเป็นจำยอม ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ หาทางออกเพื่อที่จะไม่ต้องปฏิวัติให้เปลืองตัวหรือเสี่ยงต่อการถูกพลพรรคเสื้อแดงต่อต้าน ให้กลายเป็นปฏิวัตินองเลือด พร้อมๆ กับการสร้างภาพการเป็นนายทหารประชาธิปไตย ทหารอาชีพ
พล.อ.อนุพงษ์ เลือกการปฏิวัติหน้าจอโทรทัศน์ ด้วยการนำ ผบ.สส.ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง 3 บีบให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ถูกมองว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการสลายม็อบพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม
แต่โลกเปลี่ยนไปแล้ว ทหารไม่ได้ทรงอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองสูงลิ่วเช่นสมัยก่อน ที่ ผบ.เหล่าทัพ พูดอะไรแล้วนักการเมืองจะต้องฟังและปฏิบัติตามโดยทันที นายสมชาย จึงเพิกเฉย นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ
จนที่สุด เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ถือว่าเป็นการก่อการร้าย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ประเทศอย่างรุนแรง พล.อ.อนุพงษ์ จึงอาศัยสถานการณ์ก่อการปฏิวัติเงียบ ด้วยการอ้างมติที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน นักวิชาการ ในนามคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม (คตร.) เสนอให้ นายสมชาย ลาออก
พร้อมมีมาตรการ “อารยะขัดขืน” หากว่า นายสมชาย ไม่ยอมปฏิบัติตาม อันเป็นการสะท้อนการเลือกข้างของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ชัดเจนที่สุด
แต่ นายสมชาย ซึ่งท่องคาถา ผมมาจากการเลือกตั้ง ก็แข็งขืนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และเลือกที่จะไม่แตกหัก ไม่ปลดย้าย พล.อ.อนุพงษ์ ทั้งๆ ที่สถานการณ์และเหตุผลสามารถทำได้ เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ นั้นก่อการอารยะขัดขืนต่อคำสั่งของนายสมชาย ในการให้คลี่คลายสถานการณ์การชุมนุม ว่าหลายครั้ง
จะว่าไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้ง นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่เคยประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วมอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ แต่ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ไม่ทำอะไรเลย ไม่กล้าแตะต้องม็อบพันธมิตรฯ
จนมาถึงเมื่อ นายสมชาย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สั่งยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉิน แล้วตั้งให้ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นประธาน คตร. แต่เขาก็ไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากแค่เรียกประชุมไปวันๆ เพื่อให้ดูว่าตนเองมีอำนาจ ที่เรียกหัวหน้าส่วนราชการอื่นมานั่งสยบต่อหน้าได้เท่านั้น
แต่ในที่สุดกลับมาใช้เวที คตร. เป็นข้ออ้างในการเสนอให้ นายสมชาย ยุบสภา ซึ่งการที่ผู้นำทหาร ซึ่งถือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ซึ่งควบ รมว.กลาโหม ด้วย กระทำการเช่นนี้ ถือว่ามีความผิด สามารถที่จะถูกปลดย้ายได้
แต่นายสมชายไม่ทำ เพราะจะยิ่งเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์เลวร้าย
แม้ว่าบรรดา ส.ส. และแกนนำในพรรคพลังประชาชน และคนใกล้ชิดที่เอือมระอา พล.อ.อนุพงษ์ มานาน เสนอให้ นายสมชาย ปลดย้าย พล.อ.อนุพงษ์ นี้เสีย โดยไม่ต้องกลัวการถูกปฏิวัติ เพราะมีการปลุกม็อบคนเสื้อแดงไว้ต่อต้านการปฏิวัติไว้แล้ว
แต่กระนั้น ความหวาดระแวงเรื่องการปลด ผบ.ทบ. หรือความขัดแย้งและความหมางเมิน จนถึงขั้นบาดหมาง ระหว่าง พล.อ.อนุพงษ์ กับ นายสมชาย จึงทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด และเป็นที่มาของข่าวลือการปฏิวัติ
แต่ด้วยทุกคนทุกฝ่าย รู้ดีว่า การปฏิวัติจะส่งผลเสียอย่างไรต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ที่คราวนี้จะถูกต่อต้านจากนานาชาติอย่างรุนแรง คนเป็นนายกรัฐมนตรีของคณะปฏิวัติจะถูกปฏิเสธ เมื่อไปร่วมประชุมในเวทีนานาชาติ เช่นที่ บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เคยพบเจอ
แต่ประการหนึ่ง ต้องยอมรับว่า พล.อ.อนุพงษ์ หาใช่มีอำนาจเต็มที่ในการตัดสินใจว่า เขาควรจะปฏิวัติหรือไม่ เพราะดูเหมือนเขาต้องฟังคำสั่ง หรือรอไฟเขียว จากคนที่เหนือกว่าเขาหลายขั้น เสียก่อน รอบตัว พล.อ.อนุพงษ์ จึงเต็มไปด้วยแรงกดดัน ที่ต้องการให้เขานำการปฏิวัติ แต่ พล.อ.อนุพงษ์ พยายามแข็งขืน และหาทางแก้ไข หรือทางออกอื่น เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องเอาเก้าอี้ ผบ.ทบ.ไปเสี่ยง มาหลายครั้ง
ไม่ว่าจะมีการสร้างกับดักล่อ สถานการณ์วิกฤติรุนแรงเพียงใด แต่ พล.อ.อนุพงษ์ ก็เล่นบทนิ่งเฉย อ้างความเป็นกลาง อดทนรอ ราวกับรู้ว่า ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงปฏิวัติ เพราะที่สุดแล้ว กระบวนการศาลยุติธรรม หรือ ตุลาการภิวัตน์ จะเป็นผู้จัดการนายสมชายเอง โดยเฉพะในคดียุบพรรค ที่ดูมีการเร่งรัดให้รวดเร็วมากขึ้น
จนในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นผู้นำทางออกมาให้วิกฤติการเมือง ด้วยการวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัฌชิมาธิปไตย และตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรค 5 ปี เมื่อ 2 ธันวาคม ที่ส่งผลให้นายสมชาย และรัฐมนตรีหลายคนสิ้นสภาพทันที พร้อมๆ กับเสียงเฮลั่นของกลุ่มพันธมิตรฯ
ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเกินคาดเลย แต่ฝ่ายรัฐบาลก็อดใจหายไม่ได้กับตุลาการภิวัตนน์ หรือการปฏิ วัติโดยตุลาการ
นัยว่า เป็นทางออกที่ดีที่สุด ในเมื่อทหารไม่ยอมปฏิวัติ ไม่ว่าบ้านเมืองจะพังพินาศแค่ไหนก็ตาม แต่ในเมื่อเป้าหมาย คือการล้มล้างระบอบทักษิณให้สิ้นซาก ต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติ 19 พฤศจิกายน ที่มีการวางแผนบันได 4 ขั้น ไว้ก่อนหน้าแล้ว และดูเหมือนว่าบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังม็อบพันธมิตรฯ และการปฏิวัติครั้งนั้น ก็ตามจิกจนได้
เพราะเบื้องหลังแล้ว ทุกคนรู้ดีว่า มันเป็นขบวนการล้มระบอบทักษิณ ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในการดำเนินคดีทุจริตต่างๆ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว จนต้องหนีคดีเป็นผู้ต้องหาที่มีหมายจับ ลี้ภัยไปต่างประเทศ แถมถูกเล่นเกมจนอังกฤษยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศ และจบด้วยการหย่าร้างกับคุณหญิงพจมาน
แต่ในเชิงระบบการเมืองแล้ว มีความพยายามที่จะทำให้พรรคไทยรักไทยสูญพันธุ์ ทั้งการยุบพรรคไทยรักไทย จนมาตามล้างด้วยการยุบพลังประชาชนอีกครั้ง พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี จนหาตัวนายกรัฐมนตรีแทบไม่ได้
หรือแม้แต่จุดจบของนายสมัคร ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีรับจ้างจัดรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ก็ตาม
จึงไม่แปลกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมองว่า มันเป็นการ “ปฏิวัติแปรรูป” จากที่เคยใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้ายึดอำนาจรัฐยึดสถานที่ราชการสำคัญต่างๆไว้ เพื่อหยุดการใช้อำนาจของรัฐ แต่คราวนี้เป็นหน้าที่ของระบบยุติธรรม ที่สร้างความกังขาให้สังคมไทยไม่น้อย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีเคราะห์กรรมอีกมาก แม้ว่าจะต่อสู้ทางการเมืองจนได้กลับบ้านเกิดมาได้แล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็แค่ชั่วคราว โดยไม่มีใครรู้ว่าอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขาหรือไม่ เพราะที่สุด เขาก็ต้องหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง หลังถูกตุลาการภิวัตน์ ตัดสินให้มีความผิดกรณีซื้อที่ดินรัชดาฯ จนถูกจำคุก และมีหมายจับ
แถมไม่ได้มีลอนดอนเป็นที่กบดาน ลี้ภัยต่อสู้ทางการเมืองเช่นที่เคยมาอีก แต่กลับเป็นแค่ดูไบ เท่านั้น
อันเป็นการสะท้อนว่า ศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นมีฤทธิ์และอำนาจสูง ที่สำคัญทุกคนกำลังรุมตามจิกเขาอย่างไม่ปล่อย จนกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะยอมหยุด ยอมแพ้จริงๆ
แต่ในเมื่อคนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ยอมแพ้แล้วประกาศต่อสู้เต็มที่เช่นนี้แล้ว ก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดฝันทุกรูปแบบ ส่วนการเมืองไทยก็ไม่มีวันสงบ ศัตรูของเขา ก็ไม่มีวัน นอนตาหลับ ยิ่งเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ขู่จะแฉรายชื่อคนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดในไม่ช้านี้
ในเมื่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะอุบัติขึ้น เป็นสิ่งที่ศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกแล้ว ก็ต้องพร้อมรับกับสิ่งที่ตามมา...