คอลัมน์ : ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
“...ความเป็นองค์กรอิสระของศาลจึงมิได้หมายความเพียงศาลจะกระทำอะไรก็ได้ตามแต่ที่ศาลจะคิดเอาเอง หรือเป็นอย่างอัตวิสัย หากความอิสระนั้นหมายถึงการที่ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้อย่างอิสระ ตามความคิดเห็นที่มั่นใจได้ว่าคือความยุติธรรมภายใต้กฎหมาย...”
ในที่สุด ประเทศไทยก็ได้หวนกลับไปสู่บรรยากาศแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นเมื่อปี 2549 กล่าวคือ เป็นบรรยากาศที่ทุกคนต้องรอผลการดำเนินการของ “ตุลาการภิวัตน์”
เป็นบรรยากาศที่ได้เห็นศาลพิพากษาลงโทษทางอาญากับกรรมการการเลือกตั้ง เป็นบรรยากาศของการเพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และที่สุดคือ การยุบพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล
คราวนั้นดูเสมือนว่าหากใช้กลไก “ตุลาการภิวัตน์” แล้วจะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และสามารถจะเดินหน้าต่อไปได้
แต่ทว่าคราวนั้น สถาบันตุลาการต้องกระทบกระเทือนอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง เพราะดูเสมือนว่าสถาบันตุลาการได้ถูกกับดักในเชิงการเมือง ประชาชนแยกไม่ออกระหว่างสภาวะการเป็นอำนาจที่เข้าไปตรวจสอบฝ่ายบริหารในรัฐบาล กับการกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในทางการเมือง
ในห้วงเวลานั้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝ่ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วมในปีกที่ต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ดำเนินการชักนำและผลักดันให้เกิดวิธีคิดว่า ทุกๆ อำนาจจะต้องเข้ามาร่วมกันทัดทานและต่อต้านระบอบทักษิณ เพราะระบอบนี้ได้ซื้อและยึดครองกลไกต่างๆ ไว้หมดสิ้น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความหวั่นไหวไปกับอิทธิพลทางการเมืองและกระแสสังคมได้บังเกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่สถาบันตุลาการ ซึ่งเมื่อพิจารณาความเป็นจริงแล้ว ก็นับว่าเป็นจริงที่ต้องยอมรับ เพราะเมื่อกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องเข้ามาเล่นบทบาทใหม่ที่เกี่ยวข้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งดูเหมือนว่าสิ่งที่กล่าวมานี้มิได้เป็นความคุ้นชินของกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อนเลย
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงเกิดขึ้นว่า สถาบันตุลาการที่ไม่เชี่ยวชาญในประสบการณ์ของการเข้าไปสะสางปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดูเสมือนว่าจะมิได้คำนึงถึงอำนาจขององค์กรอิสระ และอำนาจสิทธิทางการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ด้วยวิธีคิดที่มิได้คำนึงถึงสองส่วนดังกล่าวแล้ว จึงเกิดคำถามว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า การจัดการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และได้มีการเพิกถอนการเลือกตั้ง แล้วให้องค์กรที่เกี่ยวข้องยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่นั้น กระบวนการตุลาการภิวัตน์ได้สั่งการที่หมิ่นเหม่หรือไม่ในการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ และเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้ออกกฎหมายเสียเอง ในการสั่งยกเลิกและให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้ง คำถามมีถึงขนาด อำนาจตุลาการได้เข้าไปยึดอำนาจนิติบัญญัติที่มีรากฐานรองรับจากตัวแทนของประชาชนหรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่และยังคงค้างอยู่ในใจของประชาชนจำนวนไม่น้อย
และนั่นคือบรรยากาศที่เกิดขึ้นในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และในวันนี้บรรยากาศดังกล่าวก็ได้หวนกลับคืนมาอีกครั้ง เพราะดูเหมือนว่าสถานการณ์ในวันนี้ก็ดูไม่แตกต่างจากวันนั้น และแท้จริงแล้วความรุนแรงกลับมีมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ หลายฝ่ายจึงมีการเรียกร้องให้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ได้เข้ามาทำหน้าที่ “อัศวินขี่ม้าขาว” อีกครั้ง โดยความคาดหวังว่า หากกระบวนการนี้ได้ขับเคลื่อนเดินหน้าแล้ว ปัญหาทุกอย่าง สถานการณ์ที่เลวร้ายมานาน จะยุติและสงบลง และทำให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความเรียบร้อย และสามารถเดินหน้าต่อไปดังเดิม
ความคิดดังกล่าวฟังดูง่าย แต่คำถามก็คือ ที่ว่าง่ายนั้นง่ายจริงหรือไม่ เพราะจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าภาคประชาชนเองได้เรียนรู้อะไรมากมาย ซึ่งกระบวนการตุลาการภิวัตน์คงจะเข้าใจและตระหนักดีว่า การใช้วิธีตุลาการภิวัตน์ในคราวนี้ จะต้องมีความรอบคอบเที่ยงธรรมและรัดกุมอย่างยิ่งยวด เพราะคราวนี้การจะเข้าไปคลี่คลายวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งจะมีนัยสำคัญ ที่ไม่ได้อยู่เพียงว่าจะเข้าไปสวมบทบาทในฐานะอัศวินม้าขาวเท่านั้น หากในคราวนี้บทบาทของตุลาการภิวัตน์จะต้องถูกจับจ้อง และเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดจริงจังจากประชาชนผู้เห็นว่าตนคือผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ดังนั้น ในคราวนี้ความเป็นองค์กรอิสระของศาลจึงมิได้หมายความเพียงศาลจะกระทำอะไรก็ได้ตามแต่ที่ศาลจะคิดเอาเอง หรือเป็นอย่างอัตวิสัย หากความอิสระนั้นหมายถึงการที่ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้อย่างอิสระ ตามความคิดเห็นที่มั่นใจได้ว่าคือความยุติธรรมภายใต้กฎหมาย