คอลัมน์ : คิดในมุมกลับ
ช่วงนี้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับไหนเป็นต้องได้เจอบทค่อนแคะแกะเกาอาการบ้ามนต์ดำของ “ศาสดาลิ้ม” ไม่มากก็น้อย จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตาสว่างไม่มีอะไรมากกว่า “6 โกเต๊กซ์” และ “1 ขันน้ำมนต์”
มองย้อนกลับอีกมุม ก็ทั้งตลกและน่าสมเพช เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาสดาลิ้มออกอาการแปลกๆ ไม่น่าไว้วางใจ ท่าทีรวมถึงจุดยืนทางการเมืองหลายครั้งก็สะท้อนออกมาทั้งทางตรงทางอ้อม ทั้งสิ่งที่พี่แกปราศรัย ทั้งคนที่เลือกไปปฏิสัมพันธ์ แต่คนไทยหลายคนกลับมองไม่เห็น หรือเห็นก็ไม่คิดจะใช้สมองตรองดูด้วยปัญญาว่าอะไรบ้าอะไรดี
นี่ถ้าโกตั๊บแกไม่หลงตัวจนก้าวพลาดไปเอง ก็คงยังมีหนังสือพิมพ์เขียนเชียร์ทั้งทางตรงทางอ้อมอยู่เหมือนเดิม นึกแล้วเวทนา
จนบางทีก็อดนึกไม่ได้ว่า สภาพบ้านเมืองเรานี้ช่างขึ้นอยู่กับปลายปากกาผู้ที่เรียกตัวเองว่า “สื่อมวลชน” เสียเหลือเกิน แล้วแต่ว่าเขาจะพิพากษาชี้ถูกชี้ผิดให้ไปทางไหนก็ได้ ถ้าสื่อมีความหลากหลาย มีทางเลือกให้ผู้อ่านก็ดีไป แต่ที่ผ่านมาก็เห็นอยู่ว่าสื่อส่วนใหญ่เลือกเกาะกลุ่มกันไป แม้แต่เรื่องหลักการง่ายๆ อย่างหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ก็เลือกจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หาความหวังอะไรไม่ได้เลย
สื่อใหม่จำพวกอินเตอร์เน็ตหรือสื่อทางเลือกเวลานั้น จึงฮอตฮิตขึ้นมาได้ระยะหนึ่ง เพราะคนสิ้นหวังในสื่อกระแสหลักกันเกือบหมด
แม้แต่หลังเลือกตั้ง “เสียงข้างมาก” ก็ยังถูกสื่อบางส่วนทำให้ไร้ค่ากลายเป็นแค่พลเมืองผีที่เห็นแก่ของเซ่นไหว้เป็นครั้งคราว ทั้งที่สื่อเหล่านั้นก็ชอบถ่มถุยคำว่า “ประชาชน” แต่กลับทำให้คนเสื้อแดงที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมีค่าเท่ากับโจรปล้นชัยในนาม พันมะมิด เสียอย่างนั้น
ถ้าพันทะมิดไม่หันไปกัดมันเอง ก็คงไม่รู้สึกเจ็บจนต้องเปลี่ยนมาเป็นป้องกันตัวและตำหนิติเตียนพันทะมิดอย่างที่เราเห็นๆ กันหรอก
นี่คือความน่าเจ็บใจที่คนไทยต้องทนรับกับน้ำหน้าผู้ที่เรียกตัวเองว่าสื่อ...
ปัจจัยเจริญหรือล่มจมของระบอบประชาธิปไตยประเทศนี้ มันก็วัดกันได้ที่ “สำนึก” ประชาธิปไตยของสื่อส่วนมากนั่นแหละ