ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : สื่อมวลชนภิวัตน์
กิตติพงษ์ สุ่นประเสริฐ
ksoonprasert@hotmail.com
วันนี้ขอเล่าเรื่องตัวเองสักครั้งหนึ่ง ผมเริ่มชีวิตการทำงานข่าวกับ มติชนรายวัน ในยุคปลายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยเริ่มที่ทำเนียบรัฐบาล ตอนนั้น พล.อ.ชาติชาย กำลังมีปัญหากับทหาร คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกตอนนั้น กับเพื่อนพ้องทหารของ พล.อ.สุจินดา ที่เรียกรวมกันว่า “เตรียม ทบ.รุ่น 5” จน พล.อ.ชาติชาย คิดจะปลด พล.อ.สุจินดา แต่ก็ถูกรัฐประหารด้วยการจี้ตัวบนเครื่องบิน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เสียก่อน
จากรัฐบาลผสมจากการเลือกตั้ง ผมก็ต้องทำข่าวรัฐบาลแต่งตั้งที่มีคณะทหารครอบงำอีกครั้ง โดยนายกฯ คือ คุณอานันท์ ปันยารชุน ต้นตำรับของคำว่า “โปร่งใส” จากนั้นก็ได้เห็นการสืบทอดอำนาจของคณะทหาร จนนำไปสู่การประจันหน้ากลางถนนในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ”
จบพฤษภาทมิฬผมก็ได้เจอรัฐบาล “คนกลาง” ในภาวะพิเศษอีกครั้ง คือ “อานันท์ 2” ที่มาอย่างเหนือความคาดหมายของเซียนการเมือง ทั้งๆ ที่มีการแก้รัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
จากนั้นก็ตามมาด้วยการเลือกตั้งที่ในที่สุด “ชวน หลีกภัย” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสม
ผมอยู่จนรัฐบาลชวนต้องยุบสภา เพราะกรณี สปก.4-01 ซึ่งเกิดจาก คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นสำคัญ จากนั้นก็เว้นวรรคไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษจนจบปริญญาโทด้านนิเทศศาสตร์นานาชาติ จาก City University
กลับมาจากอังกฤษผมก็ได้ไปทำงานที่ บลูมเบิร์ก สำนักข่าวเศรษฐกิจของสหรัฐ ในช่วงปี 2540 เลยได้ทันทำข่าววิกฤติเศรษฐกิจลดค่าเงินบาทอย่างที่เรียกว่านั่งติดขอบเวทีเลย
ต้นปี 2541 ผมออกจากเมืองไทยไปร่วมงานกับวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ที่กรุงลอนดอน อยู่ที่นั่นจนถึงปี 2549 เมื่อบีบีซีสั่งปิดแผนกภาษาไทย รวมแล้ว 8 ปี
บีบีซีปิดผมก็กลับไทย มาบริหารโครงการพัฒนาสื่อไทยของอินเตอร์นิวส์ องค์กรเอกชนสหรัฐ อยู่ 2 ปีเศษ โดยเป็นการสนับสนุนงานของบรรดาสมาคมวิชาชีพในไทย สื่ออิสระ และวิทยุชุมชนทั่วประเทศ
ปีนี้ผมก็เข้าภาวะชีพจรลงเท้า ได้เข้าไปช่วยร่างข้อบังคับจริยธรรมของวิชาชีพให้โทรทัศน์สาธารณะ (ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการใช้เสียที) นอกจากนั้น ก็ทำหน้าที่บรรณาธิการของสำนักข่าวอิศรา บริหารรายการวิทยุของกลุ่มเสียงไทยซึ่งตั้งโดยอดีตคนบีบีซีไทยกลุ่มหนึ่ง จากนั้นก็หันมาเป็นนักข่าวอิสระ
นอกจาการทำข่าวแล้ว ถ้าพอมีเวลาก็ไปอบรมคนรุ่นใหม่ทั้งในวิชาชีพ หรือสอนพิเศษนักศึกษาในเรื่องภาษา หรือเรื่องสื่อต่างๆ ด้วย
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่จะอวดตัวเอง แต่จะปูพื้นว่าผมเป็นคนที่ได้เห็นรอยต่อและพัฒนาการของสื่อไทยในยุคที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์กำลังเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการให้ข้อมูลข่าวสารกับสังคม ตีคู่มากับสื่อหนังสือพิมพ์ จนได้เห็นการเติบใหญ่ของสื่อออนไลน์ตั้งแต่ยุคตั้งไข่จนถึงยุคเริ่มต้นเฟื่องฟู
ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเนื้อหาข่าวนั้น ถ้าข่าวพิมพ์ ผมก็จับตั้งแต่พิมพ์ดีด ซึ่งถ้าพิมพ์ข่าวผิดตัวเดียวแล้วก็ต้องพิมพ์ใหม่ทั้งแผ่น จนสู่การพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ จากการติดต่อสื่อสารระหว่างโรงพิมพ์กับนักข่าวสนามด้วยโทรศัพท์ เพจเจอร์ หรือแฟกซ์ข่าว จนสู่ยุคอีเมล
ส่วนข่าววิทยุประกอบเสียง ผมก็ผ่านการตัดต่อกับเทปจริงๆ ที่ใช้มีดโกนกับเทปกาวในการเชื่อมโยงเนื้อเทปเข้าด้วยกัน แล้วจากนั้นจึงข้ามสู่ยุคตัดต่อเสียงด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
การอัดเสียงนั้นก็เริ่มจากการใช้เทปคาสเซ็ตต์ที่เครื่องอัดให้ได้เสียงสเตอริโอดีๆ ก็ต้องใช้เครื่องที่หนาหนัก จนพัฒนาการสู่เครื่องอัดแบบดิจิตัลที่เล็กบาง แต่เก็บข้อมูลได้ไม่น้อย หรือมากกว่าด้วยซ้ำ
ช่องทางสื่อสารนั้นผมก็เห็นตั้งแต่เป็นแผ่นกระดาษที่ต้องกินเวลาผลิตมาก วิทยุต้องใช้คลื่นสั้น หรือคลื่นยาว จนมาถึงอินเตอร์เน็ต ที่ทะลุทะลวงได้ทุกที่ กลายเป็นยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ แม้แต่ว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกาคนปัจจุบันก็อาศัยอินเตอร์เน็ตหาเสียงจนชนะเลือกตั้งมาแล้ว
เรียกว่า ได้เห็นและประสบภาวะ “สื่อมวลชนภิวัตน์” ในภาควิทยาการกับตัวเองมาตลอด
แต่ถ้าพูดถึงการวิวัฒน์ในเรื่องโครงสร้างการเป็นเจ้าของสื่อ โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์นั้น ก็ต้องบอกได้ว่า การสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นสื่อเสรี เป็นเวทีกระบอกเสียงของประชาชนนั้น ยังไม่เกิดขึ้น
แม้จะมีการยึดไอทีวีมาเป็นทีวีสาธารณะตามที่โฆษณากัน ผมก็ต้องบอกตรงๆ ว่า มันเป็นแค่หน้าฉากเท่านั้น เพราะถ้าเราเจาะเนื้อหาจริงๆ แล้ว ทีวีสาธารณะนั้นกลับกลายเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ของเอ็นจีโอ นักวิชาการ และสื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มคนที่ถูกเหมาเอาว่าอยู่ในเครือข่าย “ระบอบทักษิณ” ทั้งนั้น
ส่วนวงการวิทยุนั้นไม่ต้องพูดถึง การให้สัมปทานคลื่นยังไม่ได้รับการปฏิรูป แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญและการจัดตั้งองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่จะออกมาแล้ว แต่ผลประโยชน์ทั้งทางการเงินและการเมืองของการบริหารคลื่นวิทยุมันมากเกินไปจนการปล่อยมือมันยากนัก
ถ้าว่ากันจริงๆ เจ้าของคลื่นวิทยุในเมืองไทยมีอยู่แค่
- กรมประชาสัมพันธ์
- อสมท.
- กองทัพบก
- กองทัพไทย
- กองทัพเรือ
- กองทัพอากาศ
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- กรมไปรษณีย์โทรเลข
ถ้ายกเว้น อสมท. แล้ว เจ้าของคลื่นที่เหลือต่างนำคลื่นในมือที่มีอยู่จำนวนมากออกประมูลให้เอกชนเช่าช่วงไปทำรายการต่อ ส่วนตัวเองรับค่าประมูล
ดังนั้น คนที่ได้คลื่นวิทยุไปทำจากหน่วยงานเหล่านี้ นอกจากมีเงินแล้วยังต้องมีอำนาจการเมืองหนุนหลังอีกด้วย ซึ่งแน่ล่ะ ก็ต้องเป็นฝ่ายรัฐบาล การจะให้ออกความเห็นต่อว่ารัฐบาลหรือคนที่เป็นเจ้าของทุนในคลื่น แม้จะทำอย่างมีหลักวิชานั้นยากที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งมาตรการสำคัญส่วนใหญ่ที่เจ้าของคลื่นจะทำคือ ถอดรายการนั้นๆ เสีย ด้วยเหตุผลที่สวยหรูว่า ต้องการปรับผังรายการ
ที่พูดมานี้เพราะได้เห็นเหตุการณ์นี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการที่ คุณอุดมศักดิ์ เสาวนะ กับทีมงาน ถูกถอดรายการตอนบ่ายจากคลื่น 105 และล่าสุดคลื่น 105 ก็แจ้งกับผมว่า ขอเปลี่ยนรายการคุยข่าวเสาร์-อาทิตย์ที่จัดอยู่ได้แค่เดือนเดียวออก เพราะต้องปรับผังใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม
นอกจากผมแล้ว ทราบว่าแม้แต่ผู้อาวุโสในวงการอย่าง วิสา คัญทัพ ไพจิตร อักษรณรงค์ อดิศร เพียงเกษ ยังถูกถอดรายการไปในคราวเดียวกันด้วย
ช่างบังเอิญจริงๆ ที่การปรับผังรายการสอดคล้องกับการที่พรรคประชาธิปัตย์จะขึ้นเป็นรัฐบาล และ เนวิน ชิดชอบ เปลี่ยนข้างเข้าเชียร์ ปชป.
เรื่องการเปลี่ยนผังรายการนั้นผมไม่ว่ากัน เพราะเป็นเรื่องของคนทำวิทยุที่ต้องปรับตัวตามผู้ฟังอยู่เสมอ แต่ถ้าทำกันแบบรวดเร็วเอาตัวรอดทางการเมืองไปเรื่อยๆ โดยไม่ใช้วิธีวิทยาศาสตร์ ไม่คำนึงถึงคนจัดที่ล้วนแต่เป็นผู้อาวุโส เป็นศิษย์มีครู บางคนเป็นอาจารย์มีศิษย์มากมาย ก็เท่ากับไม่เคารพผู้จัดเหล่านั้น ไม่เคารพผู้ฟัง
แม้ท่านจะได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ชื่อเสียงของบริษัทและสถานีในระยะยาวน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
อย่าลืมว่ามนุษย์เรานั้น “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” คนที่ท่านเห็นว่าหมดอำนาจวาสนาในตอนนี้ ต่อไปเขาก็อาจจะกลับมาผงาดอีกครั้ง และตอนนั้นเขาคงอยากให้ท่านต่อโคลงของศรีปราชญ์บทนี้ให้จบ