WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, November 18, 2008

สังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร

โดย ศรีพงศ์ อุดมครบ pong214_hotmail.com



ผู้เขียนพยายามตั้งโจทย์เพื่อจะตอบคำถามในใจว่า สังคมไทยที่กำลังเกิดความขัดแย้งในสังคมการเมืองอย่างรุนแรงเช่นทุกวันนี้จะเปลี่ยนผ่านไปในรูปลักษณ์ใด จะสามารถคลี่คลายบาดแผลจากความขัดแย้งภายในใจของคนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างไร

หรือมันจะฝังรากลึกไปจนถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานเหมือนที่หลายๆ คนกำลังวิตกกังวล

เมื่อลองสำรวจความคิดเห็นเบื้องต้นของท่านผู้รู้ที่สนใจปัญหาบ้านเมืองจำนวนหนึ่งพบว่ามีความพยายามนำเสนอและหาทางออกในหลายๆ ประเด็น แต่สุดท้ายมักจะติดอยู่เพียงการตั้งแง่กับการเคลื่อนไหวของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมากเกินไป

เช่น มองว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ล้าหลังไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายซับซ้อนของสังคมปัจจุบัน หรือนำเสนอการลัทธิการเมืองที่ย้อนยุค ล้าหลัง คลั่งชาติ และแม้กระทั่งกล่าวหาว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องหาการรัฐประหาร เป็นต้น

ซึ่งในข้อเขียนนี้ไม่มีวัตถุประสงค์จะวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้

สำหรับผู้เขียนอยากจะเสนอว่า หากเราลองวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบการเคลื่อนไหวที่ทับซ้อนของขบวนการพันธมิตรออกมาระหว่าง 1) วิธีการของแกนนำ (ที่มีหลากหลายและพลิกแพลงตามสถานการณ์ รวมทั้งการพึ่งพิงพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ต่างๆ จนมักจะถูกโจมตีจากหลายฝ่ายในแง่ลบ) และ 2) เจตนารมณ์หรืออารมณ์ร่วมของมวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว (ทั้งที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวโดยตรงและเข้าร่วมทางอ้อม) เราจะมองเห็นคุณูปการจากขบวนการพันธมิตรหลายประการ

แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนประชาชนที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากการครอบงำของผู้ใช้อำนาจรัฐที่พวกเขาเชื่อว่าไม่บริสุทธิ์โปร่งใส ซึ่งนักมานุษยวิทยาบางท่านเรียกว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะ "ช่วงสนธยา" (Liminality) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อความขัดแย้งในสังคมทวีความรุนแรงจนถึงจุดวิกฤต ทำให้มวลชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวหลอมรวมความรู้สึกร่วมกันจนเกิดเป็นอารมณ์ร่วมที่จะปลดปล่อยตนเองจากภาวะที่ไม่น่าปรารถนาไปสู่สภาวะใหม่

การเกิดขึ้นของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น นปก.-นปช.-กลุ่มคนรักษ์ทักษิณฯ ล้วนแล้วแต่เป็นปฏิกิริยาของการเคลื่อนไหวเข้าร่วมทางอ้อมทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีรูปธรรมอีกจำนวนมากที่ปรากฏชัดเจนขึ้นอย่างแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นการกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้และท้าทายอำนาจของกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบที่เคยครอบงำพวกเขามาอย่างยาวนาน

หรือการลุกขึ้นทวงถามต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบรรดานักการเมืองของกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่ได้รับความเหลียวแลจากคนที่พวกเขาเคยฝากความหวังไว้ เช่น การชุมนุมประท้วงปิดถนนเพื่อทวงถามนโยบายประกันราคาพืชผลทางการเกษตร หรือการต่อต้านคัดค้านโครงการของรัฐและเอกชนที่ทำไปโดยไม่เห็นหัวชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงเลย เป็นต้น

หลายคนอาจบอกว่าการเรียกร้องเหล่านี้ก็มีมานานแล้ว ใช่ว่าพึ่งจะเกิดหลังจากมีขบวนการพันธมิตร แต่หากย้อนไปทบทวนการเคลื่อนไหวทั้งทางปริมาณและคุณภาพแล้วจะพบว่ามีหลายสิ่งเปลี่ยนไปในเชิงมีนัยยะสำคัญกับการเคลื่อนไหวของขบวนการพันธมิตร (นับจากการเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี 2549)

อีกประการหนึ่งคือสังคมการเมือง (The Political) ของไทยถูกจับเขย่าให้แตกรูปแตกร่างมากมายเกินกว่าเพียงแค่คู่ขัดแย้งเดิมๆ เช่น รัฐ-ประชาชน/พันธมิตร-นปก. เท่านั้น แต่สังคมการเมืองในวันนี้ได้ก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมที่แพร่ขยายกินความไปถึงเรื่องราวการใช้ชีวิตประจำวันของคนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ที่เริ่มตั้งคำถามกับคนรอบตัว ไปถึงเด็กวัยรุ่นที่เลือกปฏิเสธการยัดเหยียดระบบคุณค่าแบบเดิมๆ จนถึงกลุ่มแม่บ้านที่เลือกจะดูละครน้ำเน่ามากกว่าจะดูข่าวการเมือง (ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังต้องขยายความอีกมากกว่านี้ในโอกาสต่อไป)

แต่ชี้ชัดตรงประเด็นเลยก็คือ ข้อสรุปที่ว่ามาถึงวันนี้ผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่อาจจะทำอะไรตามอำเภอใจโดยไม่สนใจต่อความรู้สึกของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตัวจริงได้อีกต่อไป

จากการที่ได้เข้าไปสัมผัสกับมวลชนทั้งของกลุ่มพันธมิตร และ นปก. ต้องบอกว่าเราไม่สามารถประณามความเชื่อกลุ่มใดได้เลย เพราะต่างก็ชอบธรรมและมีเหตุผลทั้งสิ้น

(คนบางส่วนมองว่ามวลชน นปก.ถูกเงินซื้อมา โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความคิด ความเชื่อ และความศรัทธาในใจของคนเหล่านี้ ซึ่งอาจทำให้ประเมินและเข้าใจพวกเขาได้ไม่รอบด้านพอ)

แต่คุณูปการของขบวนการพันธมิตร คือทำให้เวทีทางการเมืองได้เปิดกว้างขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่

สุดท้ายคือเราคงไม่ต้องไปวิตกกังวลใจกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่าจะฝังรากร้าวลึกไปจนถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะที่สุดแล้วสังคมไทยก็มีกลไกทางสังคม-วัฒนธรรมที่จะสลายความขัดแย้งไปได้ในที่สุด

อย่าลืมว่าความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกสังคม และทุกที่ก็ผ่านพ้นมันไปได้เสมอ อาจมีราคาที่ต้องเสียไปเพื่อการนี้บ้าง

แต่นั่นก็เป็นหน้าที่ของเราคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์เพื่อให้เดินไปบนหนทางที่สูญเสียน้อยที่สุด